วิทยุ | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วิทยุ

 

ไม่ว่าจะสำรวจที่ไหนก็ล้วนพบว่า นักฟังวิทยุที่เหนียวแน่นที่สุดมักมีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป หรือในบางสังคมก็ 40 ปีขึ้นทั้งนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยุเป็นสื่อของคนรุ่นที่เรียกกันว่า Baby Boomers โดยแท้ เพราะโตมาในโลกที่วิทยุคือสื่อสาธารณะเพียงอย่างเดียวที่เข้าถึงง่ายสุด และนี่คือเหตุผลที่ผมอยากนำเรื่องวิทยุมาชวนคุย เพราะผมเป็นหนึ่งในรุ่นแรกๆ ของ boomers (เพราะเด็กรุ่นก่อนหน้าผม พี่น้องคงตายแต่เด็กไปเสียครึ่งหรือเกือบครึ่งทุกครอบครัว ยังไม่พูดถึงนมกระป๋องที่ทำให้เด็กหย่านมแม่ได้เร็วขึ้นด้วย)

ดังนั้น ที่จะชวนคุยชวนคิดข้างหน้า จึงไม่ได้เกี่ยวกับข้อถกเถียงว่าสื่อสำหรับเตือนสาธารณภัยที่ได้ผลที่สุดในโลกปัจจุบันคืออะไรและอย่างไร ผมทนฟังความคิดที่ไม่รอบคอบมา 8 ปีจนชาชินไปแล้วล่ะครับ

ในคนรุ่นผม พอพูดถึงการฟังวิทยุ มันเกิดความอบอุ่นขึ้นมาลึกๆ ในใจ เพราะแม้เป็นสื่อที่รับได้ฟรี แต่ต้องลงทุนซื้อเครื่องซึ่งราคาสูงทีเดียว (เมื่อก่อนสงคราม หรือก่อนที่ญี่ปุ่นจะผลิตทรานซิสเตอร์มาตีตลาด วิทยุที่ขายในเมืองไทยจึงล้วนผลิตในยุโรปหรือสหรัฐทั้งสิ้น) ดังนั้น บ้านหนึ่งก็มักมีวิทยุเพียงเครื่องเดียว หลายรายการที่สมาชิกในครอบครัวติดใจกันถ้วนหน้า ก็จะเป็นโอกาสของการมานั่งล้อมวงในห้องที่มีวิทยุ รวมทั้งมีขนมซึ่งผู้ใหญ่เตรียมไว้ให้กินแกล้มไปกับรายการวิทยุด้วย

นอกจากความอบอุ่นที่ได้จากความพร้อมหน้าของครอบครัวแล้ว เมื่อโตขึ้นจึงเข้าใจได้ว่า เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรจากบรรยากาศเช่นนั้นอีกมาก นับตั้งแต่ได้ยินที่ผู้ใหญ่คุยกันไปจนถึงถามเนื้อหาหรือคำศัพท์จากวิทยุซึ่งเด็กไม่รู้เรื่อง ในขณะที่ทีวีซึ่งมาทีหลังมัน “ชัด” ไปจนไม่ต้องถาม แถมผู้ใหญ่ก็คุยกันไม่สู้มากนักด้วย

ผู้คนจำนวนมากมักเข้าใจว่า วิทยุเป็นสื่อที่ตายหรือใกล้ตายแล้ว เหมือนสื่อประเพณีทั้งหลาย เช่น หนังสือพิมพ์, ทีวี, ภาพยนตร์ฉายโรง ฯลฯ แต่เฉพาะในเมืองไทย (ซึ่งไม่ได้มีชื่อในด้านนักฟังวิทยุ) การสำรวจของบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งพบว่าใน พ.ศ.2562 หรือศักราชสากล 2019 เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้ฟังวิทยุถึง 10 ล้าน 2 แสนกว่าคน นับจากคนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แต่จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรผมก็ไม่ทราบ เพราะเขาไม่ได้บอกไว้

ยิ่งถ้าเข้าไปดูในต่างประเทศที่เก็บสถิติละเอียดกว่า ก็จะเห็นได้ว่า วิทยุยังเป็นสื่อที่มีผู้รับอยู่มากกว่าที่เราเข้าใจกันทั่วไป ในสหรัฐประชากร 41% ใช้เวลาวันละกว่า 99 นาทีกับวิทยุ นับเป็น 10% ของเวลาที่ตื่นอยู่ แน่นอนส่วนใหญ่ของผู้ฟังคือผู้ใหญ่แล้ว คือตั้งแต่ 35-49 และขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อที่ใช้ฟังอย่างอื่นอีก 59% ที่เหลือ ไม่มีสื่อชนิดใด ไม่ว่าเพลง streaming, ยูทูบ หรือเปิดเครื่องเสียงส่วนตัว ฯลฯ ล้วนมีผู้ฟังน้อยกว่าวิทยุทั้งสิ้น

ในออสเตรเลีย ประชากรที่อายุเกิน 55 ขึ้นไปรับฟังวิทยุถึง 57% (รวมทั้งวิทยุชุมชนและวิทยุเชิงพาณิชย์) โดยใช้เวลา 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในอังกฤษ ผู้ฟังวิทยุใช้เวลาถึงสัปดาห์ละ 20.4 ช.ม. ในระหว่างศักราชสากล 2011-2020 แม้ตัวเลขจะลดลงกว่านี้บ้างในระยะหลัง แต่ก็ไม่มากนัก

(ผมเสียดายที่ไม่อาจหาสถิติในประเทศนอกการครอบงำของวัฒนธรรมแองโกล-แซกซอนได้ เพราะเขาเขียนในภาษาที่ผมอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง)

แนวโน้มที่วิทยุจะเป็นสื่อของผู้สูงวัยก็ปรากฏให้เห็นในเมืองไทยอยู่เหมือนกัน บริษัทโฆษณาที่ทำการสำรวจพบว่า ทั้งเพลงลูกทุ่ง, ข่าว และข่าวกีฬาทางวิทยุนั้น แฟนานุแฟนล้วนมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนที่อายุต่ำกว่านั้นมักฟังเพลงไทย, เพลงสากล เป็นหลัก แต่ทั้งหมดนี้เป็นการสำรวจใน กทม.และปริมณฑลเท่านั้น

แม้แต่วัยรุ่นซึ่งมักไม่ค่อยเป็นแฟนวิทยุ ก็มีสถิติในทั้งสี่ประเทศว่า หันมาฟังวิทยุเพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากน้อยต่างกัน แต่ก็ไม่มีผู้วิจัยคนใดแน่ใจว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวหรือไม่ เพราะเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดระบาดพอดี วิถีชีวิตเปลี่ยนไปต้องอยู่บ้านมากขึ้นและไม่ได้สังสันทน์กับใครบ่อยเหมือนเดิม ในเมืองไทยนั้นเห็นชัดเลยว่าสถิติต่างกันไกลระหว่างก่อนปิดเมืองกับหลังปิดเมือง แต่นิสัยฟังวิทยุนี้จะติดต่อไปในภายหน้าหรือไม่ ไม่มีใครเดาได้ถูก

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสื่อประเพณีด้วยกัน โทรทัศน์ถูกผู้ชมทิ้งในสามสังคมที่มีการสำรวจมากกว่าวิทยุจาก 2-4 เท่า สื่อฟังอีกหลายอย่างที่ดูเหมือนมาแข่งวิทยุ เอาเข้าจริง คู่ปฏิปักษ์กลับไม่ใช่วิทยุ เช่น การฟังเพลงแบบ streaming เข้ามาแย่งผู้ฟังจากซีดีต่างหาก ไม่ใช่จากวิทยุ ในวงการวิทยุเองก็มี “นวัตกรรม” ทางเทคโนโลยีเข้ามาเสริม นั่นคือวิทยุดิจิทัล ซึ่งทำให้ทั้งข่าวและเพลงจากสถานีทั้งในประเทศและนานาชาติฟังได้ชัดแจ๋วแหววเท่ากัน

ทำไมวิทยุจึงมีพลังในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าสื่อตามประเพณีอื่นๆ?

 

คําอธิบายที่ผมพบในงานวิจัยจากสามประเทศนั้นก็คือ วิทยุให้เสรีภาพ เราอาจฟังวิทยุไปแล้วทำอย่างอื่นไปด้วยได้ เช่น ทำกับข้าว, จ๊อกกิ้ง, ขับรถ หรือนั่งเหม่อ นี่ไม่ใช่เสรีภาพเพียงอย่างเดียวนะครับ ผมอยากเตือนด้วยว่า นักฟังวิทยุสามารถกำหนดสมาธิในการฟังได้หลายระดับอย่างคล่องแคล่ว ตั้งแต่ฟังอย่างใจจรดใจจ่อไปจนให้เสียงมันไหลผ่านหูไปแล้วไม่ได้ยิน นี่เป็นเสรีภาพที่สำคัญมากและผมเข้าใจว่านี่เป็นเหตุให้นักฟังวิทยุอเมริกันถึง 47% เห็นว่า โฆษณาทางวิทยุเป็นการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมดีแล้ว เพราะเขาก็ไม่ได้ควักสตางค์จ่ายอะไรในการฟังวิทยุอีก

หากเปรียบเทียบกับโทรทัศน์ คนทนโฆษณาไม่ได้และเห็นว่าเอาเปรียบผู้ชมเกินไป จน กสทช.ต้องกำหนดสัดส่วนเอาไว้ว่าจะให้มีได้เท่าไรในแต่ละรายการ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ควักสตางค์จ่ายค่าชมเหมือนกันกับวิทยุ

ที่เป็นเช่นนี้ อธิบายได้ด้วยทฤษฎีของนักสื่อสารมวลชนชาวแคนาดา (Marshall McLuhan) ที่บอกว่า วิทยุเป็นสื่อหลวม (หรือสื่อเย็น) คือไม่บังคับให้ผู้ฟังต้องใจจรดใจจ่อ แต่เปลี่ยนระดับความใส่ใจได้ตามสะดวกในแต่ละขณะของตน ในขณะที่โทรทัศน์เป็นสื่อแน่น (หรือสื่อร้อน) คือบังคับให้ผู้ชมต้องดู-ฟัง-คิดตาม-รู้สึกตาม-ฯลฯ อย่างกระดุกกระดิกได้ยาก ดังนั้นโฆษณามา จึงอึดอัดจัง

ลองคิดถึงการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ความเป็นสื่อหลวมของวิทยุ กลับเข้ากันได้ดีที่สุดในบรรดาสื่อตามประเพณี (เมื่อเทียบกับโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์) เช่น ขับรถ, ขี่รถ หรือแม้แต่นั่งรถ ไปทำงานหรือโรงเรียนทุกวัน (โดยเฉพาะในการจราจรของเมืองใหญ่ในประเทศไทย) จะมีอะไรดีไปกว่าฟังวิทยุล่ะครับ เพราะมันไม่รบกวนกิจกรรมอื่นที่ต้องทำเลย

 

สถิติที่ผมเก็บได้เกี่ยวกับประเทศไทย ไม่บอกให้รู้ว่า วิทยุเสื่อมความนิยมในหมู่ผู้ฟังทั่วทั้งประเทศไปสักเท่าไรแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการจำแนกกลุ่มอายุ, เพศ หรือระดับการศึกษา อะไรทำนองนั้น แต่ผมออกจะสงสัยว่า แฟนวิทยุของไทยน่าจะลดลงมากกว่าในสามประเทศที่ผมยกมา ในภาพรวมก็คือวิทยุกำลังเสื่อมความนิยมไปในทุกสังคม ยกเว้นแต่วิทยุชุมชน ทั้งในแอฟริกาซึ่งมีผู้บริจาคเพื่อก่อตั้งและดำเนินการทั่วโลก และออสเตรเลียซึ่งประสบความสำเร็จในการทำให้วิทยุชุมชนสามารถเอาตัวรอดทางธุรกิจได้

กว่าสองทศวรรษมาแล้ว ในเมืองไทยก็มีการรณรงค์เรื่องวิทยุชุมชนเหมือนกัน แต่เท่าที่ผมเข้าใจไม่ประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่แห่ง และไม่แน่ใจว่ายังดำเนินการสืบมาจนถึงทุกวันนี้ได้สักกี่สถานี แต่การสื่อสารในชุมชนทุกวันนี้กลายเป็นลำโพงหลายตัวซึ่งต่อสายยาวจาก “ห้องส่ง” หรือมิฉะนั้นก็เป็นลำโพงของหลวงพ่อในวัดซึ่งมักตั้งอยู่ในทำเลที่ทั้งหมู่บ้านได้ยินเสียง

ชุมชนหมู่บ้านไทยเปลี่ยนไปแล้ว ที่สำคัญคือสมาชิกไม่ได้ใช้เวลาในแต่ละวันตรงกันอย่างสมัยทำเกษตรยังชีพ เสียงตามสายจึงรบกวนความสงบสุขของชุมชนไปอย่างมาก ในที่สุดก็ใช้กันในเวลาสั้นๆ ตอนเย็น ไม่เกินครึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน ผมเชื่อว่าชุมชนซึ่งแต่ละคนก็ประกอบอาชีพหลากหลายแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่จะต้องพูดกันมากกว่านั้นแยะทีเดียว แต่วิทยุชุมชนซึ่งให้เสรีภาพในการฟังเกิดไม่สำเร็จ คนในชุมชนจึงต้องติดอยู่กับเครื่องมือสื่อสารซึ่งทำหน้าที่ได้เพียงแจ้งข่าว “ทางการ”

จากตัวอย่างความสำเร็จของวิทยุชุมชนในบางสังคม ชี้ให้เห็นว่า วิทยุชุมชนช่วยตอบปัญหาสำคัญบางอย่างในวิถีชีวิตของคนสมัยปัจจุบัน เช่น เขาพบว่าคนที่ชอบฟังวิทยุชุมชน มักจะเป็นคนที่มีส่วนร่วมกิจกรรมในชุมชนมากกว่าคนอื่น วิทยุดึงและย้ำสำนึกชุมชนให้แก่ผู้ฟัง ดังนั้นชุมชนจึงมักแก้ปัญหาของตนเองได้มากกว่าต้องรอความช่วยเหลือจากข้างนอกเพียงอย่างเดียว (ลองคิดถึงยามน้ำท่วมสูง จะเอาอาหารและน้ำสะอาดไปให้ถึงทุกครอบครัวได้อย่างไร ถ้าชุมชนไม่รับภาระเรื่องนี้)

 

แม้ว่าวิทยุจะเป็นสื่อขาลง (แต่ก็ลงน้อยกว่าสื่อประเพณีชนิดอื่น) ในหลายสังคมทั่วโลก พยายามที่จะปรับเปลี่ยนรายการให้มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบัน บีบีซีเอาโฆษกซึ่งเป็นที่นิยมของวัยรุ่นมาจัดรายการ แต่ไม่เพิ่มผู้ฟังวัยรุ่นขึ้นมากี่มากน้อย นี่ก็เป็นบทเรียนอันหนึ่งว่าการแข่งขันของวิทยุนั้น ต้องหาหนทางที่เหมาะกับสื่อมากกว่าลอกเลียนความสำเร็จจากสื่อประเภทอื่น เช่น โทรทัศน์หรือภาพยนตร์

ดังนั้น หากจะจัดรายการวิเคราะห์ข่าวทางวิทยุ วิทยุย่อมมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง เช่น จัดรายการได้ยาวกว่าโทรทัศน์ แต่วิทยุอาจไม่เหมาะจะเป็นสื่อในการเสนออะไรที่เครียดเกินไป (รัฐประหารหลายครั้งในเมืองไทยก็ยึดอำนาจผ่านวิทยุ แต่ก็น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตว่า วิทยุเป็นสื่อที่สามารถประกาศสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหารได้… ซึ่งมักอยู่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แต่วิทยุประสบความล้มเหลวที่จะทำให้ผู้ฟังยอมรับข้ออ้างความจำเป็นจะต้องยึดอำนาจ เพราะธรรมชาติของวิทยุเปิดโอกาสให้คนพูดแทรกแถลงการณ์ได้ตลอดเวลา – ในขณะที่โทรทัศน์ตรึงให้เรายอมจำนนมากกว่า – เพียงแค่คนอื่นได้พูดอย่างอื่นบ้าง ความชอบธรรมของการยึดอำนาจก็สั่นคลอนแล้วล่ะครับ)

ประเด็นที่ผมอยากจะย้ำในที่นี้ (ถ้าจำไม่ผิด ก็คงเอามาจาก Marshall McLuhan อีกล่ะครับ) ก็คือ สื่อแต่ละอย่างมีธรรมชาติของมัน ทำให้สารที่ผ่านสื่อแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันด้วย นักจิตวิทยาคนหนึ่งยืนยันหลังการทดลองว่า อ่านหนังสือผ่านกระดาษให้ความหมาย, ความรู้สึก, ปฏิกิริยา ฯลฯ ต่างจากอ่านเล่มเดียวกันผ่านจอแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์

เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่า เราไม่ควรปล่อยให้วิทยุตายไปเหมือนสื่อประเพณีอื่น เพราะที่จริงเรารู้จักวิทยุในฐานะสื่อไม่สู้จะดีนักว่ามันมีศักยภาพด้านไหนและอย่างไรในการสื่อสาร

 

ไม่เฉพาะสื่อสารอะไรเท่านั้น สื่ออย่างไรก็มีความสำคัญมาก เมื่อผมเป็นเด็ก ผมจำได้ว่า ละครวิทยุสมัยนั้นมักมี “ผู้บรรยาย” ด้วย เหมือนนวนิยาย คือตัวละครทำอะไร ก็จะมีคนบอกให้รู้ เช่น เดินเข้ามาในฉากหรือเดินออกจากฉาก เป็นต้น แต่ในเวลาต่อมานักจัดรายการละครวิทยุก็ปรับให้ละครวิทยุไม่ต้องมี “ผู้บรรยาย” แต่การบรรยายฉากหรือการกระทำจะแทรกอยู่ในบทสนทนาของตัวละคร

ผมยกตัวอย่างเรื่องละครวิทยุ เพื่อบอกว่าคงต้องมีการศึกษาทดลองอีกมากในการใช้งานวิทยุ เพื่อทำให้เรารู้จัก “ธรรมชาติ” ของสื่อชนิดนี้จริง

แต่กว่าครึ่งชีวิตของวิทยุ ไม่เคยถูกค้นหาศักยภาพของมันอย่างจริงจังเลย เพราะในช่วงแรก วิทยุเป็นสื่อใหม่ที่ดูจะมีอนาคตไกลและไม่มีคู่แข่งด้วย และต่างใช้มันเพื่อสื่ออะไรทุกอย่างที่ต้องการ แต่บัดนี้วิทยุมีคู่แข่ง “ในเรือน” จำนวนมาก จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมของการสื่อสารทางวิทยุ ซึ่งส่วนหนึ่งคงล้มเหลว เพราะไม่เหมาะกับธรรมชาติของวิทยุ แต่ในขณะเดียวกันก็จะพบรายการใหม่ๆ ที่เข้าได้ดีกับวิทยุด้วย

และวิทยุก็จะกลับมาเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เวทีกลางของความรู้-ความคิดเพียงอย่างเดียว แต่วิทยุคงเป็นเวทีกลางสำหรับศิลปะบางประเภทด้วย

ผมไม่ทราบหรอกว่า ภาระการคืนชีวิตใหม่ที่เหมาะสมกว่าแก่วิทยุนั้น ควรเป็นภาระของใคร รัฐ, สถาบันการศึกษา, เอ็นจีโอ, นักวิชาการ, รัฐบาลท้องถิ่น ฯลฯ แต่ถ้าปล่อยให้วิทยุตายไปลงอย่างเงียบๆ ก็นับว่าน่าเสียดายอย่างมาก