ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อังกฤษใต้นายกฯ เชื้อสายอินเดียสู่อนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดอังกฤษก็มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบอบการปกครองที่มีเสถียรภาพอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะอังกฤษเพิ่งเผชิญการสวรรคตของกษัตริย์ที่ครองราชย์นานเกือบ 71 ปี และการลาออกของนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน

ไม่ว่าจะในอังกฤษหรือในสังคมไหน การเปลี่ยนแปลงทั้งระดับประมุขของรัฐและผู้นำของประเทศในเวลาไล่เลี่ยแบบนี้คือการ “เปลี่ยนแผ่นดิน” ที่มีโอกาสจะเกิดช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ที่นำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายได้ทั้งนั้น

แต่อังกฤษกลับเผชิญกับการ “เปลี่ยนผ่าน” อย่างสงบและมีวุฒิภาวะอย่างดี

ขณะที่ประเทศไทยเผชิญการ “เปลี่ยนผ่าน” โดยใช้ทหารรัฐประหารเพื่อคุมประเทศภายใต้กลุ่มนายพลชราวัยใกล้อัสดง 3 คน

อังกฤษ “เปลี่ยนผ่าน” ด้วยการมีนายกฯ คนใหม่ที่ไม่ใช่ “ฝรั่ง” ซ้ำยังเป็นคนที่เรียกแบบไทยๆ คือเป็น “แขก” เพราะพ่อแม่เป็นคนอินเดียซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษเกือบ 100 ปี

 

นอกจากอังกฤษจะ “เปลี่ยนผ่าน” ด้วยผู้นำประเทศซึ่งมีภูมิหลังที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในไทย นายกฯ อังกฤษคนใหม่ยังเป็นคนหนุ่มที่เกิดปี 2523, มีอายุแค่ 42 ปี และเพิ่งชนะเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแค่ 3 สมัยในปี 2558, 2560 และ 2562 หรือพูดตรงๆ คือเป็นนายกฯ หลังจากเข้าสภามาแค่ 7 ปี

ไม่เพียงแต่นายกฯ อังกฤษคนใหม่จะเป็นคนหนุ่มที่คนไทยตกยุคบางกลุ่มอาจเรียกว่า “แขก” นายกฯ คนใหม่ยังเป็นคนอินเดียที่เคร่งศาสนาฮินดู, เข้าพิธีสาบานตนโดยถือคัมภีร์ภควัทคีตาตามนิกายไวษณพ รวมทั้งโพสต์คลิปบูชาวัวในวันประสูติของพระกฤษณะที่เรียกว่าวัน “กฤษณชนมาษฏมี”

ตรงข้ามกับความเชื่อของคนไทยบางกลุ่มว่าแก่นของความเป็นอังกฤษคือ “ประเทศผู้ดี” จนคนจำนวนมากเชื่อต่อไปว่าการไปเรียนต่อที่อังกฤษคือบันไดสู่ความเป็นคนพิเศษทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจพูดได้ว่าการมีนายกฯ แบบนี้ชี้ว่าอัตลักษณ์ของอังกฤษคือความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

เป็นเรื่องบังเอิญจนไม่น่าเชื่อที่อังกฤษได้นายกฯ แบบนี้ในปีที่อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษครบ 75 ปี

การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนว่าสังคมอังกฤษที่เคยยึดติดกับการแบ่งแยกทางชนชั้นและเชื้อชาติกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่โดยชาติกำเนิด, ศาสนา และเชื้อชาติไม่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านเลย

นายกฯ อังกฤษมีภูมิหลังทางเชื้อชาติ, ศาสนา และวัฒนธรรมที่แตกต่างสิ้นเชิงจาก “ความเป็นอังกฤษ” แบบที่คนไทยเข้าใจ แต่ความแตกต่างที่เชื่อมต่อกับสังคมอังกฤษ 3 ชั่วคนจนได้นายกฯ ที่ปู่และตาเป็นคนอินเดียที่ทำงานให้อังกฤษยุคล่าเมืองขึ้นก็เป็นภาพสะท้อนความเป็นสังคมเปิดที่น่าอัศจรรย์

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อ่านเคลิ้มกับความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษจนเกินจริง ต้องระบุว่านายกฯ อังกฤษคนใหม่ไม่ได้เกิดในอินเดียจนเป็น “ชาวอินเดีย” อย่างที่สื่อพูดกัน แต่เป็นคนอินเดียที่พ่อแม่อพยพมาตั้งรกรากในอังกฤษ และปู่กับตาก็เป็นคนอินเดียที่ไปอยู่แอฟริกาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ด้วยซ้ำไป

ด้วยภูมิหลังที่มีคนอินเดียตั้งรกรากในอังกฤษมาแล้วเกือบร้อยปีตั้งแต่สมัยอินเดียยังไม่ประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 2490 อังกฤษและเวลส์คือประเทศที่มีชุมชนคนอินเดียอยู่รวมกันถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งเท่ากับเป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากคนอังกฤษผิวขาว (White Britons)

ในแง่นี้ ความเป็นอินเดียในสังคมอังกฤษต่างจากความเป็นอินเดียในสังคมไทย และถึงแม้อังกฤษจะมีการเหยียดเชื้อชาติคนอินเดียเช่นเดียวกับคนชาติพันธุ์อื่น จำนวนประชากรอินเดียและระยะเวลาที่คนกลุ่มนี้อยู่ในอังกฤษ 3 ชั่วคนก็ทำให้เกิดการโอบรับทางวัฒนธรรมและการยอมรับทางการเมือง

ก่อนที่อังกฤษจะมีนายกฯ เชื้อสายอินเดีย คนลอนดอนเพิ่งเลือกตั้งนายกเทศมนตรีจากคนมุสลิมเชื้อสายปากีสถานเป็นสมัยที่สอง, คนลอนดอนเป็นฝรั่งผิวขาวแค่ 44.9% จนคนขาวเป็นคนส่วนน้อยในเมืองหลวงของประเทศตั้งแต่ปี 2557 และคนลอนดอนร้อยละ 37 ไม่ได้เกิดในอังกฤษต่อไป

พูดให้เห็นภาพขึ้น นายกฯ อังกฤษเป็นคนชุมชนอินเดียพลัดถิ่น (Diaspora) ที่เชื่อมต่อกับสังคมอังกฤษเป็นรุ่นที่ 3, เป็นคนอินเดียที่บรรพบุรุษทำงานให้อังกฤษยึดครองเมืองขึ้น, เป็นคนอินเดียที่รวยจนส่งลูกเข้าโรงเรียนประจำแถวหน้า, เรียนปริญญาตรีที่ออกซ์ฟอร์ด และเรียนโท MBA ที่สแตนฟอร์ด

มองในภาพกว้างขึ้น นายกฯ อังกฤษคนใหม่คือครอบครัวชนชั้นกลางอินเดียที่ได้ประโยชน์จากการที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นจนไปทำงานที่แอฟริกาให้อังกฤษในทศวรรษ 1930 จากนั้นจึงอพยพครอบครัวมาตั้งรกรากที่อังกฤษเพื่อยกระดับสถานะทางสังคมในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการมีนายกฯ ที่ภูมิหลังแบบนี้สะท้อนว่าอังกฤษเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม แต่ก็ต้องระบุด้วยว่าความหลากหลายที่สังคมอังกฤษยอมรับมาพร้อมกับความเป็นลูกหลานคนรวยในกลุ่มฮินดูอินเดียจนเป็น “คนชั้นสูง” เหนือฝรั่งและคนอินเดียด้วยกัน

นายกฯ อังกฤษมีเชื้อสายอินเดีย แต่การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ไม่เกี่ยวกับความเป็นคนอินเดีย เพราะเป็นผลจากความสำเร็จของชุมชนอินเดียพลัดถิ่นที่ออกจากประเทศไปเกือบ 100 ปีแล้ว รวมทั้งเป็นผลจากการไปตั้งรกรากในประเทศที่โอบรับความแตกต่างจนเปิดโอกาสให้เกิดการไต่เต้าทางสังคม

แม้อังกฤษจะเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจนสูงอันดับต้นของโลก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่คุ้นเคยกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากจนถึงจุดที่สามารถยอมรับว่า “แกงกะหรี่ไก่” ของอินเดียคืออาหารหลักประจำชาติของอังกฤษในปัจจุบัน

สังคมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายคือสังคมที่ประชาชนมีโอกาสเลื่อนสถานะสูงกว่าสังคมซึ่งปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายแน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประชาชนคนนั้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะมั่งคั่ง หรือจบการศึกษาจากสถาบันของชนชั้นสูงในสังคม

 

เป็นที่รับทราบกันโดยเปิดเผยว่านายกฯ อังกฤษคนใหม่คือหนึ่งใน ส.ส.ที่รวยที่สุดในสภา ซ้ำภรรยาชาวอินเดียก็มาจากตระกูลนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มั่งคั่งแถวหน้าในโลก ผลก็คือแม้กระทั่งตัวนายกฯ คนใหม่เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่มีเพื่อนที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพหรือผู้ใช้แรงงานเลย

แม้สีผิว, ภูมิหลังของครอบครัว, เชื้อชาติ และศาสนาจะทำให้นายกฯ อังกฤษคนใหม่ต่างจากอดีตนายกทุกคน แต่ชนชั้นทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมทำให้นายกฯ อังกฤษคนนี้ไม่ต่างจากอดีตนายกฯ คนอื่นแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความเอียงขวาทางการเมืองหรืออภิสิทธิ์ในสังคม

มีการเปรียบเทียบว่าอังกฤษมีนายกฯ เชื้อสายอินเดียเหมือนสหรัฐเคยมีคนดำแบบโอบามาเป็นประมุข แต่คนอังกฤษเชื้อสายอินเดียได้เป็นนายกฯ เพราะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนโอบามามีประชาชนเลือก ยิ่งกว่านั้นคือนายกฯ อังกฤษไม่เคยพูดถึงความอยุติธรรมต่อคนอินเดียเหมือนโอบามาพูดเรื่องคนดำ

อังกฤษเป็นตัวอย่างของสังคมที่ประสบความสำเร็จในการนิยามความเป็นชาติและความเป็นอังกฤษให้ไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องสีผิวหรือศาสนาอีกต่อไป ชาติในกรณีนี้คือเพื่อนร่วมชาติที่อาจไม่ใช่ฝรั่งและไม่นับถือคริสต์ศาสนาเลยก็ได้

ขอให้เกิดในอังกฤษหรือเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักรก็เพียงพอ

อังกฤษเข้าสู่สังคมช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยวิธีที่ต่างกับประเทศไทย เพราะขณะที่ไทยปกป้องสถาบันหลักช่วงเปลี่ยนผ่านโดยวางแผนให้ทหารและองค์การกระบวนการยุติธรรมควบคุมประเทศ รวมทั้งกวาดล้างคนที่เห็นแตกต่างจนนำไปสู่การลี้ภัยอย่างกว้างขวาง อังกฤษกลับใช้ประชาธิปไตยโอบรับทุกฝ่ายด้วยกัน

ด้วยวิธีที่ไทยปกครองประเทศช่วงเปลี่ยนผ่านโดยวิธีรวบอำนาจการเมืองและการบริหารทั้งหมดให้รวมศูนย์ที่คนเครือข่ายเดียวกัน ประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่านจึงอยู่ภายใต้นายกฯ และรัฐบาลย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซ้ำยังอาจเป็นรัฐบาลที่ประชาชนให้ความยอมรับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐบาลมา

แปดปีที่คุณประยุทธ์มีอำนาจโดยอ้างเรื่องเปลี่ยนผ่านประเทศคือ 8 ปีที่การเปลี่ยนผ่านกลายเป็นการกินรวบประเทศที่นำประเทศสู่ความล้มเหลวอย่างไม่มีสัญญาณของอนาคตที่ดีขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครจากก๊วนนายพลเป็นก๊วนนายพลรวมหัวกับนักการเมืองน้ำเน่าเท่านั้นเอง

ไม่มีสังคมไหนเจริญจากการปล่อยทหารไม่ดีกับนักการเมืองเฮงซวยรวมหัวกอบโกยผลประโยชน์ตามใจชอบอย่างประเทศไทยหลังปี 2557 ทางออกของประเทศคือการสร้างสังคมเปิดที่โอบรับคนเก่งจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างประเทศที่ดีในอนาคตร่วมกัน