‘ลูเซียง ฟูร์เนอโร’ ศิลปิน-นักโบราณคดี ผู้พิชิต ‘เขาพระศรี’ เมื่อ 130 ปีที่ผ่านมา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปีนเขาด้านผิด ชีวิตเกือบเปลี่ยน

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันเขียนถึงเรื่องการป่ายปีน “เขาพระศรี” กลางอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ด้วยความลำบากยากเข็ญทุลักทุเล เพียงเพื่อตามหาที่สถิตพำนักของฤๅษีตนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนกับฤๅษีวาสุเทพและฤๅษีสุกกทันตะ ผู้มีนามว่า “ฤๅษีสัชนาไลย” หรือ “อนุสิสสะ”

เหตุที่หากปราศจากฤๅษีตนนี้ ลำพูนก็คงไม่มีผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์ดั่งที่เห็นสืบมาจนปัจจุบัน

ใช้เวลาปีนป่ายขาขึ้นเกือบสามชั่วโมง ขาลงอีกเกือบสามชั่วโมง เจ้ากรรมเหลือเกินที่นายพรานพาเราขึ้นผิดทาง (นายพรานชื่อ “เพ็ญ” เหมือนดิฉัน แต่เป็นผู้ชาย) ด้วยตัวเขาเองก็แทบไม่ได้ขึ้นเขาพระศรีมานานหลายสิบปีแล้ว

โทษใครไม่ได้เลย เหตุที่เขาลูกนี้แม้จะมีโบราณสถานของกรมศิลปากรตั้งอยู่ก็จริง แต่พื้นที่เป็นของป่าสงวนแห่งชาติ หากไม่มีกิจจำเป็นใดๆ ร้อยวันพันปีไม่มีใครกล้าขึ้นไปโดยเด็ดขาด ดังที่ได้เรียนให้ทราบในฉบับก่อนแล้วว่าที่นี่คือดงงูเห่าของแท้

นายพรานเพ็ญจึงออกจะงุนงงกับเส้นทางอยู่สักหน่อย พาคณะเรามุ่งหน้าไปด้านทิศเหนือซึ่งเป็นป่ารกชัฏสูงชันหฤโหด เราจึงไปไม่ถึงตัวโบราณสถานสักที (ต้องขึ้นทางทิศตะวันออกเท่านั้น อันเป็นทางที่ไม่ชันเท่าทิศเหนือ)

กว่าจะรู้ตัวว่ามาผิดทาง ก็สายไปเสียแล้ว และหากประสงค์จะดื้อดึงดันปีนไปให้ถึงจุดหมายยอดเขาบนสุดให้ได้ ก็ต้องเดินอ้อมเขาไปอีกด้าน ใช้เวลาอีกนานโข ดีไม่ดีกลับลงถึงตีนเขาหกโมงเย็น

ทำอย่างไรได้ ในเมื่อจุดที่คณะเราไปถึงนั้นก็พอมองเห็นซากศิลาแลงปรักหักพังกล่นเกลื่อนอยู่บ้าง (ยังอยู่นอกกำแพงวัด) ได้แค่นี้ก็แค่นี้ ดีกว่าไม่เห็นอิฐเห็นแลงเลยแม้แต่ก้อนเดียว เพียงเท่านี้ขาทั้งสองของเราทุกคนก็แทบจะเป็นตะคริวก้าวไม่ไหวอีกแล้วแม้แต่ก้าวเดียว

คงเหลือแต่ภาพสเกตช์ของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่ปรากฏอยู่ในเน็ต ว่าครั้งหนึ่งเคยมี “วัดยอดเขาพระศรี” วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดศิลาแลงปูลาดทางเดินเป็นขั้นๆ ภายในกำแพง มีพระเจดีย์ตั้งอยู่ตอนในสุด เป็นทรงกลมบนฐานเหลี่ยมเจาะช่องคูหาทางทิศใต้

มีซากอาคารอีกหลายหลัง น่าจะเป็นพระวิหาร อุโบสถ และมณฑป วางแนวแกนไม่สมดุลกัน บางหลังหันหน้าทางทิศตะวันออก บางหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์และปราชญ์ชาวสวรรคโลก-สุโขทัย ซึ่งเคยปีนมาถึงยอดเขาพระศรีแล้วอย่างน้อย 3-4 หน ครั้งแรกปี 2524 และครั้งสุดท้ายปี 2549 เชื่อว่าแม้วัดยอดเขาพระศรี (ตามชื่อที่ระบุในภาพสเกตซ์เมื่อ 130 ปีก่อน) จะเป็นการสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ ไม่ใช่ของเก่าดั้งเดิมตั้งแต่ยุคทวารวดีที่มีตำนานเรื่องฤๅษีสัชนาไลยก็จริง หากควรพิจารณาให้ลึกซึ้งว่าเป็นการจงใจสร้างทับที่ “สิริบรรพต” หรือ “ลตางค์บรรพต” ของฤๅษีสัชนาไลย ซึ่งชาวศรีสัชนาไลยเมื่อ 700 ปีที่แล้วย่อมต้องรับรู้เรื่องราวของฤๅษีตนนี้ย้อนหลังไปอีก 700 ปีว่าเคยมีมาแต่เดิม

หากฤๅษีอนุสิสสะเอาหอยสังข์ส่งให้ฤๅษีวาสุเทพใช้เป็นแบบสร้างเมืองหริภุญไชย แล้วตัวเมืองเก่าของท่านเองเล่า “หริตวัลลีย์” นั้น ควรมีผังเป็นรูปหอยสังข์ด้วยหรือไม่ประการใด

เรื่องนี้อาจารย์สมชายอธิบายว่า เมื่อมองจากยอดเขาพระศรีลงมาที่แม่น้ำยม พอจะเห็นแนวคดโค้งของลำน้ำกับแนวเมืองเก่า ที่คล้ายรูปกระดองหอยสังข์อยู่บ้าง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังต้องช่วยกันศึกษาอีกต่อไป

ภาพร่าง “วัดยอดเขาพระศรี” ที่ศรีสัชนาลัย สเกตซ์โดยนายลูเซียง ฟูร์เนอโร เมื่อปี 2434-2435
หน้าปกหนังสือ Le Siam Ancien ของนาย Lucien Fourenereau ซึ่งภาคผนวกตอนท้ายมีภาพร่าง “วัดยอดเขาพระศรี”

บุรุษยุคอาณานิคม
เป็นมากกว่านักโบราณคดี

คําถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมากลางใจพวกเราพร้อมกัน ใครคือนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสคนนั้น คนที่ดั้นด้นเอาชีวิตเข้าแลกไปสัมผัสยอดเขาพระศรีมาแล้ว

อะไรเป็นแรงผลักดันให้เขายอมลำบากลำบนป่ายปีนเขาสูงชันจนเกิดภาพสเกตซ์อมตะนี้?

ผู้ที่มาพิชิตยอดเขาพระศรีเมื่อศตวรรษก่อนมีนามเต็มว่า Michel-Louis Lucien FOURNEREAU เป็นธรรมดาของชาวต่างชาติที่มี Middle Name และมีการเอานามสกุลฝ่ายมารดามาตั้งซ้อนจนยาวเหยียด เอาเป็นว่าในที่นี้เราจะเรียกเขาเพียงสั้นๆ ว่า Lucien FOURNEREAU อ่าน “ลูเซียง ฟูร์เนอโร”

เขาเกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2389 ในตระกูลชนชั้นสูงที่กรุงปารีส ร่ำเรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรมและโบราณคดีที่ ENSBA ย่อมาจาก Ecole Nationale Sup?rieure des Beaux-Arts ผลงานสมัยวัยหนุ่มของเขาระหว่าง พ.ศ.2411-2421 คือการมีส่วนช่วยออกแบบก่อสร้างโบสถ์เซนต์โจเซฟ (Eglise Siant Joseph)

ต่อมาลูเซียงเข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหม สังกัดกองทัพเรือ ฝ่ายแสวงหาอาณานิคม รับหน้าที่ให้เดินทางไปสำรวจค้นหาหลักฐานด้านชาติพันธุ์วรรณาจากประเทศโลกที่สาม (เริ่มต้นที่ทวีปอเมริกาใต้) ครั้งนั้นเขาขนเอาวัตถุสิ่งของแนวมานุษยวิทยามาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทรอคคาเดโร (Mus?e du Trocad?ro) มากกว่าสองร้อยชิ้น

ระหว่างปี 2429-2431 เขาย้ายมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ถูกส่งมายังอินโดจีนให้สำรวจแหล่งโบราณคดีทั่วเมืองเสียมเรียบ อันเป็นแอ่งอารยธรรมขอม เขาทำหน้าที่เป็น “ภัณฑารักษ์” รายที่สองต่อจาก “ฌ็อง คอมมาย” (Jean Commaille 1868-1916) ภัณฑารักษ์คนแรกของ Angkor ลูเซียงได้มีโอกาสสัมผัสโบราณวัตถุอันเลอค่าที่เก็บรวบรวมมาจากปราสาทหินจำนวนหลายร้อยแห่ง

ข้อสันนิษฐานว่า ผังเมือง “หริตวัลลีย์” เก่า น่าจะเป็นรูปกระดองหอยสังข์ ตามแนวริมน้ำยมคดโค้ง

ความที่ลูเซียงเป็นทั้งสถาปนิก ประติมากร และนักออกแบบ เขาจึงทำการหล่อปูนปลาสเตอร์รูปปราสาทนครวัด จำลองนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการ Paris Universal Exhibition of 1889 (พ.ศ.2432) ถือเป็นชาวฝรั่งเศสคนที่สองต่อจาก “อองรี มูโอต์” (Henri Mouhot) ผู้ที่สร้างความฮือฮา เปิดโลกทัศน์ให้คนยุโรปอยากมาเห็นนครวัดตัวเป็นๆ

นอกจากจะเป็นนักโบราณคดี และศิลปินหลายแขนงแล้ว ลูเซียงยังเป็น “ช่างภาพ” ฝีมือฉกาจอีกด้วย

งานคอลเล็กชั่นด้านภาพถ่าย ภาพร่าง และภาพวาดสีน้ำของเขา เอาเฉพาะแค่โบราณวัตถุโบราณสถานในกัมพูชามีมากกว่า 92 กล่อง (แต่ละกล่องมีหลายแฟ้ม และแต่ละแฟ้มมีหลายชิ้นงาน) ปัจจุบันจัดแสดงที่ Musée du Trocadéro เช่นเดียวกัน

หลังจากนั้นอีก 2 ปี คือ พ.ศ.2434 เขาถูกส่งมาสำรวจโบราณสถานและโบราณวัตถุในดินแดนสยาม ตลอดลำน้ำเจ้าพระยาจากบางกอกขึ้นไปถึงแม่น้ำลพบุรีที่อยุธยา-ลพบุรี แม่น้ำท่าจีนที่นครชัยศรี ต่อด้วยลำน้ำน่านแถบพิษณุโลก เขยิบมาลำน้ำยมแถบสุโขทัย สวรรคโลก เหนือสุดถึงแม่น้ำปิงตอนล่างคือกำแพงเพชร

เขาใช้เวลาในสยามเพียงปีเศษๆ เท่านั้นก็สามารถขนย้ายลำเลียงเอาโบราณวัตถุกลับไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ และพิพิธภัณฑ์เซรามิกที่กรุงปารีสมากถึง 89 ชิ้น

ที่บางกอก ลูเซียงได้วาดภาพแนว Landscape Painting ไว้จำนวนมาก ภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือภาพวัดอัสสัมชัญ บางรัก (หมายถึงโบสถ์หลังเก่าก่อนบูรณะใหม่) เป็นภาพลายเส้นที่ทำให้เราทราบได้ว่าโบสถ์อัสสัมชัญยุคแรกสร้างโดยพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สนใจเครื่องถ้วยสังคโลกกับจิตรกรรมวัดศรีชุม

ผลงานที่ลูเซียง ฟูร์เนอโร บันทึกไว้เกี่ยวกับโบราณคดีในสยามมีเพียง 2 เล่มเท่านั้น คือหนังสือชื่อ Le Siam Ancien จัดพิมพ์โดย Musée Guimet เมื่อปี พ.ศ.2451 (ตีพิมพ์ขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิตได้ 2 ปี) โดยมีบรรณาธิการชื่อ “ออกุส บาร์ธ” (Auguste Barth) บาร์ธได้รับต้นฉบับที่ยังไม่เสร็จดีนักจากลูเซียง

เล่มนี้นี่เองที่มีภาพร่างรูปผัง “วัดยอดเขาพระศรี” ที่คณะเราตามหา แสดงว่าลูเซียงมาสำรวจโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัยระหว่างปี 2434-2435 หนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ดิฉันไล่เปิดดูทุกหน้า พยายามค้นเนื้อหาที่กล่าวถึงสภาพของเขาพระศรีอย่างใจจดใจจ่อ ด้วยอยากทราบว่าเขามาเมื่อไหร่ ด้วยเหตุผลใด สภาพภูเขาทางขึ้นตอนปีนเป็นอย่างไร และเขาพบอะไรบ้าง

ปรากฏว่าพลิกอ่านหมดทั้งเล่มแล้วหลายรอบ ไม่พบคำตอบใดๆ เลย ด้วยเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเพียงความสนใจของเขาสามเรื่องหลักๆ เท่านั้น

เรื่องแรกคือ ภาพจิตรกรรมขูดขีดเป็นร่องลึกบนแผ่นหินชนวนดำที่อุโมงค์วัดศรีชุม แสดงชาดกเรื่องต่างๆ 70 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือเล่มนี้พรรณนาถึงแต่นิทานชาดกเมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นอะไรบ้างอย่างละเอียดยิบ

เรื่องที่สอง เขาสนใจเรื่องจารึกวัดศรีชุม น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ทำรับบิ้งจารึกหลักนี้

กับอีกเรื่องสุดท้ายที่ลูเซียงสนใจคือ “เครื่องถ้วยสังคโลก” เขาอธิบายถึงแหล่งเตาเผาที่ศรีสัชนาลัย จาระไนถึงเนื้อดินที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างถี่ถ้วน ทำการเปรียบเทียบเนื้อดินของเตาสังคโลกกับเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยเขมร

ในเล่มนี้เขาไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเขาได้ขนย้ายเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาในศรีสัชนาลัยไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เซรามิก กรุงปารีส (Musée National de Céramique ใช้ชื่อย่อว่า MNC) จำนวนมหาศาลกี่ชิ้น แต่อย่างใดไม่ ทว่า เราทราบข้อมูลนี้โดยบังเอิญเมื่อสอบถามไปยังเพื่อนภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ ว่าที่นั่นมีเครื่องปั้นดินเผาที่ลูเซียงขนเอาไปจากศรีสัชนาลัยบ้างหรือไม่ คำตอบคือทั้งหมดอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เซรามิก

ดิฉันจึงถึงบางอ้อแล้วว่า ทำไมหนังสือ Le Siam Ancien ตลอดทั้งเล่มซึ่งหนากว่า 200 หน้า จึงไม่มีเนื้อหาตอนใดเลยที่ต้องเสียเวลาพูดถึงที่มาของภาพสเกตซ์รูป “วัดยอดเขาพระศรี” ตอนท้ายเล่ม

นอกจากภาพนี้แล้ว ลูเซียงยังนำเสนอแปลนหรือผังวัดสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่พิษณุโลกกับลพบุรี พร้อมทั้งภาพลายเส้นสถานที่ในกรุงศรีอยุธยาอีกหลายแหล่ง ในทำนองเดียวกัน ทั้งหมดไม่มีเนื้อหารองรับภาพประกอบแต่อย่างใด

สันนิษฐานว่าการขึ้นไปบนเขาพระศรีของลูเซียง ก็คงไปตามลายแทงคำสัมภาษณ์ของชาวบ้านในละแวกนั้น ช่วงที่ลูเซียงมาเก็บข้อมูล คงมีคนชี้เบาะแสว่า ข้างบนก็มีวัดร้างนะ น่าจะลองไปสำรวจดู

มองในมุมกลับ ต่อให้ลูเซียงขึ้นไปด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการค้นหาแค่เครื่องถ้วยก็ตาม ผลดีที่เราได้รับคือ ทำให้ทราบว่าบนยอดเขาพระศรีเคยมีวัดร้างอยู่จริง ซึ่งในยุคของลูเซียงเองราวปี 2434-2435 ผ่านมานานกว่า 130 ปี โบราณสถานก็คงไม่เหลือสภาพอะไรให้น่าตื่นเต้นมากนักแล้วเช่นกัน

มิฉะนั้นแล้ว ช่างภาพมือหนึ่งเช่นเขา จิตรกรผู้อ่อนไหวเช่นเขา ย่อมต้องมือไม้สั่น กดชัตเตอร์รัวๆ หรือประจงนั่งละเลงสีน้ำเอาทรวดทรงองค์เอวของพระเจดีย์มาอวดให้เห็นกันบ้าง (ถ้ายังเหลือสมบูรณ์จริง)

แสดงว่าบนเขาพระศรี คงมีแต่ซากฐานรากโบราณสถานอันปรักหักพัง ทำให้ศิลปินเช่นเขาในสภาวะดังกล่าว เต็มที่ทำได้แค่ต้องงัดบทบาทของสถาปนิกออกมาร่างผังอาคารไว้เป็นอนุสรณ์เท่านั้น

หลังเสร็จภารกิจจากสยาม ลูเซียงยังคงเดินสายไปดูแลงานด้านโบราณคดีที่เชียงแสน หลวงพระบาง ฮานอย ไซ่ง่อน ฯลฯ อีกหลายแห่ง

หลังจากนั้นไม่นาน ปี 2449 เขากลับคืนมาตุคามปารีส เสียชีวิตในวัย 60 ปี ด้วยโรคบิด

ศพของเขาฝังอย่างทรงเกียรติที่สุสานย่านมงมาตร์ ได้รับเครื่องประดับเหรียญตราชั้น Chevalier of the Legion of Honor

สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดสำหรับศิลปิน-นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้นี้ก็คือ เขาอุตส่าห์เป็นถึงช่างภาพ จิตรกร นักวาดภาพลายเส้น นักจดบันทึก แต่เราไม่อาจค้นหาภาพถ่าย รูปปั้น หรือรูปเหมือนของตัวเขาได้เลยแม้แต่เพียงรูปเดียว

ดิฉันพยายามประสานไปที่อาจารย์หลุยส์ กาโบ๊ด (Louis Gabaude) อดีตนักวิชาการด้านโบราณคดีและศาสนา สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ว่าขอให้ช่วยหาภาพถ่ายของนายลูเซียง ฟูร์เนอโร ผู้มีคุณูปการด้านโบราณคดีในอินโดจีนยุคอาณานิคม มาให้ทัศนากันสักนิด

คุณหลุยส์ก็เสียสละเวลาช่วยกันค้น ประสานไปยังเพื่อนฝูงที่ฝรั่งเศส ทั้งพิพิธภัณฑ์กีเมต์ และสำนักงานใหญ่ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ

คำตอบที่ได้รับคือ ไม่เคยมีใครเคยเห็นภาพถ่าย หรือภาพวาดตัวเองของเมอสิเยอร์ “ลูเซียง ฟูร์เนอโร” ท่านนี้เลย

หากผู้อ่านท่านใดมีภาพเขา กรุณาส่งมาให้ดิฉันดูเป็นบุญตาด้วยเถิดนะคะ หัวใจคงเต้นแรงขึ้นอีกนิด •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ