เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2470 หลวงพ่อเพชร อินทโชติ วัดวชิรประดิษฐ์ สุราษฎร์ฯ

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2470 หลวงพ่อเพชร อินทโชติ วัดวชิรประดิษฐ์ สุราษฎร์ฯ

 

“พระครูประกาศิตธรรมคุณ” หรือ “หลวงพ่อเพชร อินทโชติ” อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ และเจ้าอาวาสรูปแรกวัดวชิรประดิษฐ์ บ้านเฉงอะ ต.ตะเคียนทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีเมตตาธรรมสูง มักน้อย และถือสันโดษ

วัตถุมงคลได้รับความนิยมแทบทุกชนิด เป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ลูกหา นักนิยมสะสมพระทั่วไป และหาชมของแท้ ยังหาได้ยากยิ่ง

โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก จัดสร้างในปี พ.ศ.2470 จำนวนไม่ได้บันทึกไว้ แต่มีจำนวนน้อยมาก

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มกระบอก รูปไข่ มีหูห่วง เนื้ออัลปาก้า

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนนั่งพับเพียบบนผ้าอาสนะ มือขวาวางบนตัก มีดอกไม้ 4 กลีบ อยู่ใต้ฐาน ด้านบนเขียนคำว่า “ให้ไว้เป็นที่ระลึก” ด้านล่างจารึกข้อความว่า “พระครูประกาศิตธรรมคุณ”

ด้านหลังเรียบ มีทั้งแบบจารอักขระ และไม่มีจาร

จัดอยู่ในทำเนียบเหรียญหลักของพระเกจิอาจารย์ยอดนิยมของปักษ์ใต้

เหรียญหลวงพ่อเพชร อินทโชติ

มีนามเดิมว่า เพชร แซ่ตั้น (ภายหลังมีพระราชบัญญัตินามสกุล ท่านใช้นามสกุลว่า ยี่ขาว) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปี ฉลู พุทธศักราช 2395 (ในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ที่บ้านประตูไชย เหนือ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

บิดา-มารดาชื่อ นายขาวและนางกิมล้วน แซ่ตั้น

ครั้นอายุ 8 ขวบ บิดามารดานำไปฝากศึกษาเล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของท่านพระครูการาม (จู) วัดมเหยงค์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

จนอายุ 13 ปี จึงลาอาจารย์ออกจากวัดมเหยงค์ ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพระศิริธรรมบริรักษ์ (ขั้น) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ในขณะที่อาศัยอยู่กับพระศิริธรรมบริรักษ์ ช่วยกิจการหลายอย่าง แต่ภารกิจที่สำคัญคือ ครั้งหนึ่งเกิดจีนฮ่อยึดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยตอนใต้ ท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทราบข่าว จึงได้ส่งท่านพร้อมพรรคพวกจำนวนหนึ่งไปปราบจีนฮ่อที่มายึดเมืองไทรบุรี จนกระทั่งได้รับชัยชนะ จีนฮ่อแตกหนีไป

กระทั่งอายุ 30 ปี บิดา-มารดาถึงแก่กรรม หลังจากออกจากบ้านพระศิริธรรมบริรักษ์แล้ว ได้ประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ที่บ้านของตน ในระหว่างนี้เองท่านได้ถือโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนกับท่านอาจารย์ ในด้านการอยู่ยงคงกระพันและอื่นๆ

ครั้นเมื่ออายุท่านได้ 42 ปี เกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน ตัดสินใจออกเดินทางจากบ้าน เพื่อไปเยี่ยมน้องชาย ซึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เดินทางมาได้เพียงแค่ถึงบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ก็เกิดเจ็บป่วยลงอย่างกะทันหัน ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีก ได้เข้าไปขอพักอาศัยและรักษาตัวอยู่กับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทรจนกระทั่งหายป่วยเป็นปกติดี

เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้เปลี่ยนใจขอบรรพชาอุปสมบทที่วัดกลาง บ้านดอน มีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกากล่อม วัดโพธิ์ไทรงาม (หรือวัดโพธาวาส ในปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร บ้านดอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า อินทโชติ ซึ่งแปลว่า ผู้รุ่งเรืองดุจพระอินทร์

หลวงพ่อเพชร อินทโชติ

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่กับพระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร เป็นเวลาถึง 2 พรรษา

พ.ศ.2442 ชาวบ้านเฉงอะเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ ได้พากันนิมนต์ให้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดวชิรประดิษฐ์ (ขณะนั้นเรียกว่า วัดดอนตะเคียน)

ต่อมาจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้วัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับจนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและนิยมยกย่องของชาวบ้านเป็นอันมาก

พ.ศ.2448 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะเป็นวัดตามกฎหมาย โดยมีชื่อว่า “วัดวชิรประดิษฐ์ ซึ่งหมายความว่า วัดที่ท่านหลวงพ่อเพชรเป็นผู้สร้างขึ้น”

ดำเนินการจัดการขอวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ และอุโบสถก็ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยในปีเดียวกันนี้

พ.ศ.2453 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์

พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูประกาศิตธรรมคุณ

 

เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรและพรหมวิหารธรรม มีจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณาชอบช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไป

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยเหตุที่ชราภาพลงและมีอาการอาพาธเป็นประจำ จึงมรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2480 สิริรวมอายุ 85 ปี พรรษา 42

คณะศิษยานุศิษย์จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลศพเป็นเวลา 3 วัน ก่อนเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลตามประเพณีและได้จัดสวดพระอภิธรรมทุกวันธรรมสวนะ

จากนั้นได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2481 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]