สี จิ้นผิง จะวางจีนไว้ตรงไหนของเวทีโลก? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

สี จิ้นผิง

จะวางจีนไว้ตรงไหนของเวทีโลก?

 

เมื่อสี จิ้นผิง ผงาดขึ้นนั่งแท่นตำแหน่งใหญ่ที่สุดของประเทศจีนอีกรอบหนึ่ง ทั้งโลกจะจับตาดูว่าเขาจะนำพาจีนไปในเวทีโลกอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า

คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ สี จิ้นผิง มองโลกในยุคของความผันผวนในขณะที่จีนต้องการจะขยับมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐในฐานะ “มหาอำนาจสองขั้ว” อย่างไร

ปีที่แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองครบรอบวันก่อตั้ง 100 ปี ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งสำหรับสี จิ้นผิง

แม้ว่ากิจกรรมการฉลองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 จะยังเป็นช่วงของการระบาดของโควิด-19 แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ลดละกิจกรรมที่มีความหมายอย่างน้อยก็ทางด้านสัญลักษณ์สำหรับคนจีน และเวทีโลกด้วยพร้อมๆ กัน

จุดเน้นของพรรคในโอกาสนี้คือการสร้าง “ชีวิตที่ดีขึ้น” สำหรับคนจีน และนโยบาย “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) ให้กับคนทั้งประเทศ

แต่ด้วยสถานภาพของจีนวันนี้ เรื่องภายในของจีนล้วนแล้วแต่โยงใยถึงโลกทั้งสิ้น

เช่นกรณีมีความกังวลเรื่องตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์ระหว่างประเทศมองทันทีว่าหากตลาดจีนพัง, เศรษฐกิจโลกก็ถูกกระทบแน่นอน

เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของจีนวันนี้มีสัดส่วน 1 ใน 5 ของโลก

ที่เคยบอกว่าหากสหรัฐจาม ทั้งโลกก็จะเป็นหวัดนั้นต้องเขียนเสียใหม่ว่า

ถ้าจีนฮัดเช้ย, ทั้งโลกจะติดโรคระบาดกันไปทั่วแน่นอน

แม้มองในแง่ลบก็ยังเป็นดัชนีชี้ชัดว่าปักกิ่งได้ก้าวมายืนอยู่แถวหน้าพร้อมกับวอชิงตันแล้ว…นั่นแปลว่าหากเราเชื่อว่าวิกฤตของอเมริกาก็คือวิกฤตของโลก ก็ต้องเชื่อเหมือนกันว่าความวุ่นวายในจีนก็ย่อมหมายถึงความอลหม่านของโลกเช่นกัน

เกิดคำถามว่าการเป็นผู้นำจีนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในเวทีระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ผู้บริหารสูงสุดของจีนมีประสบการณ์กับการเมืองโลกที่อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน

เหมาเจ๋อตุงเกือบจะไม่เคยไปเหยียบเมืองนอกเลย…เดินทางออกนอกประเทศเพียง 2 ครั้งในชีวิต

และทั้งสองครั้งนั้นก็ไปเยือนประเทศเดียวคือสหภาพโซเวียต

และการไปมอสโกทั้งสองครั้งสำหรับเหมาเจ๋อตุงนั้นก็สวมบท “น้องชายไปหาพี่ใหญ่” เพื่อรับคำแนะนำในการสร้างชาติมากกว่าที่จะไปในฐานะผู้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

เพราะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาต้องทำทุกอย่างเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคก็การสร้าง “จีนใหม่” ขึ้นมาให้ได้

ในเมื่อ “สหาย” ที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นคือสหภาพโซเวียต เหมาก็จำต้องเล่นบทของอาคันตุกะที่ขอไปเยี่ยมเยือนเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือและคำชี้แนะ

ทั้งในแง่ของการได้มาซึ่งเงินและสิ่งของ กับการถ่ายทอดอุดมการณ์ “มาร์กส์-เลนิน” ที่ผู้นำจีนใหม่ต้องปรับใช้เพื่อการนำพาประเทศให้มุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องบรรลุ

AFP

ส่วนเติ้ง เสี่ยวผิง นั้นมีโอกาสเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศมากกว่าเหมามากนัก

เติ้งอยู่ที่ฝรั่งเศสหลายปีตั้งแต่อายุ 16

ในช่วงนั้น ประวัติทางการบอกว่าเติ้งใช้เวลาหนึ่งเดือนในปี 1925 ทำงานในโรงงานรถยนต์ Renault

แต่คนที่ไปค้นหาข้อมูลเชิงลึกเพื่อเขียนประวัติของเขาพบว่าเติ้งใช้การ “ทำงานที่โรงงาน” เป็นฉากบังหน้าเท่านั้น

ภารกิจหลักคือการปลุกระดมทางการเมืองในมวลหมู่คนจีนในฝรั่งเศส

นั่นคือประสบการณ์ที่น่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านทางการเมืองของเติ้งไม่น้อย

เพราะแม้ว่าเขาจะมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อความเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่อายุยังน้อย และทำงานเป็น “สาย” ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม แต่การได้พบเห็นความเป็นไปในฝรั่งเศสท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหนักย่อมจะทำให้เติ้งสามารถแยกแยะระหว่าง “อุดมกาณ์ทางการเมือง” กับ “แนวทางสร้างเศรษฐกิจ” ของจีน

เติ้งเจอกับ “ของจริง” ที่สอนเขาว่าทฤษฎีของสังคมนิยมกับการสร้างเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง ตอบโจทย์เรื่องปากท้องของชาวบ้านได้นั้นอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน

เขาจึงกล้านำเอา “การตลาด” แบบทุนนิยมมาผสมผสานกับ “ความเป็นสังคมนิยม” แบบจีนมาสร้างแนวทางใหม่ที่เปลี่ยนประเทศจีนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ด้วยนโยบาย “เปิดประเทศ” และ “สร้างสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ

หลักคิดเช่นนี้ย่อมจะทำให้เกิดความแปดเปื้อนกับ “ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง” ของความเป็นคอมมิวนิสต์แบบเข้มข้นจากแนวทางของเหมาที่กำหนดแนวปฏิบัติไว้ใน “ความคิดเหมา” ที่พิมพ์เป็นคู่มือแจกจ่ายคนจีนทุกคนที่จะต้องเดินตามแนวทางนั้นอย่างเคร่งครัด

เติ้งสามารถเบนออกจากเส้นทางของเหมาหลังจากที่เขาได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่สามารถออกคำสั่งให้กับทุกกลไกของรัฐก็หลังจากเหมาสิ้นชีวิตเท่านั้น

 

ส่วนผู้นำคนต่อมาคือเจียง เจ๋อหมิน มีความสามารถในเรื่องภาษาดีกว่าทั้งเหมาและเติ้ง

(เติ้งอยู่ฝรั่งเศสหลายปีก็จริง และแม้คนใกล้ชิดจะเคยกระซิบกับสื่อจีนว่าเขาชอบครัวซองต์ฝรั่งเศสอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเติ้งพูดภาษาฝรั่งเศสได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว)

เจียงพูดภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่วเพราะไปเรียนหนังสือที่รัสเซียอยู่หลายปี

เขาพูดภาษาอังกฤษได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

แต่หู จิ่นเทา กับสี จิ้นผิง ไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ

สีไปเยือนรัฐไอโอวาของสหรัฐในช่วงสั้นๆ เมื่อปี 1985

ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเขาซึมซับเรื่องราวการเมืองและสังคมของอเมริกาได้มากนัก

และการไปเยือนต่างประเทศของสีก่อนจะขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศนั้น ส่วนใหญ่ก็ในฐานะร่วมคณะทางการ

จึงเป็นประสบการณ์ทางการมากกว่าการที่จะใช้ชีวิตที่ได้สัมผัสกับวิธีคิดและวัฒนธรรมของต่างชาติมากนัก

แต่ไม่ว่าผู้นำจีนทั้ง 5 รุ่นนี้จะมีประสบการณ์ต่างแดนแตกต่างกันมากน้อยอย่างไร เป้าหมายของการบริหารประเทศมีความเหมือนกันประการหนึ่ง

นั่นคือการที่จะต้องสร้างให้จีนมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศให้จงได้

ผู้นำจีนเกือบทุกคนจะเท้าความถึงอดีตที่จีนถูกต่างชาติเข้ามายึดครองและสร้างความเสียหายอย่างมากมายอย่างไร…จึงเป็นภารกิจหลักของผู้นำจีนทุกคนที่จะต้อง “กู้ศักดิ์ศรี” ของความเป็นคนจีนที่จะไม่ยอมให้ต่างชาติข่มเหงรังแกหรือเหยียดหยามได้อีกเป็นอันขาด

ด้วยเหตุนี้ สี จิ้นผิง จึงถือเป็นนโยบายหลักในการที่ทำให้ต่างชาติเคารพในความเป็นจีนยุคใหม่

ตอกย้ำว่า “ไม่มีใครสามารถยับยั้งการก้าวไปข้างหน้าของจีนในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป”

 

ภาพลักษณ์ที่กลไกประชาสัมพันธ์ของพรรคและรัฐบาลจีนเน้นในทุกกรณีคือ

สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของประเทศที่กำลังก้าวไกลในเวทีโลก

มองจากข้างนอก จีนมีภาพย้อนแย้ง

ด้านหนึ่ง คือความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจจากความล้าหลังมาเป็นผู้นำที่แม้แต่โลกตะวันตกก็ต้องเกรงกลัว

อีกด้านหนึ่งที่โลกตะวันตกมองคือปัญหาของการที่ยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ กรณี

กลไกรัฐของจีนต้องการจะเน้นความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ…ที่มีผลทางบวกต่อสิทธิของประชาชนด้วย

โดยเน้นว่าการตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” ของจีนกับของตะวันตกมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ประชาธิปไตยในความหมายของจีนคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างชาติร่วมกัน มิใช่การแสวงหาประโยชน์ มือใครยาวสาวได้สาวเอาแบบตะวันตก

และข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” ของฝ่ายตะวันตกที่ต้องการจะทำลายชื่อเสียงของจีน

จีนเชื่อว่าสหรัฐอยู่เบื้องหลัง “แผนมุ่งร้ายทำลายขวัญ” นี้เพราะอเมริกากลัวจีนจะแซงหน้ามหาอำนาจเบอร์หนึ่ง

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าวันนี้จีนมีสถานภาพโดดเด่นเทียบเคียงกับสหรัฐในเวทีโลกได้

แต่ทั้งสองมหาอำนาจะสามารถตกลงว่าจะร่วมมือหรือแข่งขันหรือเผชิญหน้าเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดสำหรับโลกวันนี้

นั่นคือ Co-operaton หรือความร่วมมือ

หรือ Competition การแข่งขัน

หรือ Confrontation อันหมายถึงการเผชิญหน้า

โลกอยากจะเห็นจีนและอเมริกาเลือก C ตัวไหน…คือคำถามใหญ่ที่จะกำหนดทิศทางของโลกในวันหน้าหลังจากสี จิ้นผิง ได้รับการยืนยันว่านั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งของจีนไปอีกอย่างน้อยหนึ่งสมัย