จดหมาย

จดหมาย

 

• ที่มาที่ไป : เลิกทาส

นิยายเก่า ลูกทาส เรียนกฎหมาย

เพื่อจะได้ ไถ่ตน พ้นกดขี่

ต่างกันลิบ กับการเรียน ในวันนี้

มากดีกรี เพื่อเป็นทาส ได้ถาวร

ไมตรี รัตนา

 

 

23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

หนึ่งในสิ่งที่เรารำลึกพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 5 เสมอ

คือ การเลิก “ทาส”

วันนี้ เราไม่มีทาสในความหมายเดิมอีกแล้ว

แต่ “ทาสใหม่” ตามที่ “ไมตรี รัตนา” นำเสนอขึ้นมา

ไม่รู้จะถูกเลิกเมื่อใด

• ที่มาที่ไป : ประวัติศาสตร์ภูเก็ต

เรียน บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

เมื่อปี พ.ศ.2505 นายอ้วน สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้รับโอกาสจากรัฐบาลให้เดินทางไปราชการและทัศนศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

ในขณะเข้าเยี่ยมชมห้องสมุดของมหาวิทยาลัยลอนดอน

ได้รับความเอื้อเฟื้อจากศาสตราจารย์อี. เอช. สจ๊วต ซิมมอนด์ ซึ่งสอนวิชาภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาประวัติศาสตร์เอเชียและแอฟริกา แนะนำให้รู้จักกับจดหมาย 6 ฉบับ

ที่ท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพสตรี) และบุคคลสำคัญของเมืองถลางได้เขียนไปถึงพระยาราชกัปตัน (กัปตันฟรานซิส ไลท์) ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปกครอง “เกาะปีนัง” อยู่ในเวลานั้น

เพื่อขอความช่วยเหลือ ให้ช่วยเมืองถลาง ทั้งก่อนและหลังพม่ายกมาตีเมือง ในศึกสงคราม 9 ทัพ

จดหมายทั้ง 6 ฉบับ ประกอบไปด้วย

ฉบับที่ 1 เป็นจดหมายของท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพสตรี) มีไปถึง “กัปตันฟรานซิส ไลท์” ในเรือกำปั่นบรรทุกสินค้า ที่จอดอยู่ที่ท่าตะเภา เมืองถลาง

ฉบับที่ 2 เป็นจดหมายของพระยาสุรินทราราชา ผู้สำเร็จราชการหัวเมือง ฝั่งตะวันตก คนที่ 3 (ถัดจากนายกอง เจ้าพระยาอินทวงศา พระยาธัมไตรโลก มีไปถึงพระยาราชกัปตัน (กัปตันฟรานซิส ไลท์) ที่เกาะปีนัง

ฉบับที่ 3 เป็นจดหมายของท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพสตรี) มีไปถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ที่เกาะปีนัง

ฉบับที่ 4 เป็นของพระยาทุกราช (ท่านเก็จ) บุตรท่านผู้หญิงจัน ที่มีไปถึงฟรานซิส ไลท์ ที่เกาะปีนัง

ฉบับที่ 5 เป็นจดหมายของท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพสตรี) มีไปถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ที่เกาะปีนัง

ฉบับที่ 6 เป็นจดหมายของพระยาเพ็ชร คีรีศรีสงคราม (พระยาทุกราช หรือนัยหนึ่งท่านเก็จ หลังจากที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง สำเร็จราชการฝั่งตะวันตกแล้ว)

เมื่อนายอ้วน สุระกุล ได้เห็นจดหมายทั้ง 6 ฉบับ จึงได้ติดต่อแจ้งความประสงค์ ให้ท่านศาสตราจารย์ อี.เอช. สจ๊วต ซิมมอนด์ ได้รับทราบว่าจะนำจดหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ไปไว้ที่จังหวัดภูเก็ต

ซึ่งท่านศาสตราจารย์ก็ยินดีถ่ายต้นฉบับมอบมาให้ทั้ง 6 ฉบับ

เป็นสำเนาเหมือนจริงทุกประการ เว้นไว้แต่กระดาษเท่านั้น ที่ไม่ใช่สมุดข่อย เหมือนต้นฉบับ แต่เป็นกระดาษอาร์ต ตามความทันสมัยในปัจจุบัน

เอกสารทั้ง 6 ฉบับนี้ เมื่อมาถึง จังหวัดภูเก็ตได้ตั้งแสดงไว้ที่ห้องสมุดประชาชน จังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า) เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าตามอัธยาศัย

จดหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ได้อยู่คู่จังหวัดภูเก็ตมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่บัดนี้ ปรากฏว่า จดหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ ได้หายไปโดยไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน

สอบถามไปยังพิพธิภัณฑสถานแห่งชาติกลาง และห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต ก็ไม่มีใครทราบ

ที่สำคัญ จดหมายทั้ง 6 ฉบับ ไม่ได้เก็บเอาไว้ยังสถานที่ 2 แห่งนั้นแต่อย่างใด

สำเนาจดหมายฉบับนี้ อยู่ที่ไหน อย่างไร วาน ส.ส. นายก อบจ. ข้าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่เกี่ยวข้อง และผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองถลาง โปรดร่วมมือกันหาให้กลับมาโดยเร็ว เพราะนี่คือประวัติศาสตร์เมืองถลาง

สมโชค พลรักษ์

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

หากมีคำอธิบาย หรือคำตอบ

ให้ “สมโชค พลรักษ์”

คงเป็นเรื่องดี

เพราะนี่ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ที่ควรเก็บไว้ศึกษา •