หล่อแบบไทย | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร
ผมทรงมหาดไทย (ภาพจากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring)

หล่อแบบไทย

 

“จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล เล่าถึงทรงผมในอดีตว่า

“ผมของชาวสยามนั้นสีดำ เส้นหยาบและเหยียด ทั้งสองเพศไว้ผมสั้นมาก ผมที่ปรกรอบศีรษะยาวลงมาเสมอระดับใบหูข้างบนเท่านั้น ต่ำลงมากว่าระดับนั้นก็กล้อนเสียเกือบเกรียนติดหนังศีรษะ การไว้ผมแบบนี้ก็ไม่ทำให้หน้าตาดูน่าเกลียดแต่ประการใด …ฯลฯ… ชายหนุ่มและหญิงสาวที่อยู่ในวัยที่จะมีเรือนได้แล้วก็ไว้ผมแปลกไปอีกทำนองหนึ่ง คือใช้กรรไกรหนีบตัดผมกลางกระหม่อมเสียสั้นเกรียน ครั้นแล้วรอบเรือนผมนั้น เขาถอนออกมาเป็นกระจุกเล็กๆ กระจุกหนึ่ง มีความหนาขนาดเหรียญเอกิวขาวสองเหรียญ (ซ้อนกัน) และทางด้านล่างนั้นเขาปล่อยให้มันงอกยาวออกไปจนเกือบประบ่า”

ผู้แปลตั้งข้อสังเกตว่า

‘เมื่อได้ถอดความออกมาแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกว่าเป็นผมทรงอะไรกันแน่ และทำไมถึงต้องถอนกระจุกหนึ่งด้วย จะว่าถอนไรก็ไม่เชิง’

เป็นไปได้ว่าสมัยอยุธยาชายไว้ผมสั้น ส่วนหญิงกลางกระหม่อมผมสั้น ถัดลงมาผมยาว

 

สมัยรัตนโกสินทร์มีวรรณคดีหลายเรื่องบันทึกเกี่ยวกับทรงผมชาย โดยเฉพาะวรรณคดีสมัยรัชกาลที่ 2 เช่น บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” เล่าถึงราษฎรยักษ์เที่ยวงานสมโภชกรุงลงกาที่สร้างใหม่

“เหล่าเจ้าชู้ผู้ชายหลายพวกพ้อง เที่ยวเมียงมองทุกละเมาะเสาะแสวง

บ้างตัดผมสอยสันชันเป็นแปรง ดูกล้องแกล้งเกี้ยวผู้หญิงทิ้งดอกไม้”

บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” หนุ่มแก่ทั้งหลายพากันแต่งตัวเต็มที่ไปให้นางรจนาเลือกคู่ รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายว่า

“เหล่าพวกอุตริริร่าง ตัดผมยักอย่างให้ส้อยสั้น

หวีกระจายรายเส้นเป็นแปรงชัน เช็ดน้ำมันกันหน้าด้วยมีดน้อย

บ้างติดตำรับใหญ่เอาไฟอัง กระจกตั้งนั่งหย่งก่งสอย

แค้นใจไม่ใคร่จะเรียบร้อย เฝ้าตะบอยหวีหัวมัวเมา”

 

สองตัวอย่างนี้ตรงกับทรงผมชายไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เรียกว่า ‘ผมทรงมหาดไทย’ หนังสือ “ศิลปวัฒนธรรมไทย” เล่มที่ 1 ของกรมศิลปากร (เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525) ให้รายละเอียด ดังนี้

“ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ทรงหลักแจว’ คือโกนผมรอบศีรษะ ไว้ผมเฉพาะกลางศีรษะยาวประมาณ 4 ซม. แล้วหวีแต่งเรือนผมตามแต่จะเห็นงาม ผมมหาดไทยมี 2 อย่าง คือ มหาดไทยโกน และมหาดไทยตัด มหาดไทยโกนนั้น ใช้โกนผมข้างๆ ให้เกลี้ยง เหลือไว้แต่ตอนกลางเป็นรูปกลมแต่แบนดังแปรง ส่วนมหาดไทยตัด คือ ตัดข้างให้เตียนแทนที่จะโกน และถอนผมที่อยู่รอบๆ ตอนบนออกให้เห็นเป็นรอยเรียกว่า ไรผม ถอนแล้วถ้ายังไม่เรียบร้อยดีก็ใช้มีดโกนกันไรเสียอีกที”

เด็กชายไว้ผมจุกถึงอายุ 11-13 ปี โกนจุกแล้วก็ไว้ผมมหาดไทยตามแบบผู้ใหญ่ ดังกรณีของพลายงาม (ลูกชายขุนแผนและนางวันทอง) สุนทรภู่บรรยายไว้ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนกำเนิดพลายงามว่า

“ทองประศรีดีใจไล่ฤกษ์ยาม ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู

จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู

พวกเพื่อนบ้านวานมาผ่าหมากพลู บ้างปัดปูเสื่อสาดลาดพรมเจียน”

เพื่อนบ้านมาช่วยงานจัดสถานที่ ทำข้าวของถวายพระ มีพระสงฆ์มาสวดมนต์จนพลบค่ำ พิณพาทย์ฆ้อง กลองประโคม ตกค่ำมีเสภาเล่น รุ่งขึ้นเป็นวันพิธีโกนจุก

“ครั้นรุ่งเช้าเจ้าพลายก็โกนจุก เป็นพ้นทุกข์พ้นร้อนนอนหลับใหล

จนผมยาวเจ้าได้ตัดมหัดไทย คิดจะใคร่ไปเป็นข้าฝ่าธุลี”

 

‘มหัดไทย’ ในที่นี้คือ ‘มหาดไทย’ เพื่อให้สัมผัสกับคำว่า ‘ตัด’ ‘มหาด’ ก็กลายเป็น ‘มหัด’ ในข้อความว่า ‘จนผมยาวเจ้าได้ตัดมหัดไทย’ หลังโกนจุกสักพัก พอผมเริ่มยาวก็ตัดสั้นเป็นทรงมหาดไทย คือ ตัดรอบศีรษะให้เกรียน มีกระหย่อมผมตรงกลางศีรษะ ข้าราชการนิยมตัดผมทรงนี้กันมาก พลายงามคิดจะรับราชการก็ตัดทรงนี้

ตัวช่วยแต่งผมให้ดำและอยู่ทรง ชายใช้ไม่ต่างจากหญิง มีทั้ง ‘น้ำมันตานี’ และ ‘เขม่า’ สุนทรภู่เล่าไว้ในเรื่อง “พระอภัยมณี” ว่าสินสมุทร (ลูกชายพระอภัยมณีกับผีเสื้อสมุทร) เกี้ยวผู้หญิงไม่เป็น พวกเจ้าชู้ทั้งหลายก็แนะเคล็ดลับ มีวิธีแต่งผมให้น่าดูรวมอยู่ด้วย

“บ้างทูลว่าข้าสันทัดเคยหัดปรือ ดีดนิ้วมือเกี้ยวผู้หญิงทิ้งปูนพลู

ปิดขมับจับเขม่าหย่งเผ้าผม มียาดมหรือยานัตถุ์ไว้ทัดหู

เดินลอยชายส่ายไหล่ผู้ใดดู อยากใคร่รู้เล่นจริตรักติดใจ”

‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าถึง ‘การจับเขม่าหย่งผม’ ไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 1 ว่า

“ที่บ้านข้าพเจ้าใช้น้ำมันตานีมาก ดูเหมือนเป็นน้ำมันใส่ผมมีชื่อเสียงใช้กันอยู่ทั่วไป จนออกแขกยี่เกยังร้องว่า ‘อะไรก็ไม่สำคัญ เหมือนน้ำมันตานี’ น้ำมันตานีนี้เห็นเขาเอาเขม่า (ก้นหม้อข้าวหม้อแกง) มาผสมและใส่ปูน (กินกับหมาก) ด้วย ป้ายผมที่หงอกประปรายหรือหงอกมากให้เป็นสีดำ คือเท่ากับย้อมผม ที่ใส่ปูนด้วยดูเหมือนทำให้เส้นผมแข็ง หวีคงรูปอยู่ได้ ถ้าใช้เขม่าเปล่าๆ ก็เพียงแต่ทำให้ผมดำ หวีให้คงรูปไม่ได้”

 

ผมทรงมหาดไทยเป็นที่นิยมมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 หนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของสังฆราชปาลเลกัวซ์ (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) ให้ภาพชายไทยสมัยนั้นกับทรงผมยอดฮิตว่า

“เส้นผมสีดำราวกับนิลและหยาบ รักษาไว้ส่วนหนึ่งบนศีรษะ เรือนผมส่วนอื่นโกนเสียทั้งนั้น”

รัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกไว้ผมมหาดไทยมาไว้ผมตัดยาวแบบฝรั่งโดยทรงเริ่มจากพระองค์เอง เพื่อมิให้ฝรั่งดูหมิ่นคนไทยว่ามีค่านิยมล้าหลังป่าเถื่อน ต่อมาคนทั่วไปจึงดำเนินตามตัดผมแบบรองทรง ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “ปิยะราชคุณานุสรณ์” ตอนหนึ่งว่า

“จักจำแนกพระคุณาทร แก่ราษฎรโดยย่อ แต่พอเหมือนเตือนสะกิด

ชวนกันคิดถึงพระเดชพระคุณไท้ ก่อนเราไว้ผมปีก มหาดไทยกะผีกจำเปาะกระหม่อม

แลดูถ่อมศักดิ์สยาม ไป่งดงามเป็นไท แก้เป็นผมรองทรง

ตามเราคงไว้อยู่ สิ้นอดสูแขกกระหม่อม”

ที่มาของชื่อผมนี้เป็นดังที่ ‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าว่า

“ในรัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนใหม่ เอาไว้ผมตลอดทั้งศีรษะ ข้างบนจะอย่างธรรมดา แล้วก็ตัดสั้นลงมาจนเกรียนที่ต้นคอตลอดจนจอนทั้งสองข้าง เจ้านายขุนนางข้าราชการรองๆ ลงมาตัดตามที่ ‘ทรง’ ตัด จึงเรียกว่า ‘ผมรองทรง’

ทุกวันนี้แม้มีทรงผมหลากหลาย ชายหญิงไม่น้อยยังนิยมผมรองทรง •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร