มนัส สัตยารักษ์ : ปฏิรูปตามกระแส

ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดให้จัดตั้ง “หน่วยงานสอบสวนขึ้นตรงกับอัยการสูงสุด” แทนพนักงานสอบสวนของตำรวจ ตามข้อเสนอของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ ตำรวจที่ทำงานสืบสวนอยู่เดิมจะไม่ให้ความร่วมมือกับ “หน่วยสอบสวน” ของอัยการ โดยยึดคติ “ไม่เอามือซุกหีบ”

“ไม่เอามือซุกหีบ” ไม่ได้หมายความว่าเป็น “หมาหวงก้าง”

“เอามือซุกหีบ” หมายความว่า “เจ็บฟรี” ถูกฟ้องทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หรืออย่างน้อยก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย หรือถูกกล่าวหาว่าลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้ง 2 ฝ่าย อาจจะถูกกล่าวหาจากทั้ง 2 ฝ่าย และถ้ารวมทั้งจากอัยการด้วยก็เป็น 3 ฝ่าย

“รบกับโจรก็เหนื่อยพอแล้ว” ตำรวจบอก “ยังจะให้มาทะเลาะกับอัยการอีก”

ดังนั้น “เอามือซุกหีบ” ย่อมแปลตรงตัวว่า “เจ็บฟรี”

นับตั้งแต่เริ่มเป็นตำรวจ (นักเรียนนายร้อย) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ผมก็รู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า “ผ่าตัดตำรวจ” เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อ.ตร. ถูกคณะปฏิวัติขับออกนอกประเทศในปี พ.ศ.2500

หลังจากนั้นอาจจะมีบางยุคที่ไม่มองว่าตำรวจเป็น “คนป่วยหนัก” ถึงขนาดต้องผ่าตัดก็อาจจะเรียกเป็นว่า การปรับปรุง หรือวิวัฒนาการ หรือพัฒนาการ แต่ถ้าจะให้สะใจคนส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “ผ่าตัด”

ต่อมาภายหลังทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ มักจะให้เกียรติตำรวจว่าเป็นพวกเดียวกัน หรืออาจจะเอาตัวตำรวจมานั่งเข้าแถวเป็นตัวประกัน ก็เลยเปลี่ยนเป็นใช้คำว่า “ปฏิรูปตำรวจ” แทนคำว่า “ผ่าตัดตำรวจ”

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ผ่าตัด” ให้ความรู้สึกถูกเป้ากว่า ฟังแล้วจะเห็นว่าตำรวจเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นพวกที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว

มาถึงรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ แม้จะมี ผบ.ตร. มานั่งเข้าแถวในการประกาศการยึดอำนาจ แต่ก็ต้องเอาใจประชาชนด้วยการกำหนดนโยบายปฏิรูปตำรวจ

ทั้งหมดมาจากสมมุติฐานว่าตำรวจเลว ตำรวจทำให้ประชาชนเดือดร้อน (แม้จะทำตามหน้าที่) ตำรวจกลั่นแกล้งหรือรังแกประชาชน ไปจนถึงว่าตำรวจทำสังคมและบ้านเมืองฉิบหาย

เพิ่งอ่านพบในสื่อโซเชียลของผู้ใช้นามว่า “โรดแม็ปปฏิรูปตำรวจ” หรือ POCICE WATCH เสนอปฏิรูปตำรวจ 8 ข้อ ผมเห็นด้วยในข้อที่ให้ “บันทึกภาพและเสียงการสอบสวน” กับ “ยุบตำรวจภาค กระจายกำลังพลไปประจำโรงพัก” ส่วนข้อเสนออื่นนั้น บางเรื่องคอลัมน์นี้เคยแสคงความคิดเห็นไปก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในหน้าของ “โรดแม็ปปฏิรูปตำรวจ” ตอนหนึ่ง ก่อนจะพูดเข้าประเด็น “การตรวจสอบควบคุมคดีของอัยการ” ได้โจมตีนายตำรวจใหญ่ กรรมการที่ไม่เห็นด้วยว่า “ไร้มารยาท” ขัดขวางแนวทางนี้ทั้งที่อนุกรรมการเห็นชอบแล้ว

การมองคน “เห็นต่าง” เป็นคนไร้มารยาท ทำให้ผมเอะใจจนย้อนไปสำรวจตรวจสอบในโปรไฟล์ว่า คนกลุ่ม POCICE WATCH นี้เป็นใครมาจากไหน แล้วก็พบว่าผู้ประสานงานหลักเป็นสุภาพสตรีท่านหนึ่ง บางส่วนเป็นนายตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนหรืออดีตพนักงานสอบสวน กลุ่มสนับสนุนประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ในนาม 102 องค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ

องค์กร 102 องค์กรเรียกตัวเองว่าเครือข่ายเป็นส่วนใหญ นอกจากนั้นก็เป็นชมรม สมาคม มูลนิธิ คณะกรรมการ สถาบัน สมาพันธ์ สหภาพ ศูนย์ ศูนย์ประสานงาน สภาองค์การ วิทยุชุมชน กลุ่มศิลปิน หรือคณะทำงาน ฯลฯ

เป็นองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ดูเหมือนสร้างขึ้นมาง่ายๆ ง่ายเสียจนทำให้รู้สึกว่าเป็นการ “สร้างภาพ” โดยมีสาวกขาประจำคอยคอมเมนต์สนับสนุน

“มติชน” รายวันฉบับวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2560 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “5 ปม แย้งอัยการกรองสำนวน ตร.” เป็นบทความที่มาจากการวิพากษ์การปฏิรูปงานสอบสวนของตำรวจ และ “มติชน” ได้มาจากการพูดคุยและสัมภาษณ์ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รอง ผบก.กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย ดีกรีเนติบัณฑิตไทย และปริญญาเอกด้านกฎหมายจาก ม.อิลลินอยส์

ปมหนึ่งใน 5 ปม ของบทความนี้ อาจารย์ศิริพลกล่าวว่า

“ให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน เป็นการทำลายระบบถ่วงดุล และล้มละลายหลักประกันความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะความสามารถควบคุมทิศทางการสอบสวนของตำรวจได้อย่างบริบูรณ์เบ็ดเสร็จไปจนถึงขั้นสั่งคดี และมีผลถึงคำพิพากษาด้วย”

อาจารย์ศิริพลยกตัวอย่างจากคดี “ฆ่าหั่นศพ พญ.ผัสพร” คดีนี้ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีต รอง ผบ.ตร. เชิญอัยการเข้าสอบสวนแนะนำ แต่ท้ายที่สุดพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยอ้างว่า ไม่เชื่อว่ามีการตายเกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ อธิบายชัดเจนว่าสารพันธุกรรมระบุว่าเป็น พญ.ผัสพร

โชคดีที่กองคดีอาญาฯ แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้น ประกอบกับบิดาของ พญ.ผัสพร ฟ้องคดีเอง ศาลประทับรับฟ้อง ท้ายที่สุดอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย

อีกคดีหนึ่งที่อาจารย์ศิริพลยกมาเป็นตัวอย่างของ “อัยการกรองสำนวน” คือคดี “บอส-ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง” ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ทำให้พนักงานอัยการเลื่อนสั่งคดีไปเรื่อยๆ ผู้ต้องหาไม่มาพบเจ้าพนักงาน จนตำรวจจะเสนอศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปรากฏว่ามีหนังสือจากพนักงานอัยการให้ชะลอการขอหมายจับไว้ก่อนเพราะผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม

“กรณีนี้เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสั่งคดี”

ในที่สุดอาจารย์ศิริพลสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับความคิดในการใช้คนคุมคน

กรณีของ “บอส-กระทิงแดง” ที่หนีออกนอกประเทศไปนั้น รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงถึงเรื่องนี้ว่า “นายวรยุทธ์ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการหลายครั้ง อีกทั้งยังมีการร้องต่อคณะกรรมาธิการฯ สนช. ควบคู่ไปด้วย ถ้าอัยการไม่สอบเพิ่มเติมให้ อาจถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่”

นอกจากนั้น อดีตอัยการสูงสุดกล่าวอธิบายเรื่องขอความเป็นธรรมว่า “ยอมรับความจริงว่า ระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดไว้อย่างนั้น”

หรือเราจะลงมติยอมรับกันว่า กรณีสั่งไม่ฟ้องคดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร กับกรณีการชะลอการฟ้องนายวรยุทธ์-ทายาทกระทิงแดง นี่คือการ “ถ่วงดุล”?

สาธยายความเห็นเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” ซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตั้งแต่เริ่มมีคำนี้หลังรัฐประหาร พยายามเสาะหาบทความของผู้รู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ ตลอดจนเรื่องราวของเหตุการณ์มาเล่า ณ ที่ตรงนี้ เพื่อให้ตระหนักชัดและรับทราบข้อดีและข้อด้อยของกิจการตำรวจไทย

มิใช่เพื่อต่อต้านการปฏิรูป แต่เป็นการต่อต้านความครอบงำกระแส หวังจะได้รับการผ่าตัดให้ถูกจุดกันเสียที