‘ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง’ : มองน้ำท่วม 2485 ผ่านสายตาจอมพล ป.พิบูลสงคราม (3) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง’

: มองน้ำท่วม 2485 ผ่านสายตาจอมพล ป.พิบูลสงคราม (3)

 

นับแต่กระแสน้ำจากทางเหนือค่อยๆ ไหลบ่าลงมาทางใต้ จากเดือนกันยายนเป็นต้นมานั้น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและตามลำคลองในพระนครและธนบุรีเริ่มปริ่มตลิ่ง พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำเริ่มท่วม และเมื่อน้ำจากทางเหนือไหลบ่ามาถึงทุ่งรังสิต ปทุมธานีตั้งแต่ช่วงกลางกันยายน รัฐบาล-กรมชลประทานประกาศเตือนประชาชนให้เก็บข้าวของหนีน้ำ (ศรศัลย์, 96)

พื้นที่ใต้นครสวรรค์ลงมายังสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นนทบุรี อันเป็นที่ราบลุ่มภาคกลางที่อยู่เหนือพระนครขึ้นไป รวมทั้งพื้นที่สวนริมสองฝั่งเจ้าพระยาได้กลายเป็นพื้นที่รับกระแสน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากภาคเหนือและน้ำที่เอ่อขึ้นล้นตลิ่งริมน้ำเจ้าพระยาจนเจิ่งนองไปทั่ว กินบริเวณกว้างขวาง

สร้างความเสียหายให้กับนาข้าว สวนผลไม้ และสวนผักอย่างมาก

ประชาชนเข้าแถวรับแจกข้าวสารจากเงินส่วนตัวของจอมพล ป. เพื่อบรรเทาจากอุทกภัย (ศรีกรุง 15 ตุลาคม 2485) เครดิตภาพ : National Geographic

ตรวจน้ำท่วมกับจอมพล ป.

ผู้นำรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกตรวจราชการปัญหาอุทกภัยที่ดอนเมืองด้วยเรือ เมื่อ 27 กันยายน 2485 บันทึกไว้ว่า

เขาเห็นพี่น้องชาวนานำควายมาเลี้ยงรวมกันบนที่แห้งตรงวงเวียนดอนเมือง มีการจัดคนเฝ้าจำนวนน้อยแต่มีควายที่ต้องดูแลจำนวนมากได้อย่างไร เขาสอบถามชาวนาและได้คำตอบว่า ชาวนาช่วยกันเลี้ยง ผลัดเวรกันเฝ้ายาม เขาเห็นว่า นี่เป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันที่น่านับถือน้ำใจอย่างยิ่ง (สามัคคีไทย, 31)

เมื่อเรือของเขาแล่นเข้าสู่ทุ่งรังสิต ปทุมธานี ภาพที่เขาเห็นนั้น เป็นทุ่งน้ำเวิ้งว้างดุจทะเล มีระดับน้ำลึกถึง 2 เมตร จนสามารถแล่นเรือข้ามถนนไปได้ เขาพบ ชาวนาตัดต้นตาลมาทำพื้นพาด ผักตบชวาทำแพที่พักกลางน้ำจึงแวะถามไถ่ชาวนา ชาวนา “แทบทุกแห่งร้องว่า เต็มที่แล้วครับ น้ำท่วมบ้าน ท่วมนา ข้าวไม่มีกิน” เขาเศร้าใจยิ่ง และพรุ่งนี้ ทางจังหวัดจะเอาอาหารมาแจกจ่าย รัฐบาลได้เตรียมการความช่วยเหลือแล้ว รอเพียงน้ำลดลง เขาเศร้าใจมากและเปรียบว่า

“แม้นฉันมีวาสนารับคฑาจอมพล ก็ไม่ดีใจเท่าเห็นน้ำลดหย่างวันนี้” (13 ตุลาคม 2485) (72-73)

สภาพน้ำท่วมในเขตชนบทที่เขาพบเห็นนั้น เขาบันทึกว่า ชาวนาผู้เป็นกำลัง และเป็นสันหลังของชาติ แต่ปรากฏว่า พี่น้องร่วมชาติเหล่านี้ บ้านไม่มีอยู่ ข้าวจะไม่มีกิน เงินก็ไม่ใคร่มีเสียด้วย ไปไหนต้องว่ายน้ำ เพราะเรือไม่มี ช่างน่าเห็นใจยิ่งนัก (30-31)

หลังจากกลับจากการตรวจราชการน้ำท่วม เขาใช้เงินส่วนตัวซื้อข้าวสารแจกประชาชน โดยตั้งเต็นท์แจกที่เชิงสะพานมัฆวานฯ มีรายงานข่าวว่า ประชาชนที่เดือดร้อนมาเข้าแถวมารับแจกข้าวสารวันละหลายร้อยคน ปริมาณข้าวสารแจกไปวันละหลายพันลิตร (ศรีกรุง, 15 ตุลาคม 2485)

จอมพล ป.และท่านผู้หญิงถ่ายภาพร่วมกับชาวนาที่ทุ่งบางเขนเมื่อกลางกันยายน 2485

เยี่ยมชาวสวน

การตรวจราชการทางเรือในคราวน้ำท่วมครั้งนั้น เขาได้แวะเข้าไปในคลองบางเขนและบันทึกว่า

“ฉันเลยถือโอกาสไปเยี่ยมชาวสวนที่คลองบางเขน ชาวสวนก็ได้รับความกระทบกระเทือนใจมากเหมือนกัน ตลอดทางที่ฉันไป ต้นทุเรียน ต้นขนุน ส้ม กล้วยใบแห้ง ใบแดง ใบร่วงตามๆ กันไปหมด บางบ้านร้องบอกแก่ฉันว่า ลำบากยากจนกันเต็มทีแล้ว”

เมื่อฉันได้ยินได้ฟังความทุกข์ของชาวสวนแล้ว

“ฉันไม่ซาบจะตอบหย่างไรดี นอกจากร้องตอบไปว่า น้ำลดแล้ว ไห้คอยฟังทางรัถบาล ท่านคงจะบอกให้ท่านทำอะไรต่อไป ขอคุนพระไห้ช่วยไห้มีสุขในเวลาอันไกล้เถิด พอพูดเท่านั้นบางคนยกมือไหว้ฉัน ฉันก็ไหว้ตอบ” (79-80)

น้ำท่วมเขตเมืองชั้นในย่านอาคารพาณิชย์เมื่อ 2485

ตรวจน้ำท่วมย่านการค้า

ร้านค้าในเขตเมืองยังคงมีการค้าขายตามปกติ ร้านรวงต่างๆ ยังคงเปิดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้า ดังมีผู้บันทึกไว้ว่า “ฉันต้อง ล่องลงน้ำ โดยเรือสำ ปั้นพาย ใจวาบหวาม พาลอยไป ในถนน วกวนตาม แถวถนน ดลข้าม เฟื่องนคร…น่าขอบใจ ในพวก ทำการค้า ต่างค้าขาย เปิดร้านร่า ไม่หมางเมิน ดูก็เพลิน พวกเขาเรา เอาจริงจัง…” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 39)

นายกฯ บันทึกการตรวจน้ำท่วมในย่านการค้าใจกลางเมืองเมื่อต้นตุลาคมว่า “เวลานี้ น้ำในกรุงเทพฯ ธนบุรี ขึ้นมาเต็มที่ และไปทางไหนมีแต่น้ำ ฉันมีโอกาสลงเรือเล็กไปดูตามห้องแถว ตึกแถวหลายแห่งในพระนคร รู้สึกกลุ้มใจแทนเจ้าของบ้านเหล่านี้เสียจริงๆ ดึกถึง 4-5 ทุ่ม พี่น้องเหล่านั้นยังนั่งสาละวนแต่กั้นน้ำ บ้างยกพื้นวิดน้ำ ขนของหนีน้ำ ดูน่าเหนื่อยแทน…ฝนตกลงมาเติมอีก ฝนที่ตกมานี้ ดูเพิ่มแรงขึ้นเพราะน้ำท่วมอยู่แล้ว ก็ยังตกลงมาอีก…เม็ดฝนช่างโตเสียจริงๆ…” (55)

สภาพน้ำท่วมในพระนคร ไม่ลดระดับลง เนื่องจากระดับทะเลยังคงหนุนน้ำเข้าเจ้าพระยาสม่ำเสมอ ดังนั้น เขาบันทึกว่า

“เมื่อ 13 ตุลาคม 2485 ช่วงเช้ามืด เขาดีไจเพราะสังเกตว่า ระดับน้ำลดลงมาก แต่ต่อมาในตอนสายๆ ระดับน้ำขึ้นสูงท่วมบ้านอีก เขาเห็นว่าที่ผ่านมา บางวัน ระดับน้ำก็ลดลง ที่อย่างไม่น่าเชื่อ แต่พอตอนสายขึ้นมาเท่าเดิมเสมอ เขาเห็นว่า หากเป็นดั่งนี้ อีกสักเดือนเห็นจะไม่ดีแน่” (95)

สภาพน้ำท่วมกลางพระนคร 2485

ความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้แจกอาหารประชาชนตามจังหวัดต่างๆ โดยมอบหมายให้นายจิตตเสน ปัญจะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดำเนินการแจกข้าวสาร 240 กระสอบ รัฐบาลจัดหน่วยเรือบรรเทาทุกข์ออกไปช่วยเหลือประชาชนยังนครสวรรค์ ตลิ่งชัน หนองจอก แจกยารักษาโรค อาหารและเครื่องนุ่งห่ม (ศรีกรุง, 14 ตุลาคม 2485)

แนวทางความช่วยเหลือจากรัฐบาลขณะนั้น คือ

1. ช่วยย้ายผู้อยู่ในน้ำขึ้นบก

2. ตั้งงบประมาณช่วยหาอาหารและเครื่องแต่งกายให้ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และหวังว่า คงจะได้บอกบุญแก่พี่น้องที่ไม่ต้องสู้กับอุทกภัยตามศรัทธา

3. เตรียมซื้อข้าวตุนไว้จำหน่ายจ่ายแจกและทำพันธุ์ตามฐานะของผู้ต้องอุทกภัย และกักข้าวไม่ส่งไปนอกในเวลาอันควร

4. เมื่อน้ำลด เตรียมให้ราษฎรทำไร่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ตามแต่จะทำได้ สุดแต่ท้องถิ่น

5. ให้รัฐมนตรีและอธิบดีทุกท่าน คิดช่วยราษฎรผู้ต้องอุทกภัยตามหน้าที่

6. ให้ข้าหลวง นายอำเภอ คณะกรรมการจังหวัด อำเภอได้ช่วยราษฎรที่อยู่ในน้ำ ขึ้นบกและจัดการเรื่องอาหารการกินตลอดจนที่อยู่ (34-35) โดยรัฐบาลจัดงบประมาณให้กระทรวงเกษตราธิการ จัดซื้อเมล็ดพันธุ์พืชมูลค่าสองแสนหน้าหมื่นบาท (66)

ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีออกตรวจราชการน้ำท่วม เห็นความทุกข์ยากของประชาชนแล้ว เขาบริจาคเงินส่วนตัวซื้อข้าวสารแจกที่เต็นท์เชิงสะพานมัฆวานฯ มีคนมารับแจกข้าววันละหลายร้อยคน แจกไปวันละหลายพันลิตร (ศรีกรุง, 15 ตุลาคม 2485)

ส่วนเทศบาลกรุงเทพนั้นเปิดสุขศาลา 3 แห่งรับรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนเวลาค่ำคืน ที่สุขศาลาบางรัก สุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ สุขศาลาจันทร์ฉิมไพบูลย์ เพื่อรักษาโรคท้องร่วง ปวดท้อง (ศรีกรุง, 15 ตุลาคม 2485)

กล่าวโดยสรุป ผู้นำรัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยได้ออกตรวจราชการด้วยตนเองเพื่อเห็นสภาพความทุกข์ยากของประชาชนนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการให้ความข่วยเหลือประชาชนตามระบอบที่ยึดถือประชาชนเป็นหัวใจของการปกครองในครั้งนั้น

รัฐบาลส่งข้าวสารแจกประชาชน 5,000 กระสอบ (ศรีกรุง, 24 ตุลาคม 2485)
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดแก่ประชาชนผู้ประสบภัยครั้งน้ำท่วม