พิศณุ นิลกลัด : The Professor

พิศณุ นิลกลัด

วันที่ 22 ตุลาคม อาร์เซน เวงเกอร์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลสโมสรอาร์เซนอล มีอายุเต็ม 68 ปี

อาร์เซนรับงานเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอลมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1996

จากวันนั้นถึงวันนี้ยาวนาน 21 ปี

นานกว่าผู้จัดการทีมทุกสโมสร และนานที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ทั้งๆ ที่อาชีพผู้จัดการทีมฟุตบอล ลีกสูงสุดของอังกฤษนั้นไม่มีความมั่นคง

คนแล้วคนเล่าอยู่ได้ไม่ถึง 6 เดือนก็ถูกไล่ออกเพราะ “ผลประกอบการ” ซึ่งหมายถึงอันดับของทีม ผลงานของทีมไม่ได้ตามเป้าของเจ้าของสโมสร

ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้จัดการทีมพรีเมียร์ ลีก ซึ่งมีทั้งหมด 20 ทีม 20 คน ถ้าไม่นับอาร์เซนซะคน ที่เหลือ 19 คนไม่มีใครเลยที่เป็นผู้จัดการทีมทีมเดียวได้เกิน 4 ปี

ทุกคนล้วนเคยถูกไล่ออก ปลดออก เพราะทำผลงานไม่เข้าเป้า

อาร์เซนเองก็เถอะ แม้จะหนังเหนียว แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมาแฟนอาร์เซนอลเริ่มชูป้ายไล่ออกบนอัฒจันทร์กันมากขึ้น เพราะทีมไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ ลีก มา 13 ปีแล้ว ซึ่งถือว่านานมากสำหรับทีมใหญ่อย่างอาร์เซนอล

 

ถามว่าอะไรทำให้บอร์ดบริหารสโมสรอาร์เซนอลยังเชื่อมืออาร์เซน?

ตอบว่าความเก่ง ความเป็นนักคิด นักบริหาร และความเป็นนักภาษาศาสตร์ครับ

อย่างหลังฟังดูแปลก…เดี๋ยวจะเล่า

ตอนที่มาคุมทีมอาร์เซนอลฤดูกาลแรก นักเตะในทีมก็ไม่เชื่อฝีมือเพราะอาร์เซนย้ายมาจากสโมสรนาโงยาของญี่ปุ่น

โทนี่ อดัมส์ กัปตันทีมอาร์เซนอลในตอนนั้น เล่าว่า ตอนแรกเขาคิดกับตัวเองว่า คนฝรั่งเศสคนนี้ จะรู้เรื่องฟุตบอลได้ยังไง สวมแว่นสายตา บุคลิกเหมือนกับครู นอกจากนี้ เขายังสงสัยว่าพูดภาษาอังกฤษรู้เรื่องหรือเปล่า

แต่ อาร์เซน เวงเกอร์ ก็ทำให้ โทนี่ อดัมส์ หมดข้อสงสัยเมื่อนำทีมอาร์เซนอลให้ได้แชมป์ฤดูกาล 1997/1998 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ 2 ที่คุมทีม

ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่คุมทีมอาร์เซนอล อาร์เซน เวงเกอร์ นำทีมอาร์เซนอลให้ได้แชมป์ถ้วยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ รวม 16 รายการ รวมทั้งเป็นผู้สร้างสถิติที่ยากต่อการทำลายในพรีเมียร์ ลีก คือนำอาร์เซนอลคว้าแชมป์ปี 2004 โดยตลอดฤดูกาลเตะ 38 นัด ชนะ 26 เสมอ 12 ไม่แพ้ใครแม้แต่นัดเดียว

จนได้ฉายาว่า The Invincibles แปลว่าใครก็เอาชนะไม่ได้

 

โทนี่ ลา รูซซ่า ผู้จัดการทีมเบสบอลลีก MLB ที่นำทีมเบสบอล 3 ทีม ตั้งแต่ปี 1979 ถึง 2011 รวม 32 ปี พาทีมได้แชมป์ World Series 3 สมัย ซึ่งความยิ่งใหญ่ก็เปรียบได้กับการได้แชมป์พรีเมียร์ ลีก พูดถึง อาร์เซน เวงเกอร์ ด้วยความชื่นชมว่า การเป็นผู้จัดการทีมได้ยาวนานขนาดนี้ อาร์เซนไม่เพียงแต่จะมีความรู้อย่างมากในเกมฟุตบอลและบริหารจัดการทีม แต่เขายังต้องมีความสามารถในการเข้าถึงนักฟุตบอลอย่างดีเยี่ยมด้วย

ซึ่งโทนี่วิเคราะห์ อาร์เซน เวงเกอร์ ได้ถูกจริงๆ

เพราะสิ่งที่อาร์เซนให้ความสำคัญมากในการเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมก็คือ การสื่อสารพูดคุยกับนักฟุตบอลในทีม

โดยในปี 2013 อาร์เซนได้รับรางวัลภาษาจากหนังสือพิมพ์ Guardian ของประเทศอังกฤษ ชื่อรางวัล Public Language Champion ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่เห็นถึงความสำคัญของการเรียนภาษาอื่นๆ หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเรียนรู้ภาษาอื่น ซึ่งอาร์เซนมีคุณสมบัติตรงทั้งสองประการ

เขาเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้จากการโหวตออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าชิงเป็นผู้มีความสามารถด้านภาษาในวงการต่างๆ เช่น วงการบันเทิง และสื่อสารมวลชน

 

อาร์เซนบอกว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับรางวัล Public Language Champion

นอกจากเขาจะให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ภาษาต่างๆ เป็นอย่างมากแล้ว อาร์เซนอลยังมีโปรแกรม Double Club ที่ส่งเสริมให้เด็กอังกฤษเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน, อิตาเลียน และโปรตุเกส ผ่านการเรียนและการฝึกซ้อมฟุตบอล โดยเรียนรู้เรื่องฟุตบอลเป็นภาษาต่างๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาแม่

เมื่อปี 2011 อาร์เซน เวงเกอร์ ได้พูดให้บรรดานักเรียนของโปรแกรม Double Club ฟังถึงความสำคัญของความรู้เรื่องภาษาต่างๆ ว่ามีประโยชน์มากทั้งในอาชีพผู้จัดการทีมฟุตบอล นักฟุตบอล และรวมถึงการใช้ชีวิตด้วย

อาร์เซนบอกว่าพอมีความรู้เรื่องภาษา ภาษาใหม่ที่เรียนก็จะง่ายขึ้น อย่างเช่น หากเข้าใจภาษาอิตาเลียน เมื่อเริ่มเรียนภาษาสเปนก็จะง่ายขึ้น หากเข้าใจภาษาเยอรมัน เมื่อเริ่มเรียนภาษาอังกฤษก็จะง่ายขึ้น

 

ถามอาร์เซนว่า ช่วงที่ไปเป็นผู้จัดการทีม Nagoya Grampus Eight ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างปี 1995-1996 (เป็นทีมฟุตบอลทีมที่ 3 ในชีวิตที่เขาเป็นผู้จัดการทีม โดยทีมแรก คือทีม Nancy ของฝรั่งเศส ระหว่างปี 1984-1987, ทีมที่สอง คือทีม Monaco ระหว่างปี 1987-1994) เขาสอนนักฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างไร

อาร์เซนตอบว่าช่วงแรกๆ สอนเป็นภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย จึงต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีล่ามชาวญี่ปุ่นแปลจากภาษาอังกฤษเป็นญี่ปุ่น

ผลปรากฏว่า 6 นัดแรกแพ้รวด

ซึ่งอาร์เซนบอกว่านี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาในการเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอล

การแพ้ติดกันแบบนี้ทำให้ประธานสโมสรเรียกเข้าพบ

อาร์เซนบอกว่า เขาเตรียมใจไว้แล้วว่า ถูกไล่ออกแน่ เพราะเวลาที่แพ้ติดกัน 5-6 เกมแบบนี้ หมายความว่า “Bye-bye”

เมื่ออาร์เซนเข้าพบประธานสโมสรนาโงยา ประธานบอกว่า ได้ตัดสินใจเรื่องที่สำคัญมากแล้ว

อาร์เซนซึ่งเตรียมใจว่าตัวเองโดนไล่ออกแน่ ก็ตอบว่า “I understand.”

ประธานก็พูดต่อว่า “ได้ตัดสินใจแล้วว่า จะไล่ล่ามออก!”

อาร์เซนก็บอกกับประธานว่าไม่ใช่ความผิดของล่าม ซึ่งก็ช่วยไม่ให้ล่ามถูกไล่ออกได้สำเร็จ หลังจากนั้นทีมก็ทำผลงานได้ดีขึ้น

 

อาร์เซนบอกว่า เรื่องที่เล่ามานั้น ต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาเวลาไปเป็นผู้จัดการทีมในต่างแดน

นอกจากนี้ การเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ก็สำคัญมาก ซึ่งระหว่างที่เป็นโค้ชที่ญี่ปุ่น อาร์เซนก็มีครูช่วยสอนภาษาญี่ปุ่น เพราะเมื่อเรียนภาษาได้ลึกในระดับหนึ่งก็จะเข้าใจถึงวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ และทำให้เข้าใจคนของประเทศนั้นๆ ได้ดีขึ้น เพราะภาษามีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตัวของคนในสังคม

อาร์เซนพูดถึงความน่าสนใจของการเล่นกีฬากับภาษาว่า แม้คนจะไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็สามารถเล่นกีฬาร่วมกันได้ เพราะใช้ร่างกายในการเล่นกีฬา มีความสนุกร่วมกันได้แม้จะพูดสื่อสารกันไม่เข้าใจ

บ่อยครั้งนักฟุตบอลในทีมไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษ หรือพูดภาษาเดียวกัน ทุกคนก็สามารถเล่นฟุตบอลทีมเดียวกันได้

อย่างไรก็ตาม อาร์เซนเห็นว่าข้อดีของการที่นักฟุตบอลสามารถเล่นฟุตบอลร่วมทีมเดียวกันได้โดยไม่ต้องพูดภาษาเดียวกัน บางทีก็เป็นอุปสรรค

เพราะการที่ทีมจะประสบความสำเร็จ นักฟุตบอลต่างชาติ ต่างภาษา ต้องพูดภาษาอังกฤษสื่อสารกันได้

เพราะยิ่งสื่อสารกันได้ลึกซึ้ง กลไก การเคลื่อนไหว (dynamic) ของทีมก็ยิ่งลึกซึ้งไปด้วย

หากนักเตะในทีมไม่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกัน ก็จะทำให้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นกลุ่มย่อยๆ ในทีม เช่น กลุ่มพูดสเปน กลุ่มทวีปเดียวกัน กลุ่ม ฯลฯ ซึ่งจะทำลายกลไกของทีมฟุตบอล

นักข่าวถามอาร์เซนว่าพูดได้กี่ภาษา

เขาตอบว่า 5 ภาษา คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่นพูดได้นิดหน่อย

ด้วยความเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ เขาจึงได้รับฉายาว่า The Professor