จากเอเชียติก มาเป็นเอเชียทีค | ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพจาก [email protected]

มองบ้านมองเมืองเคยพาไปมอง ศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นเพิ่งเปิดตัว เลยคึกคักมาก เต็มไปด้วยคนไทยคนเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ก่อนจะมาเงียบเหงา เมื่อเจ้าวายร้ายไวรัสโควิดมาเยือน เพิ่งจะมาฟื้นบ้างตอนนี้ แต่คงต้องรอเวลาอีกสักพัก ถึงจะกลับมาเหมือนเดิม ด้วยพื้นที่อาคารและสถานที่กว้างใหญ่มาก

ตอนพาไปครั้งนั้น พาไปมองในประเด็นที่ว่า บรรยากาศต่างไปจากศูนย์การค้าอื่น ด้วยเป็นอาคารเก่าหลายหลัง ที่สถาปนิกดัดแปลงให้เป็นร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ มากมาย

อาคารเก่าทั้งหมด เดิมเป็นโกดังคลังสินค้า ของบริษัทข้ามชาติจากเนเธอร์แลนด์ ในยุคสมัยแห่งการล่าหาอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรป บริษัท อีสต์เอเชียติก จำกัด เวนเจอร์แคปปิตอล ของชาวฮอลันดา ที่เข้ามาค้าขายและแสวงหาอำนาจ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนมีอิทธิพลทางการค้าและการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา

ภาพถ่ายเห็นอาคารอุโบสถและวิหารของวัดพระยาไกร ตั้งอยู่ท่ามกลางย่านท่าเรือและโรงเรื่อย

ตอนเริ่มโครงการ ผู้จัดการคงหลงไปกับกระแส บูทีคโฮเตล โดยไม่สนใจที่มาที่ไป และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลอาคารและสถานที่เดิม จึงเรียกขานโครงการว่า เอเชียทีค คล้ายจะบอกว่า เป็นเพียงกลุ่มอาคารเล็กๆ น่ารัก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง อาคารที่มีอยู่เดิมล้วนมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ในพื้นที่กว้างขวางริมแม่น้ำ ของบริษัทอีสต์เอเชียติก มาก่อน

มองบ้านมองเมืองครั้งนี้ จะย้อนเวลาไปก่อนหน้าที่บริษัทอีสต์เอเชียติกจะขอเช่าที่ดินระหว่างถนนเจริญกรุงและแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างสำนักงาน คลังสินค้า และโรงเลื่อย ด้วยเป็นทำเลที่เหมาะทั้งทางน้ำและทางถนน คือถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกของสยามประเทศ

พื้นที่ของเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ในปัจจุบัน หรือของบริษัทอีสต์เอเชียติกในอดีต ที่จริงยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะที่ดินผืนเดิมถูกถนนเจริญกรุงผ่ากลาง รวมทั้งเคยมีวัดรวมอยู่ในพื้นที่ด้วย

เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ (Asiatique The Riverfront) เป็นศูนย์การค้าเปิดโล่งขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

วัดที่ว่านี้เป็นวัดโบราณ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยสภาพเศรษฐกิจมั่นคง กิจการค้าคึกคัก ผู้คนมีฐานะการงานทั่วหน้า จึงเกิดกระแสการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโบราณทั่วพระนครและปริมณฑล ซึ่งรวมถึงวัดหนึ่งในย่านบางคอแหลม

ระหว่างการบูรณะวัดนี้ ที่ได้รับพระราชทานนามว่า วัดโชตนาราม ตามนามของผู้บูรณะ คือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ขุนนางเชื้อสายจีน ผู้เป็นเจ้ากรมท่าซ้าย แต่เมื่อย้ายไปสังกัดวังหน้า ในตำแหน่งพระยาไกรโกษาธิบดี ในรัชสมัยต่อมา ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกขานกันว่า วัด (ที่) พระยาไกร (โกษาธิบดีบูรณะ)

นามวัดพระยาไกรนี้ ยังกลายเป็นนามเรียกขานพื้นที่ทางทิศใต้ของย่าน (วัด) ยานนาวา ก่อนถึงย่านบางโคล่ ว่าย่านวัดพระยาไกร และเป็นที่มาเป็นนาม แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร มาจนทุกวันนี้

รวมทั้งเคยมีการเรียกขานเส้นทางเรือด่วนเจ้าพระยา นนทบุรี – (ที่เดิมถึง) ท่าวัดพระยาไกร แต่ในปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นท่าวัดราชสิงขร

ด้วยเหตุที่ว่า วันนี้ไม่มี วัดพระยาไกร อีกแล้ว •

แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2453 แสดงให้เห็นวัดพระยาไกร

ในปัจจุบัน คนในเขตบางคอแหลม แม้จะคุ้นเคยกับ แขวงวัดพระยาไกร และ สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร แต่คงสงสัยว่า วัดพระยาไกร ที่เป็นที่มาของนาม นั้นอยู่ไหน เพราะไม่ปรากฏว่ามีวัดพระยาไกร ในพื้นที่เขตบางคอแหลม และพื้นที่เขตอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ในแผนที่ประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ พ.ศ.2451 2453 และ 2464 จะระบุตำแหน่งวัดพระยาไกร ว่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงตำแหน่งที่ตั้ง เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ในปัจจุบัน และตรงกับตำนานของวัดโบราณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พระยาไกรโกษาธิบดีมีจิตศรัทธาบูรณะ ชาวบ้านจึงเรียกขานว่า วัดพระยาไกร

เพียงแต่ว่า พระยาไกรโกษาธิบดี ถึงแก่กรรมก่อนที่จะบูรณะวัดแล้วเสร็จ อีกทั้งประสบปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะเป็นหนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มากถึงร้อยชั่ง ภรรยาจึงถวายที่ดินชดใช้แทนหนี้

ส่วนวัดที่ยังบูรณะไม่แล้วเสร็จถูกทิ้งร้าง

ภาพถ่ายภายในวิหารวัดพระยาไกร

เมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุงผ่านที่ดินแปลงนี้ บริษัท อีสต์เอเชียติก ของฮอลันดา จึงได้ขอเช่าพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างสำนักงาน โกดัง และโรงเลื่อย

ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีนั้น มีการอัญเชิญพระพุทธรูปขนาดใหญ่จากหัวเมือง ที่ชำรุดเสียหายมาบูรณะซ่อมแซม และนำไปประดิษฐานตามพระอารามต่างๆ ซึ่งรวมถึงวัดโบราณ คือวัดโชตนาราม หรือต่อมาคือ วัดพระยาไกร ที่มีการอัญเชิญองค์พระมาถึง 2 องค์

เมื่อกลายเป็นวัดร้างและจะเป็นที่ตั้งของบริษัท อีสต์เอเชียติก กรมการศาสนาจึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ไปประดิษฐานที่วัดอื่น โดยวัดไผ่เงิน ที่อยู่ไม่ไกล อยู่ในย่านบางคอแหลมนั้น เลือกองค์พระสัมฤทธิ์ไป

จึงเป็นที่มาของนามวัดในปัจจุบัน คือ วัดไผ่เงินโชตนาราม

เศียรพระพุทธรูปจากวัดพระยาไกรที่ถูกพอกปูน ต่อมาถูกกะเทาะออก ปัจจุบันคือ หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร

ในขณะที่ วัดไตรมิตรวิทยาราม ที่อยู่ไกลถึงตลาดน้อย เยาวราช ได้องค์พระปูนปั้นชำรุดที่เหลืออยู่ จึงนำไปประดิษฐานในเพิงสังกะสี และเรียกขานว่า หลวงพ่อ (จาก) วัดพระยาไกร ต่อมาเมื่อจะก่อสร้างวิหารหลังใหม่ ต้องโยกย้ายองค์พระปูนปั้น ระหว่างการเคลื่อนย้ายนั้น สายกว้านองค์พระเกิดขาด ทำให้องค์พระตกกระแทกพื้น จนปูนปั้นแตกเสียหาย ทำให้เห็นว่ามีองค์พระทองคำซ่อนอยู่ข้างใน

และเป็นที่มาของพระพุทธรูปทองคำหนักสองตัน แห่งวัดไตรมิตรวิทยาราม ที่มีพระนามว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในปัจจุบัน

แม้ว่าทุกวันนี้วัดโชตนารามจะหายไป แต่ก็มีวัดไผ่เงินโชตนาราม รวมทั้งพระสัมฤทธิ์ก็ยังอยู่ เช่นเดียวกับวัดพระยาไกรที่หายไป แต่หลวงพ่อปูนปั้นวัดพระยาไกร ยังคงอยู่ แต่กลายเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง

เรื่องราวที่เกิดขึ้น คล้ายนิทาน ที่สอนให้เรารู้ว่า ไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอน

ศูนย์การค้าที่สวยงามด้วยแสงสีในวันนี้ เนื้อในเป็นโกดังเก็บสินค้าในวันวาน ส่วนองค์พระปูนปั้นในวันวานนั้น กลับกลายเป็นพระทองคำเปล่งประกายในวันนี้ •