กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (12) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (12)

 

กิติมา อมรทัต กับวรรณกรรมอินเดีย (ต่อ)

นักเขียนบางคนเคยสัมผัสกับนรกเช่นนั้นมาด้วยตนเองแล้วก็มี นับเป็นครั้งแรกของประวัติวรรณกรรมอินเดียที่ขบวนการนี้ได้แหวกวงล้อมหลายอย่างออกมาสำเร็จ สามารถพูดอย่างจงใจถึงสิ่งที่แต่ก่อนนั้นไม่เคยมีใครกล้าพูด จึงไม่ต้องสงสัยละว่าขบวนการนี้จะไม่เปิดทางออกให้แก่ความรู้สึกหลายอย่างที่เคยอัดอั้นอยู่ให้มีทางระบายออกมาได้ เช่น เรื่องราวของผู้หญิงโสเภณีที่แต่ก่อนไม่เคยมีใครกล้าเขียนถึง ก็ได้ถูกนักเขียนหลายคนนำไปเขียนอย่างเห็นอกเห็นใจ

บทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าก็คือ การนำนวนิยายเข้ามาใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่น่าขนลุกขนพองสกปรกลามกและเปล่าเปลือยมากขึ้น คือเข้ามาใกล้ชีวิตที่เปล่าเปลือยไร้เครื่องประดับประดารุงรัง ชีวิตที่ไหวระริกอยู่ภายใต้ตะไคร่แห่งระบบศักดินาสมัยกลางและใต้กองเศษเหล็กขี้สนิมเกรอะกรัง

ยัศปาล ผู้นิยมมาร์กซิสม์เป็นผู้ที่ต้องการจะปลดภาพโรแมนติกออกไปเสียจากงานวรรณกรรมและทำให้งานของเขาลงสู่ดินมากขึ้น เพราะถือว่าการปฏิวัตินั้นต้องเป็นของจริงจังมิใช่เพียงความฝันยามกลางวันตามสบายเท่านั้น

ตัวเอกในเรื่องต่างๆ ในนวนิยายต่างก็กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสังคมไม่อย่างนี้ก็อย่างนั้น สตรีแบบใหม่ผุดขึ้นมา เป็นแบบของสตรีที่เป็นทั้งแม่ ทั้งเมีย ทั้งคนรัก เป็นผู้หญิงที่มีความรับผิดชอบทั้งในเรื่องการบ้านและสังคมส่วนรวม

 

ด้วยงานของนักเขียนกลุ่มนี้เอง ภาพของชาวไร่ชาวนา คนงานกรรมกรและคนที่ถูกเรียกว่าคนชั้นต่ำ และคนบ้านนอกคอกนา ก็ได้มีโอกาสปรากฏออกมาให้ผู้อ่านได้รู้จักอย่างลึกซึ้ง คนอินเดียส่วนมากเป็นคนชนบทนับล้านๆ คนที่ไม่มีปากไม่มีเสียง จึงต้องอาศัยนักเขียนเหล่านี้ช่วยวาดภาพให้เป็นจริงเป็นจังเพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้สึกตอบรับ

เรื่องราวของชาวไร่ชาวนากับเจ้าที่ดิน เจ้าหนี้เงินกู้ และการทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวร่วมแบบอินเดีย ได้กลายเป็นเนื้อหาของนวนิยายที่เขียนถึงชนบทนี้มาตั้งแต่ก่อนสงครามด้วยซ้ำไป

งานชิ้นแรกๆ ก็เป็นแบบโรแมนติก ชาวไร่ชาวนาเป็นคนโง่ๆ ซื่อๆ จนเกินไป แต่แล้วก็ถูกแทนที่ด้วยภาพของชาวไร่ชาวนาชนบทที่กล้าหาญมากขึ้น มีปากมีเสียงมากขึ้น กล้าประท้วงมากขึ้น ชอบถากถาง และมีความรู้สึกขมขื่นอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

จุดต่างๆ ที่นักเขียนแสดงออกมาในงานวรรณกรรมประเภทนี้คือ ความสำนึกทางการเมืองที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในใจของชาวชนบทเหล่านี้ รวมทั้งความรู้ตัวว่าตนถูกกดขี่ด้วยเรื่องชั้นวรรณะ เรื่องความงมงายในทางไสยศาสตร์ การทะเลาะเบาะแว้งและความไม่ไว้วางใจกันในครอบครัว ความยากจน ความเจ็บไข้ และความโง่เขลาเบาปัญญา หนี้สินและการไม่มีงาน ความล้าหลังจนเป็นเหยื่อของความยากแค้น ขาดแคลน และถูกฉกฉวยผลประโยชน์ไปด้วยความใจแคบใจร้ายของเจ้าที่ดินและเจ้าหนี้เงินกู้

ความรักที่บริสุทธิ์ของชาวชนบท จิตใจอันดีงามของผู้หญิงชนบท และความโหดร้ายของชีวิตในเมือง

นักเขียนแต่ละคนต่างก็พยายามที่จะชี้วิธีแก้ไขปัญหาตามความคิดของตน และแนะถึงการนำเอาอุตสาหกรรมเข้ามาโดยเร็วที่สุด การรวมตัวกันต่อต้านทางการเมืองหรือมนุษยธรรมที่กว้างและลึกกว่าเดิม

 

ในงานเหล่านี้ภาพแบบโรแมนติกของหมู่บ้านในฝันของมหาตมะ คานธี นั้นไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว เพราะนักเขียนเหล่านี้ได้ชี้ถึงความบกพร่องของชาวชนบทเหล่านั้นออกมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ยกยอสรรเสริญกันเสียจนเกินจริง

ตัวอย่างเช่นในเรื่องโคทาน ของเปรมจันทร์ ผู้แต่งได้ชี้ให้เห็นว่า หริ ชาวนาผู้น่าสงสารยังจมอยู่ในความเชื่อทางไสยศาสตร์หรือกฎเกณฑ์อันเหลวไหลของศาสนาฮินดู จนต้องการจะยกโคให้เป็นทานแก่พราหมณ์ (ผู้ร่ำรวยอยู่แล้ว) ทั้งๆ ที่ตัวเองก็แทบจะอดตายอยู่รอมร่อ เป็นต้น

ตัวอย่างนวนิยายในแนวนี้คือเรื่องชฮามาน อัตนา กันธา (ที่ดินหกเอเคอร์) ของฟากิร โมหัน เสนาปติ ปัลลีสมรรจ (ชาวชนบท) ของสารัทจันทร์ ฉัตรญี เดหาติดุนนิยา (โลกชนบท) ของศิวบูชา นาสหัย นวนิยายสามตอนของมุลก์ราช อนันต์ ชื่อหมู่บ้าน ดาบกับเคียว และข้ามแม่น้ำดำ สบุจทาตัรกาหินี (เรื่องราวของใบไม้เขียว) ของ ว.ก. วารู อกัลวิลักกุ (ตะเกียงดินเผา) ของอกิลาน กลับสู่ดิน ของ ก.ส. การันธ์ ข้าวสองลิตร ของ ท.ส.พิลไล โกดาน (โคทาน) ของเปรมจันทร์ อิคชาดัร แมลิซี่ (ฉันรับหญิงนี้) ของราเชนทร์ สิงห์ เวท บานาการวาดี (ชนบทไม่มีกำแพง) ของ ว.มัดกุรการ มาเลวา ชีวา (ดวงวิญญาณที่รวมกัน) ของปัณณลาล ปาเตล กุลี วรรณะจัณฑาล และหญิงชรากับแม่วัวของมุลก์ราช อนันต์

เป็นต้น

 

จากดอกฟ้ามาสู่ธุลีดิน

เรื่องสั้นเกิดขึ้นในอินเดียในระยะที่อินเดียกำลังประสบมรสุมอย่างหนัก ความรู้สึกในชาตินิยมกำลังคุกรุ่น ขบวนการของประชาชนเพื่อปลดตัวเองจากการปกครองที่กดขี่ของคนต่างชาติกำลังร้อนแรงอยู่ในประเทศ ผู้ที่เข้าร่วมในขบวนการนี้ก็คือคนหนุ่มสาวที่มีความคิดและปัญญาชนผู้สร้างสรรค์ของอินเดีย เมื่อรัฐบาลใช้วิธีการบีบคั้นอย่างรุนแรง ขบวนการนี้ก็ต้องทำงานอย่างลับๆ นักเขียนในขบวนการนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องทำงานอย่างลับๆ และรวดเร็ว

เรื่องสั้นซึ่งกินเวลาเขียนและอ่านน้อยกว่าเรื่องยาวจึงเกิดขึ้น นักเขียนหันไปใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งที่พูดออกมาอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้ เรื่องสั้นเป็นจำนวนมากที่เขียนเป็นภาษาฮินดี อุรดู และปัญจาบีในระยะนี้ส่วนมากจะกล่าวถึงการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย

ความไม่เป็นธรรมในการปกครองของรัฐบาล และการต่อสู้ของประชาชนมีรูปแบบต่างๆ กัน บ้างก็รุนแรง บ้างก็ไม่รุนแรง ตัวอย่างของเรื่องสั้นดังว่านี้คือเรื่องมะเดื่อ โดยกฤษาณ จันทร และกองทัพประชาชน โดยเปรมจันทร์ เป็นต้น

ต่อมาเรื่องสั้นได้กลายเป็นเครื่องมือของนักเขียนผู้มีความสำนึกในเรื่องความอยุติธรรมของสังคมใช้ประกาศถึงเรื่องราวของคนยากคนจน คนที่ถูกกดขี่ คนที่ยากแค้นขาดแคลนและไร้ปากเสียง นักเขียนได้เผยถึงสภาพของผู้คนเหล่านั้นอย่างมีสีสันและมีชีวิตชีวาเพื่อปลุกเร้าความเห็นอกเห็นใจของผู้อ่าน มันเป็นการปฏิวัติที่เงียบแต่มีพลังยิ่งในวงวรรณกรรมของอินเดีย

ไม่มีเรื่องราวสรรเสริญคนร่ำรวยหรือมหาราชา ผู้ปกครองผิวขาวและพวกพราหมณ์ขี้โกงผู้มีสิทธิ์เหนือหัวมนุษย์อยู่ในหน้าวรรณกรรมของอินเดียอีกต่อไป

มีแต่เรื่องราวของคนธรรมดาสามัญและเรื่องราวของปัญหาที่พวกเขาประสบ ไม่มีนักรบผู้ละโมบต่อไปแล้ว มีแต่ผู้รักชาติ ไม่มีลูกกะโล่ของเจ้านาย มีแต่ประชาชนผู้รับทุกข์ทรมาน ไม่มีการยกย่องเจ้าที่ดินใจโหด มีแต่ชาวไร่ชาวนาผู้ต่ำต้อย ไม่มีเจ้าของโรงงาน มีแต่คนงานกรรมกรอยู่ในเรื่องที่เขาเขียน

 

นักเขียนเริ่มด้วยการขุดคุ้ยลงไปในความยากจนข้นแค้น ความสกปรก และความทุกข์ยากลำเค็ญของคนเหล่านั้น เปิดฝาท่อปล่อยให้กลิ่นเหม็นกระจายออกมา ความน่าเกลียดน่าชังและขี้ริ้วขี้เหร่ปกคลุมอยู่เหนืองานวรรณกรรมเช่นนี้ แต่ความงามแห่งสัจจะยังปรากฏอยู่ทั่วไป

ด้วยความเป็นห่วง ใคร่เผยให้เห็นสภาพของคนยาก นักเขียนจึงได้เลือกเอาคนต่ำต้อยมาเป็นตัวเอกแทนกษัตริย์ เจ้าหญิง เจ้าชาย หรือขุนนาง และเศรษฐีอย่างแต่ก่อน เลือกเอาฉากที่น่าสลดหดหู่ใจ ที่มืดมัวสลัวน่าเวทนามาบรรยายแทนภาพพระราชวัง สวน น้ำพุ และงานเต้นรำ ตัวละครต่างๆ ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนชั่วๆ ดีๆ ปนกัน ไม่ใช่ดอกฟ้าในความฝันที่ไม่เคยมีอยู่จริงอีกต่อไป

เมื่ออินเดียได้รับเอกราชแล้วกลับถูกตัดเป็นสองท่อนขาดกระเด็น ผู้คนนับล้านต้องอพยพหลบภัยจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่ง คนนับพันถูกฆ่าหมู่อย่างน่าสยดสยอง ผู้หญิงถูกฉุดและถูกข่มขืน เด็กๆ ถูกเอาร่างบูชายัญปลายดาบ ทรัพย์สินถูกเผาพินาศและถูกปล้นสะดม

เหตุการณ์อันน่าเศร้านี้ทำให้นักเขียนพากันตะลึงงัน นี่หรือคืออิสรภาพของประเทศที่เขาเคยใฝ่ฝันถึงและต่อสู้เพื่อจะได้มา?

 

นวนิยายและเรื่องสั้นจำนวนมากจึงหลั่งไหลออกมาจากปลายปากกาของนักเขียนเพื่อบรรยายถึงการสูญเสียและสภาพของผู้อพยพหลบภัย วรรณกรรมสมัยนั้นจึงมีริ้วรอยแห่งความเศร้าแฝงอยู่อย่างมาก ยัศปาล อัศก์ โมหัน ราเกษ กฤษาณ จันทร ราเชนทร์ สิงห์ เวท ศีขร และวิริค ฯลฯ เป็นนักเขียนสำคัญในแนวนี้

เรื่องสั้นบางเรื่องที่ไม่น่าลืมคือ โทวาเทคสิงห์ เขียนโดยซาดัท ฮัสซัน มันโต สดาร์ญี โดยควาญา อะห์มัด อับบาส ทั้งสองเรื่องนี้ถูกสั่งห้ามพิมพ์ นอกจากนั้นก็มีรถด่วนเปชาวาร์ โดยกฤษาณ จันทร คนละถิ่น โดย ร.ก. นารายณ์ ลมหมุน โดยสันต์ สิงห์ ศีขร แลกคนบ้า โดยซาดัท ฮัสซัน มันโต ความตายของเชคบุรฮานุดดีน โดยควาญา อะห์มัด อับบาส และเจ้าสาวแห่งญัลกอน โดยกาตาร์ สิงห์ ดักกัลป์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีรวมเรื่องสั้นที่เขียนโดยนักเขียนชาวเบงกอลตะวันออกและตะวันตกชื่อว่าเอกสังก์ (สามัคคี) อีกด้วย

ต่อมาไม่นานผู้คนที่อพยพมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือก็ได้ที่อยู่ที่กิน มีความพยายามใหม่ในประเทศที่จะปรับปรุงสภาพของคนยากจนให้ดีขึ้น

ความพยายามนี้ได้ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมของอินเดียด้วย