‘คมนาคม’ เร่งเครื่องลุยสารพัดโปรเจ็กต์ พัฒนาระบบราง-ด่วนพิเศษกว่า 3 แสนล้าน ดันปี ’66 แจ้งเกิดลงทุน…ศก.โตไม่ซ้ำรอย ’65? | บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

‘คมนาคม’ เร่งเครื่องลุยสารพัดโปรเจ็กต์

พัฒนาระบบราง-ด่วนพิเศษกว่า 3 แสนล้าน

ดันปี ’66 แจ้งเกิดลงทุน…ศก.โตไม่ซ้ำรอย ’65?

 

ในปี 2566 ที่จะถึงนี้ถือเป็นปีแห่งความท้าทาย ด้วยปัจจัยลบหลายๆ อย่างที่ตามติดมาจากปี 2565 อาทิ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินบาทอ่อนค่า ที่หลายประเทศประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้เป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยอีกต่อไป

ดังนั้น จากปัจจัยลบเหล่านี้ รัฐคงต้องรีบหาเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่ด่วน

ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้คือ การลงทุนภายในประเทศ

กระทรวงคมนาคม โดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ในปี 2566 กระทรวงมีแผนที่จะพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่ วงเงินลงทุน 311,483.56 ล้านบาท

โดยใช้แหล่งเงิน ประกอบด้วย งบประมาณแผ่นดิน 201,510.96 ล้านบาท คิดเป็น 64.96% รองลงมาคือ วงเงินกู้ 44,087.01 ล้านบาท คิดเป็น 14.15% เงินลงทุนจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานต่างๆ วงเงิน 42,433.25 ล้านบาท คิดเป็น 13.62% เงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) 8,598.26 ล้านบาท คิดเป็น 2.76% และเงินจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ราว 5,701.71 ล้านบาท คิดเป็น 1.83% เป็นต้น

โดยได้มีการเร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง 554 กิโลเมตร (ก.ม.) ซึ่งในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 สาย ได้แก่ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2566 และช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี อยูระหว่างก่อสร้าง สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2566 และช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน อยู่ระหว่างเจรจากับผู้รับสัมปทาน สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี คาดเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2568 และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ พญาไท-ดอนเมือง (3 สนามบิน) อยู่ระหว่างก่อสร้าง

คาดว่าเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2571

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ 4 สาย ได้แก่ สีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อยู่ระหวางเตรียมประกวดราคา คาดเปิดบริการในเดือนธันวาคม 2570 สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (พีพีพี) สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบพีพีพี และสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชน คาดเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2570

ขณะเดียวกัน โครงการที่จะะเร่งพัฒนาในระยะต่อไป มีทั้งหมด 8 สาย ได้แก่ สีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกกา อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับกระทรวงคมนาคม สีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับกระทรวงคมนาคม

สีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย อยู่ในขั้นตอนการของบประมาณปี 2566 เพื่อทบทวนแบบ

สีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแบบ

สีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร

สีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ชะลอโครการ

สีทอง ช่วงคลองสาน-ถนนประชาธิปก อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อจ้างศึกษาพีพีพี

และสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 ก.ม. ได้แก่

1. เส้นทางชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ก่อสร้างแล้วเสร็จ

2. ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ก่อสร้างแล้วเสร็จ

3. มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดบริการปี 2566

4. ลพบุรี-ปากน้ำโพ อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดบริการปี 2566

5. นครปฐม-หัวหิน อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดบริการปี 2566

6. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์

และ 7. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดบริการปี 2566

ส่วนทางรถไฟสายใหม่ จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 681 ก.ม. ได้แก่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งทั้ง 2 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่ทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 ก.ม. ได้แก่

1. ปากน้ำโพ-เด่นชัย

2. เด่นชัย-เชียงใหม่

3. ขอนแก่น-หนองคาย

4. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี

5. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี

6. สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา

และ 7. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์

ซึ่งทั้ง 7 เส้นทาง อยู่ในขั้นตอนขออนุมัติโครงการ และพิจารณาอีไอเอ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ปัจจุบันได้มีการพัฒนา จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 1,400 ก.ม. ได้แก่

1. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 ก.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง

2. กรุงเทพฯ-ระยอง 420 ก.ม. ระยะที่ 1 ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างรื้อย้ายสิ่งกีดขวางโครงการ และเวนคืนที่ดิน ระยะที่ 2 อู่ตะเภา-ระยอง ของบประมาณปี 2567 จัดทำรายงานพีพีพี และอีไอเอ

3. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 ก.ม. อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุน

และ 4. นครราชสีมา-หนองคาย 355 ก.ม. อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด

ขณะที่โครงการใหม่ที่จะเร่งรัดลงทุนในปี 2566 อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) (M5) ระยะทาง 22 ก.ม. วงเงินลงทุน 28,700 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สาย M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 36 ก.ม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 ก.ม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) ระยะทาง 1.92 ก.ม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท ทางพิเศษ ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 ก.ม. วงเงินลงทุน 30,896 ล้านบาท และช่วงกระทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 ก.ม. วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท

อีกทั้งยังมีโครงการแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (เอ็มอาร์ แม็ป) สะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โครงการแลนด์บริจด์ ชุมพร-ระนอง โครงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เป็นต้น

โดยปัจจุบันหลายโครงการใหม่มีสถานะอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

และยังมีอีกมากมายหลายโครงการก่อสร้างที่รัฐเตรียมลงทุน คงต้องติดตามว่าเมื่อโครงการเหล่านี้บรรลุเป้าหมาย จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ดันจีดีพีประเทศได้กี่มากน้อย

หรือต้องสะดุดตอ จากปัจจัยลบที่ไม่คาดฝัน ซ้ำรอยปี 2565 หรือไม่…มาลุ้นกัน