ระลึกถึง ‘ผิง พิมพาภรณ์’ และ ‘สยิว’

คนมองหนัง

ระลึกถึง ‘ผิง พิมพาภรณ์’ และ ‘สยิว’

 

ข่าวการเสียชีวิตในวัยเพียง 38 ปี ของ “ผิง-พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์” น่าจะสร้างความตกใจให้แก่คนดูหนังและคนตามข่าวบันเทิงในยุคเกือบๆ สองทศวรรษก่อนอยู่ไม่น้อย

หลายคนอาจรำลึกถึง “ผิง พิมพาภรณ์” จากสถานะนางแบบนิตยสาร หรือในฐานะ “เด็กสยาม” ที่เข้าสู่วงการบันเทิง พร้อมกระแสธารวัฒนธรรมสมัยนิยมแบบ “นิตยสารแคตช์-ค่ายเพลงโดโจซิตี้”

ทว่า งานเขียนชิ้นนี้จะขออนุญาตระลึกถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกสุดที่พิมพาภรณ์ได้เป็นนักแสดงนำ นั่นคือ “สยิว” (2546) ซึ่งกำกับฯ โดย “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” และ “เกียรติ ศงสนันทน์”

จุดน่าสนใจประการแรกสุดของ “สยิว” คือ นี่เป็นหนังที่เล่าถึง “วัฒนธรรมสมัยนิยม/ป๊อปคัลเจอร์” หรือ “วัฒนธรรมย่อย/ซับคัลเจอร์” รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเคยเฟื่องฟูในสังคมไทยยุคกลางทศวรรษ 2530 ได้อย่างสนุกสนานและน่าสนใจ

วัฒนธรรมดังกล่าว ก็ได้แก่ “นิตยสารแนวปลุกใจเสือป่า”

นอกจากนั้น คงเดชและเกียรติยังสอดใส่ “วัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย” แขนงอื่นๆ เข้าไปในหนัง อาทิ บทเพลงของค่าย “นิธิทัศน์” (ไม่ใช่ “แกรมมี่” หรือ “อาร์เอส”) และละครโทรทัศน์ที่ออกฉายช่วงบ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ทางช่อง 9 (ไม่ใช่ “ช่อง 3” หรือ “ช่อง 7”)

เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้ “สยิว” จึงเป็นสื่อบันเทิงที่ย้อนรำลึกถึง “ความทรงจำยุค 90” จากมุมมอง-ประสบการณ์ช่วง “ต้นยุค 2000”

เป็น “การโหยหา-ทบทวนอดีต” ที่ไม่ได้อยู่ห่างจาก “ปัจจุบัน” (ณ ปี 2545-2546) อย่างไกลโพ้น และมิได้เป็น “อดีต” ที่ถูกสร้างเสริมเติมแต่งด้วย “มายาคติ” นู่นนี่มากมายนัก

แถมถ้าประเมินจาก “ความทรงจำของคนยุค 2020” “ความทรงจำยุค 90” ซึ่งโลดแล่นเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาใน “สยิว” ก็เป็น “ยุค 90” ที่หลายคนไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่

คือไม่ใช่ “ยุค 90” ที่มาพร้อมกับเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟ เพลงป๊อปจากบริษัทของ “อากู๋-เฮียฮ้อ” และดาราดังที่อยู่ในกระแสหลักของยุคสมัยนั้น

แต่เป็น “ยุค 90” ที่พัวพันกับกองบรรณาธิการนิตยสารของ “อากังฟู” เพลงฮิตของ “ติ๊ก ชิโร่” “นิค นิรนาม” และ “วงปานามา” ซึ่งอำนวยการผลิตโดย “วิเชียร อัศว์ศิวะกุล” และละครทีวีที่อำนวยการสร้างและนำแสดง (เอง) โดย “สุนันทา นาคสมภพ”

จุดน่าสนใจหรือน่าถกเถียงประการต่อมา คือ “สยิว” พยายามชวนคนดูหนังกลางทศวรรษ 2540 ให้ครุ่นคิดถึงปัญหาเกี่ยวกับ “เพศสภาพ”

ในห้วงเวลาก่อนที่ความหลากหลายทางเพศจะเป็นค่านิยมหลักที่ได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้าง, LGBTQ กลายเป็นคำที่คนส่วนใหญ่เข้าใจความหมาย และการล้อเลียน-หัวเราะเยาะใครว่าเป็น “ตุ๊ด-กะเทย-ทอม” กลายเป็นพฤติกรรมบูลลี่ ที่ “ไม่ถูกต้องทางการเมือง”

ผลงานของคงเดชและเกียรติได้นำเสนอประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วยมุมมองและประสบการณ์ของผู้คนในสังคมไทยยุคทศวรรษ 2530-2540

กล่าวคือ แม้หนังจะมิได้พิพากษาอย่างแข็งกร้าวว่า การมีเพศสภาพที่อยู่นอกเหนือขั้วตรงข้าม “ชาย-หญิง” ถือเป็นเรื่องวิปริต ผิดปกติ และน่าหัวร่อใส่

แต่ “สยิว” ก็ยังมีมุมมองที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยมว่า การเป็น “ทอมบอย” ของตัวละครนำอย่าง “เต่า” (รับบทโดย ผิง พิมพาภรณ์) เป็นเพียงการทดลองหรือกระบวนการเรียนรู้เปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง ที่มีทางเลือกในชีวิตมากพอสมควร

ก่อนที่สุดท้าย เธอจะแต่งงานกับชายหนุ่มที่มักคุ้นกัน และร่วมลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวอันมั่นคง พร้อมมีสถานภาพเป็น “แม่” และ “เมีย” ที่ดี ตามค่านิยมมาตรฐานของ “ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ”

ประเด็นสุดท้ายที่ไม่สามารถมองข้าม ก็คือ “สยิว” เป็นผลงานชิ้นแรกสุดที่ทำให้คนดูหนังไทยรู้จัก “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ไม่ใช่แต่เพียงในฐานะนักร้องนำวงดนตรีเก๋ๆ อย่าง “สี่เต่าเธอ” หรือ “คนทำหนังอินดี้คูลๆ” รายหนึ่ง

หากเขายังเป็นผู้กำกับฯ ที่มุ่งบันทึก “จดหมายเหตุทางการเมืองร่วมสมัย” ลงไปในสื่อภาพยนตร์อย่างแน่วแน่สม่ำเสมอ

ย้อนกลับไปสู่ปีที่ “สยิว” ออกฉาย ขณะนั้น ผมยังเป็นนักศึกษาที่กำลังสนใจวิชาจำพวกปรัชญาและทฤษฎีการเมือง ด้วยเหตุนี้ จากมุมมองของตนเองในวัยเยาว์ คำถามที่คงเดช (และเกียรติ) ทิ้งเอาไว้อย่างแหลมคมชวนขบคิด ก็คือ มนุษย์จำเป็นต้องเป็น “สัตว์การเมือง” หรือไม่?

หรืออาจอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกนิดว่า “สยิว” ตั้งคำถามสำคัญว่า ชีวิตของคนไทย ภาพยนตร์ไทย และสังคมไทย สามารถแยกขาดออกจาก (ความขัดแย้งทาง) การเมืองไทย ได้จริงหรือไม่?

คำตอบที่มีต่อคำถามดังกล่าว ซึ่งปรากฏผ่านหนังเรื่อง “สยิว” คือการฉายภาพว่า ในขณะที่สถานการณ์การเมืองในเดือนพฤษภาคม 2535 ดำเนินไปอย่างร้อนระอุ และมีทหารออกมาทำร้ายประชาชน

กลับยังมีผู้คนอีกไม่น้อย ที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับความจริงและความฝันใน “โลกใบเล็กๆ” ของตนเอง โดยไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง-ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่อย่างใด

หากมีคนสรุปความว่า ผลลัพธ์ของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 คือ การที่ “ม็อบมือถือ” หรือกลุ่มคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ สามารถขับไล่ทหารกลับเข้ากรมกองได้สำเร็จ (เป็นเวลา 14 ปี)

“สยิว” ก็ท้าทายในมุมกลับว่า จริงๆ แล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเติบโตขึ้นไปเป็นชนชั้นกลางผู้มีชีวิตที่ดีได้ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องการเมืองแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดี ในไม่กี่ปีถัดมา คำตอบจากหนังเรื่อง “สยิว” กลับกลายเป็นสารที่ตกยุคพ้นสมัยไปโดยรวดเร็ว ขณะที่คำถามของหนังกลับยังเป็น “คำถามคลาสสิค” ที่ติดค้างอยู่ในใจคนจำนวนไม่น้อย และคงจะเวียนวนอยู่ในหัวของคนทำหนัง เช่น คงเดช ด้วย

โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางการทำหนังของเขาดำเนินคู่ขนานไปกับความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัยระลอกแล้วระลอกเล่าจากยุครัฐบาลทักษิณ ถึงรัฐประหาร 2549 จากความรุนแรงในช่วงต้นทศวรรษ 2550 สู่รัฐประหาร 2557 ซึ่งเปลี่ยนสังคมไทยให้กลายเป็นพื้นที่อันแล้งไร้ความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่

จะเห็นได้ว่าหนังแทบทุกเรื่องของคงเดช พยายามบันทึกอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทางการเมืองเหล่านั้นเอาไว้อย่างแนบเนียนต่อเนื่อง

ถึงเจ้าตัวจะเคยบอกว่าภาพยนตร์ของตนไม่ใช่ “หนังการเมือง” แต่เขาก็ไม่เคยยืนกรานปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่า ไม่มี “การเมือง” ดำรงอยู่ในหนังของตนเอง

เพราะแม้ “การเมือง” อาจมิใช่สารหลักใน “หนังคงเดช” แต่ “ปัญหาการเมืองไทย” ก็เป็นบรรยากาศ-บริบท (บางครั้งแลดูเจือจาง บางคราวสัมผัสได้อย่างเข้มข้น) ที่ห่อหุ้มโอบล้อมเรื่องราวและบรรดาตัวละครของเขาเอาไว้

คำตอบที่มีต่อคำถามสำคัญใน “สยิว” จึงค่อยๆ ถูกพัฒนา-ขยายความให้สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผ่านภาพยนตร์ลำดับถัดๆ มาเรื่องแล้วเรื่องเล่าของคงเดช ซึ่งล้อไปกับพลวัตของความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทย

น่าเสียดายที่ “ผิง-พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์” มีบทบาทปรากฏอยู่ใน “จุดเริ่มต้นแรกสุด” ของผลงานชุดดังกล่าวเพียงเท่านั้น

ก่อนที่เธอจะค่อยๆ ปลีกตัวหายไปจากวงการบันเทิง และอำลาโลกใบนี้ในปี 2565 •

 

คนมองหนัง