E-DUANG :  “ความจริง” ของสถานการณ์ “อุทกภัย”

การออกมา “แถลง” ของ 1 กทม. และ 1 สำนักงานบริหารจัดการ น้ำและอุทกวิทยา

เป้าหมาย ตรงกัน

แห่งแรกระบุ “ข่าวที่มีการส่งต่อในโซเชียล มีเดีย”  แห่งหลังระบุว่า “กรณีมีข่าวเผยแพร่ในโลกออนไลน์”

เท่ากับ 1 ยอมรับต่อบทบาท ความหมาย

เท่ากับ 1 สภาพความเป็นจริงที่โซเชียล มีเดีย หรือ โลกออน ไลน์ ได้เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลเป็นอย่างสูง

มากกว่าข่าวในสื่อ “หนังสือพิมพ์” หรือ “โทรทัศน์”

รายละเอียดของ “แถลง” ดำเนินไปเหมือนกับที่บรรดา “โฆษก” ทั้งหลายเคยเน้นอย่างหนักแน่น

ไม่ว่าจะจาก “ทำเนียบรัฐบาล” ไม่ว่าจะจาก “คสช.”

 

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างความรับรู้ต่อ”ข่าวสาร”จากทางราชการ และจากโลกออนไลน์

ทางการยังยืนยัน สถานการณ์ “ดีขึ้น” ไม่น่าวิตก

“มวลน้ำ” ของเดือนตุลาคม 2560 แตกต่างและน้อยกว่า “มวล น้ำ” ของเดือนตุลาคม 2554

การบริหารจัดการ “น้ำ” ก็ดีกว่า

แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏผ่านโซเชียล มีเดีย หรือ โลกออนไลน์ กลับตรงกันข้าม

ไม่เพียงแต่ได้เห็น “มวลน้ำ” หากยังได้เห็น “การเคลื่อนไหว”

ไม่เพียงแต่ได้เห็น “การเคลื่อนไหว” หากแต่ยังได้ยินทุกสรรพ สำเนียงโดยรอบ

บทบาทและความหมายจึงสูงเป็นลำดับ

 

ความหมายที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ภาพและข่าวอันปรากฏผ่านโลกออนไลน์มาจากคนในพื้นที่

ดำเนินไปในแบบ “นักข่าวพลเมือง”

เขาสัมผัสกับสภาพความเป็นจริงของ “น้ำ” สัมผัสกับการเข้ามาของสิ่งที่เรียกว่า “มวลน้ำ”

และหากเขารู้วิธีที่จะค้นหา “ข้อมูล” เพิ่มเติม ไม่ว่าจะจากเว็บไซต์ของ “จิสด้า” ไม่ว่าจะจากเว็บไซต์ ของ “กรมชลประทาน” ยิ่งทำให้อยู่ในวงจรแห่ง”ข่าวสาร”

การแถลงและทำความเข้าใจจึงจะใช้เพียง”โวหาร”ไม่ได้จำเป็นต้องเอาความจริงที่ “จริงแท้” ออกมา

หาก “ความจริง” ที่ “จริงแท้” ไม่ปรากฏก็ “ยาก”