ล้านนา-คำเมือง : ฅำปู้จู้

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “คำปู้จู้”

แปลว่า ดอกดาวเรือง

ในภาษาเหนือ คำว่า “คำ” มีความหมายถึง ทอง หรือสีทอง ซึ่งมาจากสีของดอก ส่วนคำว่า “ปู้จู้” น่าจะมาจากลักษณะของช่อดอกของดาวเรืองซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนๆ กลมๆ คนล้านนาเอาสีสันและทรงของช่อดอกมาตั้งเป็นชื่อเรียกของพืชชนิดนี้

ดอกดาวเรืองที่เราเห็นกันและเรียกกันว่า ดอก นั้น แท้จริงแล้วเป็น ช่อดอก หากจะดูตามองค์ประกอบของดอก จะเห็นว่าประกอบด้วย กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียแล้วนั้น ดอกดาวเรืองหนึ่งดอกก็มีขอบเขตให้เห็นเพียงส่วนที่คนทั่วไปมองว่าเป็นกลีบดอกกลีบหนึ่งเท่านั้นเอง

สังเกตได้ง่ายๆ เมื่อดอกได้รับการผสมเกสรแล้วติดผล หลังจากส่วนอื่นๆ ของดอกร่วงโรยไปแล้วนั้น จะยังคงเหลือส่วนของเกสรเพศเมียที่เป็นส่วนของรังไข่ติดผลอยู่เป็นเม็ดๆ ซึ่งส่วนนี้ก็สามารถเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์และนำไปปลูกในปีถัดไปได้

ดาวเรืองเป็นพืชอายุปีเดียว ต้นจะตายหลังจากดอกบานและติดผล ดังนั้นส่วนที่เรียกว่าเมล็ดดาวเรืองแท้จริงก็หาใช่เมล็ดไม่ หากแต่เป็นส่วนของผลที่เป็นผลแห้งแบบผลของทานตะวันนั่นเองส่วนของช่อดอกของดาวเรือง เป็นดอกช่อที่เรียกว่าช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น หรือช่อดอกแบบมีหัว (head)

ดาวเรืองเป็นสมาชิกในวงศ์ทานตะวัน Asteraceae (Aster มาจากภาษากรีก แปลว่าดวงดาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tagetes erecta L. ชื่อภาษาอังกฤษ “marigold”ในบ้านเรานิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก ร้อยพวงมาลัยเพื่อสักการบูชา

ยิ่งไปกว่านี้ดอกดาวเรืองยังเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 9 ซึ่งนอกจากดาวเรืองจะมีสีเหลืองเช่นเดียวกับสีประจำรัชกาลแล้ว ยังมีความสอดคล้องกับพระจริยวัตรที่เรียบง่าย พอเพียง

เนื่องจากดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่ขึ้นง่าย สวยงาม มองเห็นแต่ไกล และมีประโยชน์อย่างอื่นมากมาย

เช่น สารสีเหลืองในดอกชื่อ แซนโธฟิลล์ ใช้ผสมอาหารไก่ไข่เพื่อให้ไข่แดงมีสีสวย

กลิ่นฉุนของดอกดาวเรืองช่วยไล่ยุงและแมลงศัตรูพืชบางชนิดได้

จึงมีประโยชน์ในการปลูกแทรกในแปลงผักช่วยไล่แมลงศัตรูพืชได้

เดือนตุลาคมปีนี้ดอกดาวเรืองเหลืองอร่ามจะสะพรั่งบานทั่วไทย

เป็นการรำลึกถึง และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ผู้เป็นพ่อของแผ่นดิน