‘โซลอาฟเตอร์ซิกส์-โมเดิร์นด็อก’ ในยุคหลังโควิด | คนมองหนัง

คนมองหนัง

‘โซลอาฟเตอร์ซิกส์-โมเดิร์นด็อก’ ในยุคหลังโควิด

 

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 22-23 ตุลาคม 2565 มีโอกาสไปชมการแสดงดนตรีสดสองงานติดต่อกัน โดยสองวงดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกันที่ต่างมีเอกลักษณ์แนวทางเป็นตนเองอย่างชัดเจน นั่นก็คือ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” และ “โมเดิร์นด็อก”

งานแสดงดนตรีทั้งคู่ ถือเป็นสองในอีกหลายหลายอีเวนต์ความบันเทิงที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ ภายหลังการสิ้นสุดลงของข้อบังคับควบคุมเรื่องมาตรการป้องกันโควิด (เหลืออยู่เพียง “การสวมใส่หน้ากาก” ที่กลายเป็นพฤติกรรมติดตัว-วิถีชีวิตใหม่ของคนไทยจำนวนมากไปแล้ว)

การแสดงสดของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” และคอนเสิร์ตอะคูสติกของ “โมเดิร์นด็อก” สามารถสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ที่น่าสนใจ-น่าประทับใจให้แก่ผู้ชมอยู่ไม่น้อย

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

“In the Studio with Soul After Six” คือ การแสดงดนตรีสดครั้งแรกในรอบสามปี ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของวง “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” (พวกเขามีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งล่าสุดชื่อ “ความทรงจำของก้อนหิน” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 และมีโชว์เล็กๆ ถัดจากนั้นอีกเล็กน้อย)

เอาเข้าจริง “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ไม่ใช่วงดนตรีที่มีโชว์เยอะแยะอยู่แล้ว เช่นเดียวกับผลงานอัลบั้มของพวกเขาซึ่งมีรวมกันแค่สามชุด (บวกด้วยห้าเพลงใหม่ในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษหลัง) ทว่า พวกเขาก็ไม่เคยต้องเว้นวรรคการแสดงสดไปอย่างยาวนานขนาดนี้

และเมื่อกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้ง บรรยากาศ-พื้นที่การจัดแสดงก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ

วันที่ 22 ตุลาคม “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ไปเปิดการแสดงที่ “เซิร์ช สตูดิโอ” ย่านรามคำแหง ซึ่งนำเสนอตัวเองในฐานะ “ไลฟ์เฮาส์” สำหรับคอดนตรี

(การจัดการแสดงดนตรีใน “ไลฟ์เฮาส์” เป็นวัฒนธรรมที่เริ่มมีตัวตนชัดเจนและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา ซึ่งดูจะมีความเหมาะสมกับศิลปินที่มีกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะแต่เหนียวแน่น ศิลปินที่ไม่ได้มีศักยภาพจะทำคอนเสิร์ตใหญ่ได้แบบปีชนปี ขณะเดียวกัน บรรดาแฟนเพลงขาประจำก็มิได้ต้องการซึมซับบทเพลงที่พวกตนชื่นชอบท่ามกลางแรงยั่วเย้าอื่นๆ ในผับบาร์)

นี่นำมาสู่การจัดโชว์ที่รองรับผู้ชมราว 250 คน (เสียค่าเข้าชมรายละ 2,000 บาท) โดยเปิดจำหน่ายบัตรล่วงหน้าเป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์

ที่สร้างความสุขให้คนเล่นและความพึงพอใจให้คนดูเป็นอย่างดี

“โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ขนเพลงเด่นๆ ของตัวเองมาแสดงสดอย่างครบถ้วน ด้วยสเกลของวงดนตรีในแบบที่ออกโชว์ ไม่ใช่ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ (มีการลดทอนมือแซ็กโซโฟนและมือคีย์บอร์ดลงตำแหน่งละ 1 คน) แต่ประสิทธิภาพถือว่าใกล้เคียงกับผลงานบันทึกเสียง

คุณภาพของระบบเสียงนับว่าดีกว่าโชว์ตามร้านอาหารและสถานบันเทิงยามค่ำคืน รวมถึงเทศกาลดนตรีต่างๆ แต่ยังไม่เทียบเท่า “คอนเสิร์ตฮอลล์ดีๆ” (ซึ่งจริงๆ เมืองไทยก็มีอยู่ไม่มากนัก)

ตอน “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” เริ่มต้นเล่นเพลงแรกๆ ความรู้สึกแว้บแรกของผม ก็คือ เสียงดนตรี โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเป่า อันเป็นจุดเด่นของวง มีความแน่นหนาเกินคาดคิด

แต่พอฟังไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่าเสียงร้องของ “วิศรุตเทพ (ปิงปอง) – ณรงค์ฤทธิ์ (ปึ่ง) สุพรรณเภสัช” (รวมถึงเสียงของ “บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์” มือเบสที่ได้ร้องนำอยู่หนึ่งเพลง) นั้นถูกเสียงดนตรีดังกลบอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม “In the Studio with Soul After Six” ถือเป็นการแสดงสดที่คงทำให้คนวัย 40-50 ปีจำนวนหนึ่ง (ร่วมด้วยคนรุ่นใหม่บางส่วน) ได้หายคิดถึงวงดนตรีวงโปรด

และทำให้เรามองเห็นโอกาสที่ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” จะกลับมาขึ้นเวทีแสดงสดได้บ่อยๆ ด้วยขนาดงานประมาณนี้ จำนวนคนดูราวๆ นี้ และคุณภาพโดยรวมทำนองนี้ (หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก) อย่างน้อยๆ 2-3 ครั้งต่อปี

“The Very Normal of Moderndog” เป็นคอนเสิร์ตใหญ่แนวอะคูสติกครั้งที่สองของวง “โมเดิร์นด็อก” หลังจากพวกเขาเคยจัดคอนเสิร์ตแนวนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อตอนปลายปี 2545 หรือเกือบสองทศวรรษก่อน ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อว่า “The Very Common of Moderndog”

แต่การแพร่ระบาดของโควิดก็ส่งผลให้ “The Very Normal of Moderndog” ต้องเลื่อนการแสดงออกไปหลายหนหลายปี จนมาลงตัวเอาในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565

การแสดงถูกจัดแบ่งออกเป็นสี่รอบ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ย่านสยามสแควร์ โดยผมตีตั๋วเข้าไปชมการแสดงในรอบที่สอง เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม

นี่เป็นอีกคราว ที่โมเดิร์นด็อกทำคอนเสิร์ตออกมาได้อย่างอิ่มเอม พวกเขาเลือกเล่นหลายๆ เพลง ที่ไม่ค่อยถูกนำมาแสดงสด เช่น “คล้าย” เพลงเพราะๆ เนื้อหาคมคายจากอีพี “รูปไม่หล่อ”

รวมถึงมีเพลงดีๆ ที่พวกเขาเพิ่งนำมาแสดงสดเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ตนี้ คือ “ดอกไม้บาน” เพลงที่มีเมโลดี้ไพเราะติดหูและเท่มากๆ จากอัลบั้มชุดหลังสุด “ป๊อด/โป้ง/เมธี” เมื่อปี 2559

ยิ่งกว่านั้น “โมเดิร์นด็อก” ยังแสดงความใจเด็ดด้วยการไม่ยอมเล่นเพลง “ก่อน” เพลงฮิตระดับสามัญประจำบ้านของตนเอง (แม้แฟนๆ ในคอนเสิร์ตรอบที่สองจะร่วมกันร้องเพลงนี้อ้อนวอนต่อหน้าพวกเขา แต่ทางวงก็ตอบแทนกลับด้วยการเล่นเพลง “ขอ” และ “หมดเวลา” ก่อนปิดฉากโชว์อย่างหาญกล้า)

ในแง่ภาพรวม นี่คือคอนเสิร์ตอะคูสติกที่มีระบบเสียงดีมาก (หลายๆ ช่วง เหมือนเรากำลังรับฟังเพลงร็อกเต็มรูปแบบอยู่ด้วยซ้ำ) ซึ่งช่วยขับเน้นพลังในการร้องเพลงของ “ป๊อด-ธนชัย อุชชิน” ทักษะในการเล่นดนตรีของ “เมธี น้อยจินดา” และ “โป้ง-ปวิน สุวรรณชีพ” ตลอดจนนักดนตรีสนับสนุนในตำแหน่งเบส เปียโน และทีมเครื่องสายสี่คน

ขณะเดียวกัน งานออกแบบเวทีและจัดวางแสงสีก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ที่ทั้งงดงามและน่าจดจำ

 

“โมเดิร์นด็อก” นับเป็นแบบอย่างของวงดนตรีที่รวมตัวกันมาอย่างยาวนาน ด้วยสามสมาชิกหลักชุดดั้งเดิม จากวัยมหาวิทยาลัย สู่วัยขึ้นต้นด้วยเลข 5 โดยไม่มีข่าวคราวความขัดแย้ง ดราม่า ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ปรากฏตามสื่อ แถมทั้งหมดยังมีวินัยในการแสดงสด ร้อง-เล่นแรงดีไม่มีตก (ไม่มีมึนเมา) ได้อย่างยอดเยี่ยม

ณ ปัจจุบัน “โมเดิร์นด็อก” มิได้มีสถานะเป็น “ร็อกสตาร์” (ซึ่งหลายคนเคยทำนายว่าพวกเขาจะเป็น ตอนเริ่มเปิดตัวอัลบั้มชุดแรกในปี 2537) พวกเขาไม่ใช่ศิลปินแนวอาร์ตตัวพ่อ ไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพลแห่งแวดวงใดๆ และไม่ใช่คนทันสมัยที่นำเทรนด์กำหนดกระแสได้อยู่ตลอดเวลา

แต่ “โมเดิร์นด็อก” เป็นเพียงแค่ผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านดนตรี ที่มีความมั่นคง สม่ำเสมอ ในแนวทาง ความเชื่อ และวัตรปฏิบัติของตนเอง อย่างน่านับถือ

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่แม้ในปี 2565 แฟนเพลงของวงดนตรีวงนี้จะไม่ได้เป็นมวลชนอันกว้างขวางใหญ่โตเหมือนเมื่อ 28 ปีก่อน แต่ก็ยังมีแฟนเพลงขาประจำเหนียวแน่นที่รัก-เชื่อมั่นในตัวพวกเขาอยู่เสมอ

และพร้อมจะรอคอยเฝ้าชมคอนเสิร์ตของ “โมเดิร์นด็อก” ไม่ว่าจะต้องโดนเลื่อนมากี่หนก็ตาม •

 

คนมองหนัง