‘เวลา’ | หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

‘เวลา’

 

ต้นเดือนตุลาคม

เหลือเวลาอีกไม่นานสายฝนถึงเวลาต้องจากไป เพื่อให้สายลมหนาวซึ่งเดินทางมาถึงเข้าแทนที่

แต่ดูเหมือนว่า สายฝนยังไม่พร้อมจะไป ในป่ากลายเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกกระหน่ำ ตกราวกับจะไม่มีวันหยุด ท้องฟ้ามืดครึ้ม ใบไม้อุ้มน้ำ ฉ่ำชื้นไปทั่วทุกแห่ง กิ่งไม้ ต้นไม้บางต้น รับน้ำหนักความฉ่ำชื้นไม่ไหวก็หัก และล้มลง

ในหุบเขาที่สายฝนตกตลอดคืน และจางลงบ้างเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นสันเขา สายหมอกหนาเข้าครอบคลุม ก่อนที่สายๆ ฝนจะตกลงมาอีก

ไม่มีแสงแดด ตามพื้นเต็มไปด้วยมด ทากชูตัวสลอน ท้องฟ้าไม่เปิดโอกาสให้เห็น ดวงจันทร์กระจ่างนวล แม้อยู่ในคืนขึ้น 14 ค่ำ

เราอยู่กับเส้นทางลื่นไถล ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้น-ลง จากหุบเขาไต่ขึ้นสัน หรือขณะลง บนด่าน รอยตีนช้าง รอยตีนกระทิงเป็นหลุม พื้นโคลนทำให้รอยตีนพวกมันขยายใหญ่กว่าความเป็นจริง

ส่วนเมื่อเดินทางด้วยพาหนะ ต้องขุดดินเป็นบั้งๆ เพื่อให้รถไต่ขึ้นเนินไปได้ รวมทั้งเตรียมพร้อมกับการจมในโคลนร่องลึก เส้นทางสัญจรบางเส้นถูกตัดขาด ระดับน้ำในลำห้วยสูงและเชี่ยวเกินกว่าจะนำรถข้าม

สภาพป่าเป็นเช่นนี้ ในทุกช่วงฤดูฝน เราอยู่กับสภาพแวดล้อมอันเป็นไปตามฤดูกาล ปรับตัวและยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติในช่วงฤดูฝน

เส้นทางถูกตัดขาด อยู่ในแคมป์ซึ่งเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ อาหารจะเป็นเมนูซ้ำๆ ส่วนประกอบสำคัญคือ หน่อไม้

หน่อไม้นี่แหละ บอกให้รู้ว่า เรากำลังอยู่ในเวลาของฝน

 

สําหรับสัตว์ป่า ฤดูฝนเป็นเวลาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝูงช้าง, กระทิง, วัวแดง มุ่งหน้าบริเวณป่าไผ่ หน่อไม้เป็นอาหารชั้นดี

มีน้ำอยู่ทั่วไป ปลักเล็กปลักน้อยในบริเวณแหล่งอาหารซึ่งสัตว์จะมาชุมนุมในฤดูแล้งเงียบเหงา

แต่กับสัตว์ที่น้ำเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างควายป่า พวกมันไม่ไปไหนไกลลำห้วย ช่วงเช้ามืด หมอกหนาปกคลุม พวกมันเดินข้ามลำห้วยเสียงลุยน้ำดังไปไกล และตอนบ่าย ตัวเมียอาวุโสจะพาลูกฝูงลงแช่น้ำ ส่วนตัวผู้โตเต็มวัยถูกแยกให้ออกมาอยู่ลำพัง แต่มันก็ไปไม่ไกลจากฝูงนัก

การอยู่ลำพังนั้นไม่ง่าย ควายป่าบางตัวเลือกแสดงท่าทีก้าวร้าวแทน

คนในป่าพบกับท่วงท่าอันแสดงความก้าวร้าวเสมอๆ เป็นเรื่องปกติที่คนจะโดนควายป่าควบตะบึงเข้าหา

เช่นเดียวกัน มีควายป่าอีกหลายตัวที่เลือกจะหลบ วิ่งหนี เมื่อได้กลิ่นกายคน ในสัตว์ฝูงมักเป็นเช่นนี้

แต่สัตว์ที่อยู่ลำพัง การปกปิดความอ่อนแอด้วยความก้าวร้าว ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา

 

ในหุบเขาสายหมอกหนาเข้าครอบคลุม เสียงปีกแหวกอากาศ ซึ่งดังคล้ายเสียงลมพายุ เบาบางลง นกเงือกกรามช้างกว่า 400 ตัวที่มาใช้ต้นไม้ในหุบเป็นที่นอนทยอยบินจากไปหมด กระทั่งใกล้ค่ำนั่นแหละ พวกมันจึงจะกลับ

ความชื้นมีมากเกินกว่า ชะนีจะส่งเสียง นกส่วนใหญ่ซุกตัวในพุ่มไม้

ฤดูฝนของสัตว์ป่า คือเวลาแห่งความสมบูรณ์ เดินทางไปยังแหล่งอาหาร ตามความรู้ที่ได้รับสืบทอดมา รู้ว่าฤดูกาลใดต้องไปที่ไหน

นกเงือกใช้ช่วงเวลานี้มาอยู่รวมฝูง ก่อนที่ช่วงเวลาของภาระหนักจะมาพร้อมๆ กับสายลมหนาวมาถึง

นกเงือกกรามช้าง – นกเงือกกรามช้าง บินเหนือหุบเขาที่ครอบคลุมด้วยสายหมอกหนา พวกมันบินได้ระยะทางไกลๆ นั่นคือการนำพันธุ์ไม้ไปแพร่กระจายอย่างได้ผล

วันนี้ สายฝนคล้ายจะไม่ยอมหยุด เบาบางลงบ้างในตอนสายๆ แคมป์ในหย่อมป่าเล็กๆ ไม่ไกลจากหุบเขา ฉ่ำชื้น ลำห้วยในหุบที่เราลงไปใช้น้ำระดับเพิ่มขึ้น และการเดินขึ้นแม้จะเป็นด่านที่สัตว์ป่าใช้ ก็เลี่ยงการลื่นไถลไม่พ้น

เกือบ 4 โมงเย็น สมชัย ชายหนุ่มวัยต้นๆ 20 เดินมาถึงแคมป์ สภาพมอมแมม หอบหน่อไม้มาเต็มอ้อมแขน

“นี่เก็บๆ มาจากที่กระทิงหักกินเหลือครับ”

สมชัยเข้ามาทำงานในป่าไม่ถึงปี แต่การเป็นเด็กที่เติบโตในหมู่บ้านชายป่า ทำให้เขามีทักษะเรื่องหาเสบียงในป่าไม่น้อย

เขานำหน่อไม้ล้างน้ำจากหม้อสนามที่เราวางรองน้ำฝนที่ไหลลงจากปลายฟลายชีต ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ และจะแช่ในน้ำเกลือ พรุ่งนี้เขาจะบรรจุในขวดน้ำเปล่าๆ

“ดองเก็บไว้กินครับ” เขาบอก

อยู่ในป่า หาอาหารกินตามฤดูกาล ดูจะไม่ใช่ปัญหา แต่เรามักจะอยากกินพืชผักที่ไม่ใช่ฤดูกาลของมัน อย่างผักหวาน, เร่ว, กระทือ ที่เอามาจิ้มน้ำพริก

“เบื่อหน่อไม้เหรอครับ” สมชัยถามยิ้มๆ เรากินอาหารที่มีหน่อไม้เป็นส่วนประกอบทุกมื้อมาหลายวันแล้ว

ผมไม่ตอบ แค่ยิ้ม เหล่าสัตว์ป่าสอนให้ผมรู้ว่า หากินไปตามฤดูกาลนั้น คือส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต

ผมพยายามทำแบบเดียวกับพวกมัน

 

ฝนไม่หยุดกระทั่งพลบค่ำ ที่ดูเหมือนจะมาถึงเร็ว สมชัยแกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง แถมด้วยหน่อไม้ผัดไข่ สองฟองสุดท้าย

ข้าวสารอยู่ได้อีกสามวัน เราหวังว่าฝนคงหยุด ระดับน้ำในลำห้วยสายหลักจะลดลงพอให้เราข้ามกลับออกไปได้

หน่อไม้เลยช่วงเวลาอันเรียกว่าหน่อไม้อ่อนมาแล้ว มันเริ่มแข็ง หน่อไม้ที่รอดพ้นจากกระทิง อีกไม่นานจะเติบโตเป็นต้นไผ่

ไผ่หนาม ลำต้นสูงใหญ่ปล้องหนาแข็งแรง มันเริ่มต้นจากการเป็นหน่อไม้อ่อนๆ

แต่นั่นต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอควร

“เวลา” ระหว่างหน่อไม้ถึงการเป็นต้นไผ่แข็งแรงนั้นยาวนาน ผ่านพ้นฤดูฝนมาหลายฤดู

เดินผ่านป่าไผ่ ลำต้นแข็งแรง สูงลิบ หลายครั้ง เรานึกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่า ต้นไผ่แข็งแรงพวกนี้ เริ่มต้นจากการเป็นหน่อไม้ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ