หา “เป้า” : หน้า 8

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้หนักหนาสาหัสที่สุดในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะปีที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมถือว่าเล็กน้อยมาก

มีแต่ปัญหาภัยแล้งที่รัฐบาลเจอเข้าหลายระลอก

และถ้าจำได้ เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลอ้างเป็นประจำเมื่อเกิดเหตุภัยแล้ง คือ เป็นผลจากรัฐบาลที่ผ่านมา “พร่องน้ำ” ในเขื่อนมากเกินไปหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ฝนที่ตกลงมาในรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถเติมน้ำในเขื่อนให้มากพอที่จะปล่อยน้ำให้ทำการเกษตร

จึงเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นมา

กลยุทธ์หนึ่งของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ ทุกครั้งที่มีปัญหาจะต้อง “ชี้นิ้ว”

โทษว่าเป็นผลมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

สร้างปัญหา ไม่ยอมแก้ปัญหา

รัฐบาลชุดนี้ต้องมาแก้ไข

พูดไปพูดมา ลืมไปว่าตัวเองอยู่มาแล้ว 3 ปีกว่า

ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง

ก็เกือบครบเทอมแล้ว

“นิ้วชี้” ยังทำงานอยู่เลย

ปัญหาน้ำท่วมในวันนี้ก็เช่นกัน

ทุกครั้งที่ออกมาแถลงข่าวจะมีการยกเรื่องน้ำท่วมปี 2554 มาเปรียบเทียบทุกครั้ง

ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะกลัวว่าประชาชนจะหวั่นวิตก

แต่อีกมุมหนึ่ง คือ การเปรียบเทียบให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารจัดการได้ดีกว่ารัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

ในทางการเมือง เป็นเกมที่ถูกต้อง

เพราะทุกครั้งที่ คสช. ไม่มี “คู่ชก” เป็น “ทักษิณ” หรือ “ยิ่งลักษณ์”

เหมือนตอนที่ “ยิ่งลักษณ์” หนีคดี

รัฐบาลโดนถล่มเละ

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีปัญหา รัฐบาลจะต้องหา “คู่ชก” หน้าเดิมยกขึ้นมาเป็น “เป้า” เปรียบเทียบ

เหมือนกับครั้งนี้

แต่ “การเมือง” กับ “ภัยธรรมชาติ” นั้นไม่เหมือนกัน

“การเมือง” นั้นสามารถใช้ภาษาเสกเป่าให้ “เท็จ” กลายเป็น “จริง” ได้

แต่ “ภัยธรรมชาติ” เป็น “เรื่องจริง” ที่ใครคาดการณ์ไม่ได้

“เสธ.ไก่อู” แถลงได้วันเดียวว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554

วันรุ่งขึ้น “น้ำท่วม” กทม. เลย

แต่ “เสธ.ไก่อู” พูดถูก

เพราะพื้นที่ที่ท่วมคือ พื้นที่ชั้นในที่ปี 2554 น้ำไม่ท่วม

วันนั้นแถลงว่าสบายใจได้เพราะปริมาณน้ำที่บางไทร อยุธยา ด่านสุดท้ายก่อนเข้ากรุง ยังแค่ 2,200 ลบ.ม./วัน

รับได้ถึง 3,500

ห่างไกลมาก

ไม่ถึง 10 วัน น้ำที่บางไทรเพิ่มเป็น 2,700

เพิ่มขึ้น 500

และตอนนี้เขื่อนต่างๆ ก็ยังระบายน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ถ้าฝนยังตกไม่หยุด

อะไรก็เกิดขึ้นได้