นาฬิกา นาฬิเก | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

นาฬิกา นาฬิเก

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้ยินผู้ประกาศแจ้งความด้วยวาจาในสื่อสาธารณะว่า สถานที่แห่งหนึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปได้ตั้งแต่เวลา “8 โมงเช้าจนถึง 7 โมงเย็น” ฟังแล้วสะดุดหูปุ๊บปั๊บเลยครับ

วันนี้เลยจะชวนท่านทั้งหลายมาคุยกันเรื่องเวลาและนาฬิกาในชีวิตของคนไทยเรา

ถึงแม้ว่าเมืองไทยของเราจะตั้งอยู่ใกล้กันกับเส้นศูนย์สูตร ทำให้เวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกไม่คลาดเคลื่อนไปจากกันเท่าไหร่ โดยค่าเฉลี่ยแล้วกลางวันกับกลางคืนก็แบ่งไปฝ่ายละครึ่ง มีกำหนดประมาณ 12 ชั่วโมง

แต่ถึงกระนั้นก็พอสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นฤดูหนาว เวลาค่ำจะมาถึงเร็วกว่าฤดูร้อน เช่นในฤดูหนาว ห้าโมงเย็นก็โพล้เพล้เสียแล้ว แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนเช่นเดือนเมษายน จนใกล้จะทุ่มหนึ่งแล้วก็ยังพอมีแสงสว่างอยู่บ้าง

ด้วยเหตุที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาแต่ดั้งเดิม ความเคร่งครัดในเรื่องเวลาที่ต้องมีนาฬิกามากำกับเวลาอย่างถี่ถ้วนว่าเวลาเท่าใดแล้ว ดูจะไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่เพียงแหงนหน้าขึ้นบนท้องฟ้า ดูพระอาทิตย์พระจันทร์ก็พอกำหนดเวลาโดยประมาณได้

บางทีก็ใช้ความรู้สึกคุ้นเคยเข้าช่วย เช่น เวลานี้ “น้องๆ เพล” ก็ได้เวลาต้องเตรียมสำรับภัตตาหารมื้อเพลให้เรียบร้อยพร้อมประเคนพระแล้ว

แต่ในกิจการบางอย่าง ความจำเป็นในเรื่องของการเคร่งครัดหรือตรงต่อเวลาก็มีอยู่เหมือนกัน เช่น ในพระราชพิธีหรือพิธีมงคลต่างๆ ที่มีฤกษ์กำหนดว่า ต้องทำการมงคลภายในห้วงเวลาเฉพาะเจาะจง เริ่มต้นตั้งแต่เวลาเท่านี้ และไปจบลงในเวลาไม่เกินเท่านั้น เช่น ฤกษ์จุดเทียนชัย หรือฤกษ์สวมแหวนหมั้น เป็นต้น

เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะรู้เวลาโดยเฉพาะเจาะจง เราก็ต้องอาศัยนาฬิกาเป็นเครื่องช่วย นาฬิกานี้ยังไม่ใช่นาฬิกาฝรั่งแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ หากแต่เป็นนาฬิกาโบราณ

เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ คำว่า นาฬิกา นี้ ผู้ใหญ่แต่โบราณท่านอธิบายว่ามาจากคำว่า นาฬิเก ซึ่งแปลว่ากะลามะพร้าว

กะลามะพร้าวที่จะนำมาเป็นเครื่องมือบอกเวลานี้ ต้องเจาะก้นเสียให้เป็นรูขนาดพอดีที่คำนวณแล้วว่า เมื่อนำไปลอยในอ่างน้ำ น้ำจะค่อยๆ ไหลเข้าไปในกะลา จนครบเวลา 60 นาทีกะลาจะจมน้ำพอดี

วิธีการนับเวลาคล้ายกันนี้ยังใช้ในสนามชนไก่จนบัดนี้

การใช้ “กะลา” จับเวลา วิธีการนับเวลาแบบจารีตของสังคมสยามจิตรกรรมภาพเขียนสีหลังตู้พระไตรปิฎกในพระนี่นั่งพุทไธสวรรย์

แต่โบราณมาดูเหมือนจะถอยขึ้นไปได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาเสียด้วยซ้ำ เรามีชาวนาฬิกาทำหน้าที่นี้อยู่ในวังหลวง วงรอบ 24 ชั่วโมงนั้นขึ้นต้นตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้น ชาวนาฬิกาก็ลอยกะลาใบแรก พอกะลาจม ก็เป็นอันได้เวลา 1 โมงเช้า นำกะลาใบเดิมลงลอยอีกเป็นคำรบที่สอง เวลาผ่านไป 60 นาที กะลาจมสนิทก็ได้เวลา 2 โมงเช้า

ทีนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนทั้งหลายซึ่งไม่มีนาฬิกาอย่างที่ว่าเป็นของประจำบ้าน ทางราชการหรือบ้านเมืองก็เอื้อเฟื้อบอกเวลาแก่ชาวบ้านด้วยอุปกรณ์สองอย่าง อย่างแรกคือฆ้อง อย่างที่สองคือกลอง เสียงของเครื่องบอกเวลานี่เองที่ทำให้เกิดคำว่า “โมง” และคำว่า “ทุ่ม” ขึ้น

โมงนั้นเป็นเสียงตีกลอง ส่วนทุ่มนี่ไม่ใช่ทุ่มน้ำหนักนะครับ หากแต่เป็นเสียงตีกลองดัง ตูม ตูม นั่นเอง

การบอกเวลากลางวันว่ากี่โมงแล้วใช้วิธีตีฆ้องเป็นสัญญาณ โมงเช้าก็ตีฆ้องขึ้นครั้งหนึ่ง สองโมงเช้าก็ตีฆ้องขึ้นครั้งหนึ่ง เป็นอย่างนี้ตามลำดับไปจนถึงเที่ยง ก็ตีฆ้องหกครั้ง พอเลยเที่ยงไปแล้วก็เริ่มกระบวนการนับหนึ่งใหม่ เราจึงมีบ่ายโมง บ่าย 2 โมง เรื่อยไปจนถึง 6 โมงเย็น

ตกเวลาค่ำเปลี่ยนวิธีการส่งข่าวบอกเวลา เปลี่ยนจากฆ้องมาใช้กลองแทน เราจึงมีหนึ่งทุ่มสองทุ่มสามทุ่มเรื่อยไปจนถึงหกทุ่ม

สังเกตไหมครับว่าหลังเที่ยงคืนไปแล้ว การเรียกขานเวลาของเราเปลี่ยนไปใช้คำว่า ตีหนึ่งตีสองเรื่อยไปจนถึงตีห้าแทนคำว่าทุ่มหรือโมง

ข้อนี้ผมยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คำว่า “ตี” ในที่นี้ หมายถึงการให้สัญญาณโดยวิธีใด

ความรู้ข้าพเจ้ายังน้อยด้อยศึกษา ท่านผู้ใดมีสติปัญญาโปรดชี้แนะด้วย

ที่พูดมาถึงเพียงนี้สังเกตเห็นไหมครับว่า หนึ่งวัน 24 ชั่วโมงนั้น เราแบ่งรอบของการนับเลขบอกชั่วโมงไม่เกินจำนวน 6 ชั่วโมง จากนั้นก็ขึ้นต้นนับหนึ่งใหม่

เดาพุ่งไปแบบสันนิษฐานโดยไม่มีเหตุผลอะไร ผมอยากจะนึกว่า การให้สัญญาณด้วยฆ้องหรือกลองอะไรเหล่านั้น ถ้ากำหนดจำนวนสูงสุดไว้ที่หกครั้งน่าจะสะดวกสำหรับคนได้ยินเสียงที่สามารถนับจำนวนได้ง่าย

ลองนึกดูสิครับว่าถ้าจำนวนการตีฆ้องหรือกลองเพิ่มไปจนถึง 12 หรือ 24 ครั้ง คนฟังจะตั้งสตินับได้ถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบจริงหรือ

ที่ผมว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นความเข้าใจของผมว่าโบราณท่านนับเวลากันอย่างนี้

 

ต่อมาพอเราคบหากับฝรั่งเข้า ข้างตะวันตกนั้นใช้วิธีนับเวลาหนึ่งวันแบ่งเป็น 12 ชั่วโมงสองรอบ โดยใช้เที่ยงวันและเที่ยงคืนเป็นพรมแดนแบ่งข้าง วิธีบอกเวลาในระบบนี้จึงจะต้องบอกว่าก่อนเที่ยงวันหรือหลังเที่ยงวันเป็นหลัก คือที่ฝรั่งเรียกว่า AM และ PM นั่นเอง เช่น 2 PM ของฝรั่งก็จะตรงกันกับบ่าย 2 โมงของไทย เวลา 11 PM ของฝรั่งก็จะเป็นห้าทุ่มไทย เวลา 8 AM ก็จะตรงกันกับ 2 โมงเช้าบ้านเรา

ถ้าเราจับหลักไม่แม่น แล้วนำสองอย่างนี้มารวมกัน เราก็จะได้เวลาที่เราพูดกันเป็นภาษาปากเวลานี้ว่า 8 โมงเช้าหรือ 9 โมงเช้า ซึ่งตรงกันกับวิธีเรียกอย่างเดิมว่า 2 โมงเช้าหรือ 3 โมงเช้า

ปวดหัวดีเป็นบ้า ขอยาพาราสักเม็ดสิ ฮา!

จากแรกทีเดียวที่ใช้วิธีตีฆ้องบ้าง ตีกลองบ้างเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเวลา บ้านเมืองขยับขยายออกไปกว้างขวางขึ้น วิธีบอกเวลาของทางราชการก็ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ให้เหมาะสม เคยได้ยินคำว่า “บ้านอยู่ไกลปืนเที่ยง” ไหมครับ

ปืนเที่ยงนี้มีจริงๆ เป็นการยิงปืนใหญ่เพื่อบอกเวลาเที่ยงวันให้คนรู้กันโดยทั่วถึง ผมเข้าใจว่าตำแหน่งที่ยิงปืนก็คงอยู่แถวๆ พระบรมหาราชวังนั่นแหละ ถ้าบ้านเราอยู่ไกลออกมามากจนถึงขนาดไม่ได้ยินเสียงปืน ก็แปลว่าเราห่างไกลความเจริญมากพอสมควร จึงไม่ได้ยินเสียงยิงปืนบอกเวลาที่ว่า

กาลเวลาต่อมาโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มีนาฬิกาแบบฝรั่งเกิดขึ้นเป็นเครื่องยนต์กลไกกระดุ๊กกระดิ๊ก แรกทีเดียวก็มีแต่เฉพาะในรั้วในวังหรือคนมีสตางค์ที่จะซื้อหามาได้เท่านั้น บางครั้งก็อาจเป็นบรรณาการจากต่างแดน

ผมเคยอ่านจดหมายเหตุโบราณประมาณรัชกาลที่สองหรือรัชกาลที่สามว่า เมื่อถึงเวลาจะจัดงานพิธีสำคัญ เขาจดว่า “ชาวนาฬิกาเอานาฬิกามาตั้ง” คงเพื่อประโยชน์ในการทำพิธีให้ตรงฤกษ์นั่นเอง

เมื่อครั้งที่นาฬิกาฝรั่งเป็นของหายาก การถวายนาฬิกาฝรั่งเป็นพุทธบูชาจึงได้รับความนิยมมาก เวลานี้ก็ยังเห็นนาฬิกาที่ว่านี้เป็นหลักฐานอยู่ตามฐานชุกชีในพระอารามหลวงต่างๆ หลายแห่ง

 

มาถึงทุกวันนี้นาฬิกาไม่ได้เป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะเท่านั้น แต่อยู่ตามข้างฝา อยู่ตามข้อมือ อยู่ในโทรศัพท์มือถือ อยู่ในรถยนต์ และอยู่ในที่ทางต่างๆ อีกสารพัด

ถ้าเราไม่มีนาฬิกาเป็นของเราเอง เราจะไปยืมเพื่อนมาใช้ก็ได้ ไม่เชื่อให้ไปถาม ป.ป.ช.ดู

ย้อนกลับไปอ่านบทความนี้ย่อหน้าแรกอีกครั้งหนึ่ง ก็ให้สงสารทั้งคนพูดและคนฟังเสียนี่กระไร

ไหนเอายาพารามาอีกสักเม็ดหนึ่งสิ ปวดหัววุ้ย!