ยานยนต์ สุดสัปดาห์/จับตาอนาคตรถไฟฟ้า (ไทย) กับปมข้อตกลง “อาเซียน-จีน”

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต [email protected]

จับตาอนาคตรถไฟฟ้า (ไทย) กับปมข้อตกลง “อาเซียน-จีน”

เป็นประเด็นร้อนแรงในวงการยานยนต์เมืองไทยในทันทีที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาระบุถึงอนาคตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ในเมืองไทย ที่กำลังจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น

เรื่องของเรื่องมาจากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จีนจะสามารถส่งรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาขายในเมืองไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการค้าอาเซียน-จีน หรือ “เอฟทีเอ”

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า พยายามจูงใจให้ค่ายรถต่างๆ มาตั้งโรงงานผลิตหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

แต่เมื่อมีเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าอาเซียน-จีน กรณีรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ ส.อ.ท. เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนข้อตกลงดังกล่าว

โดยให้เหตุผลว่าอัตราภาษี 0% อาจส่งผลกระทบต่อแผนส่งเสริมต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เนื่องจากราคารถยนต์อีวีที่นำเข้าจากประเทศจีนตามข้อตกลงจะถูกกว่าการลงทุนผลิตในประเทศมาก

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ออกโรงแนะแนวทางว่า อยากให้ถอดรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจากกรอบเอฟทีเอ แลกกับสินค้าประเภทอื่นแทน

หรือไม่เช่นนั้นต้องหาแนวทางอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ชั้นสูง เป็นต้น

ความห่วงใยของเอกชนในเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ ส.อ.ท. เท่านั้น หากแต่บรรดาค่ายรถยนต์เองก็กังวลในระดับหนึ่ง

เพราะปัจจุบันสินค้าจากจีนไม่ได้มีคุณภาพแย่ไปเสียหมด โดยเฉพาะรถยนต์แม้จะมีแบรนด์จีนแท้ๆ เช่น จีลี่ หรือบีวายดี แต่ก็ใช้โนว์ฮาวจากค่ายดังๆ ทั่วโลก

ขณะเดียวกัน มีค่ายรถจากยุโรปจำนวนมากไปตั้งโรงงานผลิต ที่ใหญ่ๆ ไม่พ้นจีเอ็ม หรือเจเนอรัล มอเตอร์ และโฟล์กสวาเกน ที่ถือว่าเป็นพี่เบิ้มของตลาดรถยนต์ในจีน และยังมีรถยนต์ไฟฟ้าในมือด้วย

ค่ายรถในไทยที่ดูเหมือนจะกังวลไม่น้อยคือ “นิสสัน” เพราะมีแผนจะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น “ลีฟ” (LEAF) เข้ามาลองทำตลาดในไทยอย่างจริงจัง จากก่อนหน้านี้นำเข้ามาทดลองวิ่งผ่านหน่วยงานรัฐ เช่น การไฟฟ้า หรือ ปตท. มาก่อนแล้ว

“ลีฟ” ถือว่าเป็นรถไฟฟ้าที่โด่งดังรุ่นหนึ่งมียอดขายมากที่สุดในโลก หากนำเข้าจากญี่ปุ่นอาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะยังต้องเสียภาษีอยู่ ยิ่งถ้าเอฟทีเอ อาเซียน-จีน มีผลบังคับในต้นปีหน้า รถไฟฟ้าจากจีนอาจจะทะลักเข้ามามากขึ้น

ผู้บริหารของนิสสัน เชื่อว่าหากไม่มีการปรับแก้เงื่อนไขดังกล่าว น่าจะมีผลกระทบต่อแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่มากก็น้อย

เพราะตามแผนของรัฐบาลไทยต้องการให้เกิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงชิ้นส่วนต่างๆ และแบตเตอรี่ ภายในปลายปี 2561 หรือช่วงปี 2562 แต่ถ้าหากจีนอาศัยเอฟทีเอ ส่งรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเริ่มบุกตลาด น่าจะทำให้ค่ายรถต่างๆ ที่กำลังเล็งๆ อยู่ อาจชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูสถานการณ์

ขณะที่ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าผลกระทบมีกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะจะเป็นอุปสรรคกับกลยุทธ์ของประเทศ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นฮับ หรือศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน

เนื่องจากการที่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนสามารถนำเข้ามาขายได้ทั้งคัน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาลงทุน ทำให้เกิดความได้เปรียบอยู่เพียงประเทศเดียว

“ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญในการทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ และยังกระทบกับแผนการพัฒนา 4.0 ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าด้วย” นายพิทักษ์กล่าว และว่า ส่วนผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์กับผู้ที่เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตรงนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนจะเข้ามาทำตลาด และสามารถขายได้มากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้นมีผลกระทบในเรื่องของความได้เปรียบเสียเปรียบแน่นอน

ผู้บริหารค่ายฮอนด้า บอกอีกว่าอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาในข้อตกลงดังกล่าวใหม่ หรือหาแนวทางทำให้เกิดความเท่าเทียม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม นอกจากนี้ การที่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาได้สะดวกขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีตรวจสอบดูแลอย่างเข้มงวด ในเรื่องมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งสำคัญอย่างมากกับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารรถยนต์ค่ายใหญ่อีกแห่ง กลับมองว่าอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอาจไม่สดใสนัก เนื่องจากลูกค้าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ ยิ่งราคาถูกคนซื้อจะยิ่งกลัว แต่ก็อาจมีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจซื้อไปใช้งานด้วยเพราะความถูก แต่เมื่อต้องเข้าศูนย์บริการเพื่อรับบริการหลังการขาย ซ่อมบำรุงอะไหล่ต่างๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ หากไม่มีความพร้อมจริง สุดท้ายลูกค้าก็ต้องเลิกใช้ และบอกต่อจนไม่สามารถทำตลาดต่อได้

“เหมือนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่เคยเข้ามาทำตลาดบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน ได้ลูกค้าไปค่อนข้างเยอะเพราะมีราคาถูก แต่ตอนหลังต้องเลิกกิจการไป เพราะเสียง่าย และไม่มีอะไหล่ไว้บริการ”

ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้น แต่ภาครัฐเองหลังจากนิ่งๆ มานาน มาตื่นตัวกันก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับ

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบพลังงานไฟฟ้าจากจีน ปกติจะเสียภาษี 20% แต่หากเหลือ 0% ในต้นปีหน้า หากมีการนำเข้ามามากๆ อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ รวมถึงแผนส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ

เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาถูกมากเริ่มต้นเพียงคันละ 2 แสนบาท ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาขายในไทย ปริมาณการนำเข้ามากน้อยเท่าใด

คงต้องตามดูกันล่ะครับว่าปีหน้าเมื่อจีนสามารถส่งรถยนต์ไฟฟ้ามาขายในไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีสักบาทเดียว อนาคตตลาดรถยนต์ของไทยจะเป็นอย่างไร

รวมไปถึงอนาคตแผนยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นฐานใหญ่ผลิตรถไฟฟ้าของภูมิภาค จะสามารถเดินหน้าได้ตามที่ตั้งเป้าหรือไม่!??