คุยกับ พิชัย แก้ววิชิต ศิลปินประจำบูธมติชน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27

พิชัย แก้ววิชิต

รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

คุยกับ พิชัย แก้ววิชิต ศิลปินประจำบูธมติชน

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27

 

เริ่มแล้วกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่หนอนนักอ่านเฝ้ารอมานาน เพราะคราวนี้ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติได้กลับบ้านเก่าที่แฟนๆ คุ้นเคยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ปรับปรุงใหม่จนแล้วเสร็จอีกครั้ง

ในปีนี้ สำนักพิมพ์มติชนขนทัพหนังสือใหม่ 9 เล่ม ให้แฟนๆ มาเลือกซื้ออย่างจุใจ พร้อมของแถมและโปรโมชั่นพิเศษมากมายที่รอนักอ่านอยู่ที่บูธ i48 ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 เวลา 10:00-21:00 น.

ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์มติชน ยังคงเลือกให้พิชัย แก้ววิชิต เจ้าของคอลัมน์ “เอกภาพ” ในมติชนสุดสัปดาห์ ช่างภาพอดีตวินมอเตอร์ไซค์ ผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนท้องถนนและบาทวิถี มาถ่ายทอดมุมมองชีวิตจริงของมหานครกรุงเทพฯ ผ่านสายตาของเขาให้แก่ของพรีเมียม ประจำบูธสำนักพิมพ์มติชน

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “BookPath” (อ่านวิถี) ที่ชาวสำนักพิมพ์มติชนนำเสนอให้สอดคล้องกับธีม “Booktopia มหานครนักอ่าน” ของคณะผู้จัดงาน

คอนเซ็ปต์และคีย์วิชวลประจำปีนี้ของสำนักพิมพ์มติชน

เดินบนถนน ไม่เหมือนเดินบนพรม

สําหรับการถ่ายภาพเพื่อนำมาใช้เป็น Key Visual ของพรีเมียมสำนักพิมพ์มติชนในปีนี้ พิชัย แก้ววิชิต เล่าว่า ผลงานในปีนี้แตกต่างจากปีก่อนที่เขาเคยร่วมงานกับมติชน ตรงที่ว่าครั้งนี้มีธีมกำหนดว่าเป็นกรุงเทพฯ ในอีกมุมหนึ่ง และมีคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่า “BookPath (อ่านวิถี) พื้นที่การอ่านที่แสนธรรมดาของ “ทุกคน” และก่อร่างมหานครนักอ่านให้เติบโตไปด้วยกัน” ที่สอดคล้องกับคำว่า “ฟุตปาธ” หรือ “บาทวิถี” ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ตนก็ไม่สามารถที่จะไปถ่ายท้องฟ้า หรือตึกรามบ้านช่องที่คุ้นชินได้อีกแล้ว

ภาพถ่ายที่เลือกใช้ก็จะมีความเป็นภาพแนวสตรีตมากขึ้น เป็นวิถีชีวิตของคนจริงๆ มุมมองที่เลือกใช้ก็อยู่ในความเป็นจริง และไม่ได้ใช้จินตนาการในการถ่ายภาพมากจนเกินไป จะไม่เหมือนงานเดิมๆ ในสไตล์แลนด์สเคปที่เคยถ่าย แต่ภาพจะมีความสมจริงขึ้น เก้าอี้ก็คือเก้าอี้จริงๆ ไม่ใช่แค่เส้นโค้งเส้นตรงอะไรแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความเป็นสไตล์ของเขาอยู่ แต่ว่าภาพถ่ายคราวนี้เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกันของคนในสังคม นี่คือสิ่งที่พิชัยตีความและพยายามถ่ายทอดออกมา

หนังสือใหม่ 9 เล่ม ของสำนักพิมพ์มติชน ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27

สำหรับฟุตปาธนั้น พิชัยไม่ได้คิดว่ามันไม่ได้เป็นแค่ทางเท้า แต่มันเป็นทางที่ทำให้เราเห็นสิ่งที่เป็นความจริงของแต่ละวัน ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจนแค่ไหน ตอนออกนอกบ้าน คุณก็ต้องเดินบนฟุตปาธตลอด

คุณจะเห็นพ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าหน้าที่เทศกิจอยู่บนถนน ผู้คนหยุดซื้ออาหาร ขอทาน วินมอเตอร์ไซค์ คนกวาดถนน ทุกอย่างมันมีชีวิตจริงๆ บนฟุตปาธที่เราได้เห็น ฟุตปาธมันเป็นความจริง การเดินบนฟุตปาธหรือเดินบนถนนมันไม่เหมือนกันกับการเดินบนพรม การเดินบนพรมมันจะเฉพาะกลุ่ม เฉพาะคน เฉพาะโอกาส แต่การเดินบนฟุตปาธเราจะเห็นพื้นที่ได้มากกว่า เห็นผู้คนได้มากกว่า เมื่อเห็นแล้วก็จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเห็น

มันจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกเรา ทำให้เราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมบนฟุตปาธที่เราเดิน

โปรโมชั่นและของพรีเมียม

เดินวันละ 10 ชั่วโมง เพื่อภาพไม่กี่ภาพ

สําหรับการถ่ายภาพเพื่องานครั้งนี้ พิชัยเล่าว่า เขาใช้ภาพถ่ายเก่าๆ ที่เคยถ่ายที่ตรงกับคอนเซ็ปต์ “BookPath” (อ่านวิถี) บางส่วน มาประกอบกับภาพที่ต้องถ่ายใหม่เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลงานตามที่ตนต้องการ โดยที่เขาต้องถ่ายภาพบ่อยขึ้น หรือว่าหามุมให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่สำนักพิมพ์วางไว้

พิชัยเล่าว่า เวลาถ่ายรูปเขาชอบเดินตามตรอกซอกซอย หรือเดินตามท้องถนน เพราะมันละเอียดกว่าการขับมอเตอร์ไซค์ไปตามที่ต่างๆ มันได้เห็น ได้ใช้ความคิดในการวางเฟรม บางวันเขาเดินติดต่อกัน 10-11 ชั่วโมง หยุดพักแค่หยุดกินก๋วยเตี๋ยวข้างทางแล้วก็เดินถ่ายรูปต่อ

แต่ละวัน พิชัยจะเริ่มเดินจากบ้านที่บรรทัดทอง ตอนเวลาประมาณ 9 โมงเช้า เดินไปประตูน้ำ ออกสุขุมวิท และวกไปที่ถนนเพชรบุรี จากนั้นตรงไปจนถึงคลองตัน แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ จบที่พระโขนงประมาณ 4 โมงครึ่ง ขากลับเดินจากพระโขนง วกเข้าคลองเตย เดินเข้าพระราม 4 ออกสวนลุมฯ พอถึงสวนลุมฯ วกเข้าหลังสวนแล้วก็มาออกแถวราชดำริ แล้วก็เดินไปแถวมาบุญครอง สยาม ถึงบ้านประมาณหนึ่งทุ่ม คือเดินทั้งวัน ที่ทำแบบนี้เพราะตนเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเดิน 1 วันเต็มๆ ตนจะเดินได้ไกลถึงไหน

แต่ส่วนใหญ่จะได้ภาพไม่เยอะ คัดทิ้งเสียมาก และต้องเดินกลับไปถ่ายใหม่ในวันถัดไปอยู่เป็นประจำ

พิชัยช้อป สุดเอ็กซ์คลูซีฟ เฉพาะที่บูธสำนักพิมพ์มติชนเท่านั้น

ภาพถ่ายสะท้อนชีวิต

พิชัยเล่าว่า ภาพถ่ายครั้งนี้ที่เขาเลือกถ่าย เป็นแนวสตรีตอาร์ตแบบโทรมๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ และเลือกที่จะไม่ถ่ายภาพห้างสรรพสินค้าสวยๆ หรือโรงแรมแพงๆ ทั้งๆ ที่สถานที่เหล่านั้นอยู่บนถนนเหมือนกัน เพราะว่าภาพแบบนี้มันสะท้อนชีวิตได้ชัดเจนกว่า

จากการที่เขาเคยเป็นวินมอเตอร์ไซค์มาก่อน ทำให้เขาคุ้นชินกับชีวิตริมถนน แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีผู้คนอยู่หลายชนชั้น แต่ส่วนใหญ่คนที่พิชัยเจอมักจะเป็นคนที่อยู่ริมถนน หรือริมฟุตปาธ เวลาที่ถ่ายภาพคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับถนนจริงๆ เขาคิดว่ามันตรงกับสิ่งที่เขาอยากถ่ายทอดออกมามากกว่า และมันสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เขาเลือกถ่าย มันเข้าถึงทุกคน ทั้งร้านมอเตอร์ไซค์ หัวดับเพลิง พื้นที่ฟุตปาธแคบๆ สเปรย์พ่นบนผนังผุกร่อน ทุกคนเคยเห็นอะไรแบบนี้กันมาหมดอยู่แล้ว พิชัยเลยคิดว่าถ้าเขาเล่าเรื่องด้วยอะไรแบบนี้ คนที่เห็นภาพก็น่าจะรู้สึกได้ว่ามันมีชีวิตอยู่ในนั้น พิชัยอยากเล่าเรื่องราวอย่างนี้ เล่าว่านี่คือโลกที่เราอยู่ร่วมกัน นี่คือภาพของสังคม ภาพของการใช้ชีวิตของปุถุชนคนธรรมดาที่พบเจอได้ทั่วไป

และมันก็เป็นการเชิดชูคนธรรมดา คนทำงาน ในอีกทางหนึ่งด้วย

พิชัย แก้ววิชิต

สุดท้ายนี้ พิชัย แก้ววิชิต เชิญชวนให้แฟนๆ นักอ่านมางานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เพื่อกลับสู่บรรยากาศเดิมๆ ที่นักอ่านคุ้นเคย และชวนแฟนๆ มาเยี่ยมชมบูธสำนักพิมพ์มติชน i48 ที่เขารับหน้าที่เป็นศิลปินประจำปีนี้ด้วย

พิชัยมองว่าหนังสือเป็นมากกว่ากระดาษที่ถูกพิมพ์ แต่มันเป็นเข็มทิศ เป็นป้ายบอกทาง เป็นที่ปรึกษา มันทำให้ผู้คนมีอิสระทางความคิด และเมื่อมีอิสระแล้ว มันเหมือนกับการติดปีกความคิด หนังสือทำให้เรามีอิสรภาพจากสิ่งที่เราไม่รู้หรือจากสิ่งที่เราเคยเข้าใจผิดมาตลอด หนังสือมีอิทธิพลมากขนาดนี้ อยากให้ทุกคนมาเลือกซื้อหนังสือกัน

พบสำนักพิมพ์มติชนได้ที่บูธ i48 งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 (รวม 12 วัน) เวลา 10:00-21:00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ชั้น LG ฮอลล์ 5-7) •