ข้อคำถามจาก 6 ตุลาฯ 2519 | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ข้อคำถามจาก 6 ตุลาฯ 2519

 

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_2953364

เราเดินผ่านการรู้จักไกลนักหนา หลายสิบรอบเดือนตุลาต้นลมหนาว

รำลึกลองมองทางที่ย่างยาว แต่ละก้าวบากบั่นกรำกันดาร

ไม่ใช่ทางเส้นเดียวเกี่ยวกระหวัด หลากรอยเท้าต่างตัดหนทางผ่าน

แต่ความคิดอารมณ์อุดมการณ์ ย่อมไม่ใช่เส้นขนานนิรันดร

เกิดจากความบกพร่องของยุคสมัย แสวงหาสิ่งใหม่ด้วยวัยอ่อน

กลางคลื่นคมลมคลั่งทั้งสาคร เรากางใบลิ่วร่อนท่องทะเล

ลมกระทุ้งคลื่นกระแทกเรือแตกยับ ทางมันคับที่มันข้องต้องหันเห

สีน้ำแปลงแดงเดือดด้วยเลือดเท เราซัดเซห่างตัวผูกหัวใจ

มีอะไรเหลือไว้ในชีวิต ทุกทุกหยาดโลหิตอุทิศให้

บนหนทางย่าวก้าวอันยาวไกล เราพร้อมเดินด้นไปตราบวายวาง

การหลงทางย่อมมีในชีวิต แสวงหาถูกผิดย่อมพลั้งบ้าง

แต่ชีวิตไม่ใช่การหลงทาง หลงแล้วต้องเปลี่ยนถางต้องสร้างทำ

เธอไม่ใช่เทพีที่สูงสุด เธอก็คือมนุษย์ผู้ต้อยต่ำ

เธอไม่ใช่นักทฤษฎีผู้ชี้นำ เธอคือผู้มีธรรมประจำใจ

เธอไม่ใช่นักปฏิวัติหาญงัดฟ้า ต่อคนชั่วเธอหาก้มหัวไม่

เธอไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ใครต่อใคร เธอคิดใคร่เป็นตัวของตัวเอง…

 

การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เริ่มขึ้นจากโครงสร้างความรู้สึกเศร้าสลดเหลือทนของแวดวงนักศึกษาปัญญาชนต่อการฆ่าหมู่ในรั้วมหาวิทยาลัยกลางกรุงและรัฐประหารดังกล่าว และเมื่อโครงสร้างความ รู้สึกที่ว่านี้สั่งสมพอกพูนนานเข้าโดยไม่มีข้อยุติทั้งในแง่ความจริงและความยุติธรรม มันก็กลายเป็นประเพณีของสังคมการเมืองไทยที่อาศัยการทำพิธีกรรมซ้ำเกินกว่าความจำเป็นปกติมาตอกย้ำให้ผู้คนจดจำผูกโยงกับ เหตุการณ์อันเป็นหลักหมายอ้างอิงในประวัติศาสตร์

มันเป็นการนับญาติกับคนตาย สร้างชุมชนแห่งความทรงจำของคนเป็น และก่อต่อเติมเอกลักษณ์ของเราแต่ละคน

ขณะเดียวกัน มันก็เป็นการตั้งคำถามสำคัญต่อสังคมการเมืองไทย ที่วีรชน 6 ตุลาได้ถามทิ้งไว้โดยผ่านการเสียสละชีวิตเลือดเนื้อของตน เพื่อให้สังคมไทยลองแสวงหาคำตอบต่อมันว่า…

ระบอบประชาธิปไตยเป็นแค่เรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลกับการเลือกตั้งผู้แทนไปใช้อำนาจของประชาชนเท่านั้น หรือว่าควรเลยรวมไปถึงความเสมอภาคและภราดรภาพทางเศรษฐกิจสังคมด้วย?

เหตุการณ์นักศึกษาประชาชนลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งครู Benedict Anderson ผู้ล่วงลับเรียกหาว่าเป็นเสมือนการปฏิวัติกระฎุมพี 1789 ของสังคมไทยนั้น (https://newleftreview.org/issues/i181/articles/benedict-anderson-murder-and-progress-in-modern-siam) มุ่งโค่นเผด็จการทหาร เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง

ทว่า มิช้านาน พลวัตที่เป็นจริงแห่งสภาพของสังคมไทยเองก็พัดพาคนรุ่นนั้นให้เดินหน้าไปเผชิญปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่กว้างและลึกกว่า ดังที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลา สะท้อนไว้ว่า :

“ทีนี้พอหลัง 14 ตุลาฯ ขบวนการลงสู่ชนบทเผยแพร่ประชาธิปไตยนี่ มันพาเราไปสู่ทางซ้ายโดยไม่ทันตั้งตัวเลย เพราะเราจะไปเผยแพร่ประชาธิปไตยนี่ มันกลายเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนที่ยากไร้ เขาถูกรุมล้อมด้วยปัญหาไม่เป็นธรรม ถูกข่มเหงรังแกโดยผู้ที่มีเครื่องแบบมีอำนาจ พอรู้ปัญหาเหล่านั้น เราก็เอามาเสนอกับทางรัฐบาล มาประท้วงบ้าง มาเสนอให้แก้ไข มาประสานกับทางรัฐบาลบ้าง เสนอไปมากๆ เราชักเวียนว่ายอยู่กับปัญหาเหล่านั้น ไม่มีเวลามาคิดถึงประชาธิปไตยแล้ว รูปแบบการประท้วงหรือว่าการเอาปัญหาเหล่านั้นมา เสนอโดยตัวของมันเองนี่ มันทำให้เรากลายเป็นซ้ายโดยอัตโนมัติ เช่น ปัญหาค่าแรง หรือว่าปัญหาที่ดินอย่างนี้ ในทัศนะของผู้ปกครอง เขาก็ว่าเราเป็นซ้ายไปแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว” (ปากคำประวัติศาสตร์, 2531, น.106)

หรือหากยืมถ้อยคำของอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สุดยอดเทคโนแครตไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนนั้น อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและคีย์แมนในสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลายยุคหลายสมัยมาแต่ต้น ท่านก็ได้ยอมรับออกมาเองว่า :

“ผมเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือดูแต่ความจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ได้เฉลี่ยถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ตัวด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง…

“อาจารย์บางท่านบอกว่าถ้าเรามัวแต่เอาใจใส่เรื่องความยุติธรรมทางสังคมจะทำให้ประเทศในส่วนรวมเจริญช้าลง ฉะนั้น จึงควรพัฒนาเศรษฐกิจเสียก่อน ถึงควรมีวิธีนี้มา 20-30 ปีแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้ผล อาจารย์บางท่านอ้างว่าความยุติธรรมในสังคมนั้นไม่ขัดกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเรามุ่งช่วยคนจน ปล่อยให้คนมั่งมีเขาช่วยตัวเอง ประเทศทั้งประเทศก็จะเจริญ บางประเทศได้เคยใช้วิธีนี้แล้ว แต่ประสบความล้มเหลว ผมเองเชื่ออย่างตำราหลังนี้…” (80 ปีอาจารย์ป๋วย ชีวิตและงาน, 2539, น.99-100)

จะเห็นได้ว่ามีความไม่พอเพียงของลำพังระบอบเสรีประชาธิปไตยทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของประชาชน ส่วนใหญ่นอกคูหาเลือกตั้งและรัฐสภาออกไป

สภาพปัญหาดังกล่าวโดยตัวมันเองผลักดัน ชักนำและเรียกร้องให้ขยายอำนาจประชาธิปไตยของประชาชน กว้างออกไปกว่าพื้นที่การเมืองการปกครองใต้อำนาจรัฐ และเหยียดยื่นเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจสังคมใต้อำนาจทุนด้วย (democratization of the economy) เพื่อต่อรองถ่วงดุลอำนาจระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนธุรกิจให้เท่าเทียมมากขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ได้

ในฐานะอภิสิทธิ์ชนลูกหลานคนชั้นกลางหรือชั้นสูงที่มีการศึกษา นักศึกษาส่วนใหญ่อาจพึงพอใจและหยุดยั้งอยู่แค่เสรีประชาธิปไตยทางการเมืองได้ ทว่า นักกิจกรรมแห่งขบวนการนักศึกษายุค 14-6 ตุลาทั้งหลายเลือกเดินหน้าต่อสู้เรียกร้อง “ความเป็นธรรมทางสังคม” ต่อไปเพื่อขยายอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนเข้าไปในปริมณฑลทางเศรษฐกิจสังคมด้วย โดยสำนึกแห่งภราดรภาพนิยม (solidarisme) และพันธธรรมทางสังคมของบุคคล (dette sociale) ที่พวกเขารู้สึกติดค้างต่อเพื่อนร่วมชาติร่วมสังคมในนัยแห่งความคิดเศรษฐกิจของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์ (ฉบับขยายความ), 2558)

หรือดังที่คุณ กุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรยายแบบอย่างโครงสร้างความรู้สึกของนักศึกษา ม.ธ.ก. ไว้ตั้งแต่ปี 2495 ว่า :

“นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขามิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่น รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทานและความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น

“ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขาเพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”

(“ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว” วารสารธรรมจักรของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 11 ตุลาคม 2495)

ในปีก่อนการเลือกตั้ง ที่สังคมเศรษฐกิจไทยเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมและลำบากเดือดร้อนกันอย่างหนักหนาสาหัสหลายปีหลังมานี้ คำถามจากการเสียสละของวีรชน 6 ตุลามีกังวานชวนหลอนความคิดจิตใจสังคมการเมืองไทยและนักศึกษาปัญญาชนปัจจุบันอย่างยิ่ง