มิตรภาพหรือศัตรู บนลู่แข่งแห่งดราม่า | อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

มิตรภาพหรือศัตรู

บนลู่แข่งแห่งดราม่า

 

ความจริงประมาณ แบบจำลองการปกครองท้องถิ่นของไทยในรัชกาลที่ ๕ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะมีแบบจำลองมาจากอินโดจีนที่แคว้นเขมรหรือเวียดนาม

ฉันเองคิดอย่างนั้น และเคยตั้งเป็นตุ๊กตาในใจ กระทั่งเมื่อลงมือเขียนอัญเจียแขฺมร์ฉบับนี้ไปครึ่งแล้ว ช่างบังเอิญ จู่ๆ ก็ทะลุมิติไปเห็นเอกสารสัมนา “๓๐๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส” (นิติศาสตร์รามคำแหง) ที่รวบรวมไว้เมื่อ 38 ปีก่อน

ที่เคยทึกทักเอาว่า บันทึกจาก “การเสด็จประพาสอินโดจีน” ของในหลวง ร.7 โดยเฉพาะแคว้นอันนัมตอนใต้และกัมพูชา ซึ่งมีลักษณะภูมิรัฐศาสตร์และการปกครองคล้ายกับสยามก่อน 2475 ในอีกไม่นานต่อมา

จนร่ำๆ ไปว่า หรือแคว้นเขมร-อินโดจีนเสียกระมังที่เป็นแรงบันดาลพระทัยในหลวง ร.5 หาใช่เป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่ทรงรับมาจากเสด็จประพาสยุโรปสักหน่อย เผลอๆ จะรวมทั้งการ “เลิกทาส” ด้วยนะ

อย่าเพิ่งขุ่นเคือง เรื่องนี้มีพิสูจน์ไว้ที่เป็นไทม์ไลน์ของฝ่ายเขมร ส่วนการปกครองท้องถิ่นนั้น ก็ต้องไปพิสูจน์กันทั้งใน “๓๐๐ ปี ความสัมพันธ์ฯ” ที่ว่า กับ “บันทึกฯ ร.๗”

แลเปิดใจว่า ขนาดฟาดฟันกับบารัง-เขมรกรณีดินแดนและอินโดจีน แต่บางเรื่องอื่นๆ เชิงพัฒนา บางที เราก็ไป “เอาอย่าง” หรือ “จำลอง” เขามาก็ได้?

เช่นนั้น นอกจากการปกครองท้องถิ่นนั่น นัยทีเจ้านายไทยคงพอเห็นประโยชน์บ้างที่จะเอาดัดแปลงประยุกต์มาจากอินโดจีนโดยเฉพาะแคว้นกัมพูชาที่ยังมีลักษณะลูกผสม กล่าวคือ มีรัฐบาลของฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายบารังอินโดจีน

แต่เมื่อสยามไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของฝ่ายใด จึงเป็นรัฐบาลของกษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว ส่วนระบอบรัฐสภาแบบตะวันตกที่เจ้านายบางองค์เคยทูลเสนอและเป็นแสลงเช่นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้น เป็นที่รู้กันว่าถูกปฏิเสธ

จึงน่าจะถือว่า กษัตริย์สยามทรงมีพระดำริในการที่จะเห็นว่าอะไรที่เหมาะและควรส่วนพระองค์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอินโดจีนฝ่ายกัมพูชา

ถ้าอะไรจะอาศัย “ยืมกันไป จำลองกันมา” บ้าง ก็ไม่น่าจะแปลกด้วยว่าเจ้านายฝ่ายปกครองมหาดไทยของสยามเวลานั้นก็ใกล้ชิดและมิตรภาพอันดีกับบางฝ่ายในคณะบารัง

ซึ่งเมื่อฝ่ายสยามเห็นการปกครองว่าเป็นจุดอ่อนของตน การตีหัวเข้าบ้านทางบารังอินโดจีนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แลหากพระบาทนโรดม กษัตริย์หนุ่มกัมพูชาเลานั้นจะนำคณะละครใน/นอกของสยามไปเป็นส่วนพระองค์และดัดแปลงต่อมาก็หาใช่ขโมยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ดูจะเข้าตำรา “เกลียดงูกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” กันทั้งสองฝ่าย ที่ต่าง “รับไปถ่ายมา” ว่าด้วยวัฒนธรรม/ปกครองในอดีตนั้น ในยุคดิจิทัลวันนี้ กลับกลายเป็นศึกดราม่ารายวันระหว่างไทย-เขมร

 

บัดดล พลวัต “หยิบ-ยืม-เปลี่ยน-ถ่ายไปมา” ในภูมิภาคเก่าที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ววันนี้ก็กลับมาอีกครั้ง โดยมีเวียดนามเป็นแกนกลาง โดยไม่ลืมว่า อดีตโลกคู่ขนานระหว่าง – ระบอบ “เสรีนิยม-คอมมิวนิสต์” ณ ภูมิภาคแห่งนี้ เคยมีเวียดนามเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันและสร้างองคาพยพไว้มากจากความสำเร็จนั่น

ในแต่ละมรรควิธีนั้น เชื่อไหม ก็มีพี่ไทยนี่เองที่ไปเข้าร่วมสังฆกรรม โดยไม่ถึงกับ “ชนะขาด” แต่ก็ไม่ถึงกับ “พ่ายแพ้” (กรณีสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์) แต่ที่ยังเหลือเป็นเชื้อเถ้าความสงสัยคือศักยภาพความน่าทึ่งของพลเมืองใน 2 ประเทศนี้ที่ว่ากันว่านัยทีไม่มียอมกัน

พลัน มรรควิธีนั้นก็ทำให้เราเห็น ตัวอย่างกรณีฟุตบอลทีมชาติไทยที่พ่ายแพ้และไม่ชนะเวียดนามในทุกรุ่นรอบ 5 ปีที่กลายเป็นภาพสะท้อนพลวัตใหม่ของเวียดนามที่เขย่าความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์และพรสวรรค์ ขณะที่เวียดนาม หลายปีมานี้ที่หยิบยืมแนวทางของไทยไปพัฒนาด้วยวินัยที่มุ่งมั่น

จนทำให้ไทยรู้สึกไหวหวั่นในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรม-ไม่มากก็น้อย

คิดดูเถอะ จากวันที่พลเมืองประเทศนี้ไม่มีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเองต้องไปนั่งเด่วเป็นคนดูเพื่อดูเกมระหว่างแข่งขันระหว่างพวกบารังกับสยามที่พากันมาเตะฟุตบอลมิตรภาพในแผ่นดินของตนในสมัยอินโดจีนคราว ร.7 เสด็จเยือน

พวกเขาถูกกึ่งบังคับให้แสดงวิถีอารยะปรบมือเชียร์เมื่อถูกใจ แต่จริงแล้วเมื่อมองลงไปในสนามเกมนั้น ไม่ใครเลยที่บ่งบอกว่าเป็นตัวแทนที่น่าภาคภูมิใจของฝ่ายตน ชาวเวียดนามต้องอดทนต่อวีถีเยี่ยงนี้ที่ยาวนานและนานพอที่จะสั่งสมความริษยาอารยะตลอดจนหนทางที่จะเอาชนะอย่างไม่เคยลดละแม้จะผ่านไปนานสักเพียงใด

และนี่คือภาพสะท้อนของพลวัตใหม่ในความคลั่งไคล้ผ่านโลกลูกหนังอย่างสุดโต่งของชาวเวียดที่ไทยและอาเซียนเป็นเพียงทางผ่าน และบางครั้งอาจถึงขั้น “ภัยคุกคาม”

อย่าลืมว่า สมัยที่คอมมิวนิสต์อาละวาด เวียดนามคือพลวัตแห่งความทะเยอทะยานนั้นที่ฉายผ่านภูมิภาค แม้ยุคสงครามเก่าจะสิ้นสุดและภูมิภาคเปลี่ยนไปแล้ว แต่ดีเอ็นเอของมนุษย์ดาวทองไม่เคยตายและมันคือความภาคภูมิใจที่จะส่งผ่านต่อไปในจริตความหลงใหลและทะเยอทะยานนั่น

น่าประหลาดใจว่า อัตราเร่งอนุกรมการแข่งขันนี้ จะตกผลึกและส่งผลต่อทัศนคติ ทะเยอทะยาน หรือความเฉื่อยเหล่านั้น ไม่มากก็น้อย ที่จะส่งผลใดๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมองค์รวมของทั้งสองฝ่ายในทางใด?

และฉันรู้สึกสังหรณ์ใจว่า ถ้าการประลองสู้กันระหว่าง “โววีนัม-มวยไทย” บนเวทีใดๆ ไปเรื่อยๆ นี้ จะส่งผลลัพธ์ในทางกว้างที่ทำให้ “คุณแขมร์” ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เป็นคำถามว่า “อะไรคือสิ่งที่เวียดนามฝัน?” และมันคืออะไรที่เราหวาดกลัวต่อความสัมพันธ์นี้? ที่ประหนึ่งว่า จะเป็นภัยคุกคามอีกครั้งหลัง หลังจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์สู่ลิทธิใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่ลุกท่วมไปด้วยสงครามเฝอ-ต้มยำกุ้งในคราบมิตรภาพ-ศัตรูคู่ต่อกรของ “ไทยลาน” กับ “ดาวทอง”

โดยดัชนีชี้วัดจากภูมิภาคและโลกออนไลน์ที่ทำให้โลกกีฬา บันเทิง การท่องเที่ยวที่สามารถเกาะเกี่ยวอัตลักษณ์เฉพาะตน ความพยายามรีดเร้นศักยภาพสูงสุดในการแข่งขันและผลักดันตนเองไปสู่คานแห่งความสำเร็จ

ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่าเฝอชามนั้นจะเคยเฝื่อนฝาดแต่มันจะเผ็ดร้อนทันทีเมื่อเสิร์ฟมาพร้อมกับต้มยำกุ้งของไทย และนี่คือวัฒนธรรมใหม่ของภูมิภาคนี้ที่ชาติอื่นเป็นแรงขับโดยมีวิสัยทัศน์ของคนแต่ละเจนเป็นมุมมอง

โดยเฉพาะเด็กเวียดนามรุ่นใหม่ที่เติบโตมายุคกึ่งเสรีนิยมที่มีโลกดิจิทัลเป็นแกนกลางอันต่างจากยุคสงครามสร้างชาติของพ่อแม่ อย่างเห็นได้จากความหลงใหลไทยป๊อปที่พวกเขาเลือกลิ้มลองประสบการณ์คือของแปลกในกระแสนิยมปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงและกีฬาที่มีไทยเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน

เห็นชัดเจนว่า พลเมืองรุ่นใหม่เวียดนามเรียนรู้เรื่องนี้อย่างไม่ยึดติด พวกเขาไม่มีปัญหารอยต่อวัฒนธรรมของฝ่ายใด ดังที่เกิดในกัมพูชาบ่อยครั้งต่อประเด็นมวยไทย ตรงข้ามกับเวียดนาม ที่ยินดีให้โววีนัมของตนถูกนำไปเผยแพร่และเป็นมูลค่าทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ในขั้นแรก

และเป็นโมเดลที่เกิดขึ้นมาแล้วกับมวยไทย โดยเฉพาะเมื่อมีคนไทยนำโววีนัมไปต่อยอดในวงการภาพยนตร์เราจึงได้เห็นอัตลักษณ์ของเวียดนามในรูปศิลปะการต่อสู้ที่เปิดกว้างในอุตสาหกรรมบันเทิง ขณะที่กัมพูชา ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เลือกที่จะเป็นไม้เบื่อไม้เมาทางวัฒนธรรมกับไทยในประเด็น “คุนแขมร์” และกลายเป็นกับดักทางวัฒนธรรมที่ “จับต้องไม่ได้” ไปจริงๆ

ยินดีด้วยนะ สำหรับบางชาติพันธุ์แห่งภูมิภาคนี้ ที่ทะลุผ่านความเป็นอื่น-กับดักอันลื่นไหลในยุคสหัสวรรษ