ความหวัง ‘พ.ร.บ.ตำรวจใหม่’ หลักประกัน ‘แต่งตั้งโยกย้าย’ เร่งขับเคลื่อนบำบัดทุกข์ ตร.-ปชช. | บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

ความหวัง ‘พ.ร.บ.ตำรวจใหม่’

หลักประกัน ‘แต่งตั้งโยกย้าย’

เร่งขับเคลื่อนบำบัดทุกข์ ตร.-ปชช.

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เผยแพร่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยให้มีผลประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ตรงกับวันตำรวจพอดี

ใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีทั้งหมด 80 หน้า

โดยหน้าสุดท้ายได้ระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้เกิดผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสมและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ

มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ

 

โดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อให้ ตร.สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสายงานต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละกลุ่มสายงานสามารถเจริญเติบโตตามกลุ่มสายงานด้วยความรู้ ความชำนาญในสายงานของตน

การกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับให้มี “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ” หรือ ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา

รวมทั้งให้มี “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” หรือ ก.ร.ตร. เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชน ในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของตำรวจ ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาล มาตรา 163 เมื่อครบ 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) เป็นอันยุบ และให้โอนเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยในส่วนที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของข้าราชการตำรวจใน บก.รฟ.มาเป็นของ ตร. ให้ ตร.นำอัตรากำลังจาก บก.รฟ.ไปดำเนินการจัดสรรเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 12

ทั้งนี้ หน้าที่และอำนาจของข้าราชการตำรวจใน บก.รฟ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการสืบสวนหรือสอบสวนเรื่องใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อนยุบ บก.รฟ. ให้โอนไปเป็นของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจหรือในกองบังคับการ

 

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า หลังประกาศใช้ พ.ร.บ. ภาระงานหลายเรื่องจึงตกอยู่ใน ตร. จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในกรณีที่มีบทเฉพาะกาล และจะต้องใช้โดยทันทีกรณีไม่มีบทเฉพาะกาล

บางเรื่องก็ต้องรีบเร่งทำความเข้าใจแก่ข้าราชการตำรวจ เพื่อให้เขาเลือกที่จะไปสังกัดอยู่ในสายงานใดสายงานหนึ่งในห้าสายงานตามมาตรา 61 ด้วยความพึงพอใจ เต็มใจ สมัครใจ จะได้ไม่เกิดการฆ่าตัวตายกันขึ้นดั่งแต่ก่อนอีก

ข้าราชการตำรวจเองก็จะต้องสำรวจตรวจดูตนเองให้แน่ชัดว่ามีความชอบ มีความถนัดในสายงานใด? เพื่อจะได้ไปเข้าสายงาน เข้าสังกัด เข้าค่ายให้ถูกต้อง

เพราะต่อไปการย้ายข้ามสายงานก็ดี โยกย้ายข้ามกองบัญชาการก็ดี จะทำได้ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว และการที่จะยกเว้นกฎกติกาให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายจะไม่มีอีกแล้ว (ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การแต่งตั้งอย่างเท่าเทียมกัน)

 

ทันทีที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้มีข้าราชการตำรวจหลายนายโทรศัพท์มาสอบถามว่าการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะถึงในไม่ช้าไม่นานนี้ (น่าจะเป็นหลังการประชุมเอเปค) จะใช้หลักเกณฑ์ใด

จากคำถามนี้ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้อ่าน พ.ร.บ.ฉบับใหม่มาก่อนเลย ซึ่งคำตอบมีอยู่ในมาตรา 178 “ในวาระเริ่มแรก ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ”

ย่อมมีความชัดเจนอยู่ในตัวว่าการแต่งตั้งใช้หลักเกณฑ์เดิมไปอีก 180 วัน (6 เดือน)

จึงขอฝากให้รีบไปศึกษาทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ให้เข้าใจโดยถ่องแท้โดยด่วน เพราะมันเป็นเรื่องของเรา (ตำรวจ) และทุกข์ สุขของประชาชนโดยตรง

 

หันมาทาง ตร.บ้าง กฎหมายลูก กฎหมายรองรับระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องรองรับ พ.ร.บ.นี้ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วหรือยัง!!!

เพราะเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วต้องใช้ได้จริง จะกล่าวอ้างความไม่พร้อมคงไม่ได้ ใน พ.ร.บ.กำหนดให้มี ก.ตร.ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้

ให้มี ก.พ.ค.ตร. และ ก.ร.ตร. ภายใน 240 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยองค์ประกอบมาจากข้าราชการโดยตำแหน่งหรือจากการสรรหา การคัดเลือก และการเลือกตั้ง ซึ่งล้วนต้องเตรียมความพร้อม

ถ้าไม่เตรียมการ หรือกระทำอย่างล่าช้า ผลที่ตามมาก็จะกระทบกันเป็นลูกโซ่

เพราะคณะกรรมการทั้ง 3-4 คณะนี้จะได้ไปขับเคลื่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เป็นรูปธรรม สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อบำบัดทุกข์สองทุกข์ คือทุกข์ของประชาชนหนึ่ง และทุกข์ของข้าราชการตำรวจอีกหนึ่ง ให้ได้ด้วยดีและอย่างมีประสิทธิภาพ