จาก Mao’s Thoughts มาเป็น Xi’s Thoughts วันนี้ | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จาก Mao’s Thoughts

มาเป็น Xi’s Thoughts วันนี้

 

มังกรยักษ์จะเดินไปในทิศทางไหนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะได้รู้กันในเดือนนี้

ผู้คนทั่วโลกที่สนใจความเป็นไปของจีนกำลังจับตาดูวันที่ 16 ตุลาคมนี้ว่า “สี จิ้นผิง” จะวางทิศทางแห่งโครงสร้างอำนาจของจีนไปทางใด

เพราะวันนั้นคือวันเริ่มต้นของการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำหนดให้ท่านผู้นำต่ออายุไปอีก 5 ปี

ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคก็ต้องมี “ดราม่า” กันเล็กน้อย

นั่นคือการปล่อยข่าวปลอมว่ามีการก่อรัฐประหารในจีน

สี จิ้นผิง ไม่สะทกสะท้าน สื่อทางการจีนไม่เอ่ยถึงข่าวลือด้วยซ้ำไป

ผ่านไปไม่กี่วัน สีก็ปรากฏตัวในงานนิทรรศการพร้อมกับพลพรรคอีก 6 คนของกรมการเมือง

ขณะที่สื่อทางการจีนเริ่มจะเรียกขานสีว่าเป็น “รัฐบุรุษแห่งแนวทางมาร์กซ์” และ “นักคิด” กับ “นักยุทธศาสตร์” อันน่านิยมชมชื่น

ทุกอย่างพร้อมสำหรับการประชุมใหญ่เพื่อปูทางสำหรับโครงการผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดของจีน ที่คนทั้งหลายอยากรู้คือใครจะมาเป็นคณะกรรมการสูงสุดของพรรค 7 คน (เรียกเป็นทางการว่าคณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือ Standing Committee)

และใครจะมาเป็นสมาชิก 25 คนของกรมการเมืองหรือ Politburo ของพรรค

และใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งนี้ครบ 2 เทอมแล้ว

สี จิ้นผิง ปรากฏตัวหลังข่าวลือเรื่อง “รัฐประหาร”…ไม่มีอะไรในกอไผ่

สําหรับสี จิ้นผิง แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคถือเป็น “ไม้กายสิทธิ์” ที่จะใช้เนรมิตทุกสิ่งอย่างได้อย่างน่าพิศวง

เพราะมันคืออาวุธในการกำหนดชุดของกฎเกณฑ์กติกาของพรรคที่ผูกมัดสมาชิกพรรคมากกว่า 96 ล้านคน

และเป็นแนวทางของรัฐที่ “พรรคต้องมาก่อน”

หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในรัฐธรรมนูญของพรรค โดยปกติแล้วจะตามมาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ เช่นเดียวกัน

อย่างที่เคยเกิดขึ้นในการประชุมระดับชาติครั้งล่าสุดในปี 2560

ตอนนั้นมี “อุดมการณ์” ที่เป็นเสาหลักภายใต้ชื่อ “ความคิดของสี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีนสำหรับยุคสมัยใหม่”

หลักการนั้นได้รับการ “ประดิษฐาน” ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมระดับชาติของพรรคในเดือนตุลาคม 2560

เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไปทั่ว

เพราะผู้นำก่อนหน้าสี จิ้นผิง สองคนคือเจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา มิอาจจะทำเช่นนั้นได้

สะท้อนถึงบารมีอันเจิดจ้าและกว้างขวางของ “ท่านสี” อย่างชัดเจน

จากนั้น ในการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งก็คือรัฐสภาของจีน เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ได้มีการเขียนรัฐธรรมนูญแห่งชาติขึ้นใหม่

ที่ฮือฮาเป็นพิเศษเพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นคือการยกเลิกข้อจำกัดวาระหรือเทอมที่กำหนดไว้สำหรับเลขาธิการพรรค

แทนที่จะต้องก้าวลงจากตำแหน่งหลังจากดำรงตำแหน่งห้าปีสองวาระ

ถึงวันนี้ หากตีความตามตัวหนังสือแล้ว ผู้นำสูงสุดของจีนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต

ในการประชุมพรรคครั้งใหญ่ครั้งนี้ จะมีข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไรในครั้งนี้ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ

ถ้าจะมีก็คงรู้กันเฉพาะวงในไม่กี่คน

แต่ที่น่าสังเกตก็คือมีการตั้ง “ศูนย์วิจัย” ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมากมายเพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยหัวข้อที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ในนามประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อย่างคึกคัก

ก็น่าเชื่อได้ว่าคงจะมีการรายงาน “ความคืบหน้า” ของการนำเอา “หลักคิดสี จิ้นผิง” มาใช้ในทางปฏิบัติในทุกรูปแบบอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายต่างประเทศ หลักนิติธรรม อารยธรรมนิเวศวิทยา และเศรษฐศาสตร์

วงการที่จับตาดูความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังพยายามจะเดากันว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้ไขกันบ้าง

เริ่มด้วยชื่อของหลักคิดก่อน

ไม่ต้องแปลกใจหากจะมีการเปลี่ยนหัวข้อหยาวเหยียดว่า “วิธีคิดสี จิ้นผิง เกี่ยวกับสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีนสำหรับยุคสมัยใหม่”

ให้สั้นกระชับเป็นแค่ “ความคิดสี จิ้นผิง”

เหมือนที่อดีตประธานเหมาเจ๋อตุงใช้ว่า “ความคิดของเหมา” (Mao’s Thoughts)

ครั้งนี้อาจจะเหลือเพียง Xi’s Thoughts

ฟังดูมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อย

 

อีกคำถามหนึ่งที่รอคำตอบกันอย่างกระตือรือร้นคือจะมีการเรียกขานตำแหน่งของสี จิ้นผิง ใหม่จาก “เลขาธิการ” พรรค หรือ “ประธานาธิบดี” สำหรับฝ่ายบริหารมาเป็น “ท่านประธานสี” ไหม?

เพราะยุคของเหมาเจ๋อตุงนั้นเรียกขานกันว่าเป็น Chairman Mao

ครั้งนี้อาจจะเป็น Chairman Xi หรือไม่

ศัพท์แสงที่ใช้เรียกท่านผู้นำสูงสุดของจีนมีความหมายที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง

ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนบอกว่าทุกวันนี้จีนเรียกผู้นำว่า “จู่สี” (??)

แต่เริ่มมีสัญญาณว่าอาจจะมีการยกระดับความเป็นผู้นำสูงสุดให้เป็น “หลิ่งซิ่ว” (??)

ประเด็นนี้กลายเป็นหัวข้อแห่งการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

เพราะเจ้าหน้าที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อสี จิ้นผิง ในฐานะ “แกนหลัก” ของพรรค และ “สนับสนุนหลิ่งซิ่วตลอดไป ปกป้องหลิ่งซิ่ว และปฏิบัติตามหลิ่งซิ่วอย่างเคร่งครัด”

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังการกล่าวอ้างถึงอุดมการณ์ในนามของสี จิ้นผิง

ก่อนหน้านี้มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่าด้วย “ความคิดเหมาเจ๋อตุง” และ “ทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง”

แต่ผู้นำคนต่อมาคือเจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทาหา ได้มีชื่อของตนจารึกเป็นหลักคิดของเจ้าตัวที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ประการใดไม่

นั่นแปลว่าสถานะของสี จิ้นผิง วันนี้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเสมือนเป็นการผสมผสานระหว่างเหมาเจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิง เท่านั้น

 

หากจะให้เกิดความชัดเจนจริงๆ ก็อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกระดับสถานะของสีเป็น “ประธานพรรค” จาก “เลขาธิการพรรค” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ก็จะเป็นการยกให้สี จิ้นผิง มีความยิ่งใหญ่เฉกเช่น “ท่านประธานเหมา”

เพราะตำแหน่ง “ประธานพรรค” อยู่ติดตัวเหมาจนเขาเสียชีวิต

พอมาถึงยุคสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง เขายกเลิกตำแหน่ง “ประธานพรรค” กลับมาใช้ “เลขาธิการพรรค” สำหรับคนที่นั่งหัวโต๊ะ

เติ้งบอกว่าที่ยกเลิกตำแหน่ง “ประธานพรรค” ก็เพื่อจะได้ยกเลิกวัฒนธรรมการเมือง “ลัทธิบูชาบุคคล” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า personality cult

จนวันนี้คำว่า “หลิ่งซิ่ว” ถูกเอ่ยขานอีกครั้ง…แม้จะไม่เป็นทางการ แต่ก็ถูกตีความว่าเสมือนเป็นการ “โยนหินถามทาง” หรือไม่

 

หากมีการเปลี่ยนแปลงการเรียกขานสี จิ้นผิง จริงก็อาจจะหมายความถึงการเปลี่ยนให้คนที่มาเป็น “เลขาธิการพรรค” ทำหน้าที่เป็น “แม่บ้าน” ดูแลการประสานงานให้ “ท่านประธาน”

มากกว่าที่จะเป็น “ท่านประธาน” ผู้สั่งการนโยบายระดับชาติในทุกมิติ

เดิมเหตุผลของการแก้ไขจาก “ประธานพรรค” มาเป็น “เลขาธิการพรรค” ก็เพื่อจะได้ให้คนคนเดียวนั้นครอง 3 ตำแหน่งหลักคือ

เลขาธิการพรรคควบคคุมดูกลไกพรรคทั้งหมด (ซึ่งก็ขยายไปสู่การกำกับดูแลฝ่ายนิติบัญญัติด้วย)

ประธานาธิบดี หัวหน้าใหญ่ฝ่ายบริหาร

และประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลางซึ่งคุมกองทัพ

โดยให้ “เลขาธิการพรรค” เป็นผู้บูรณาการให้ครบวงจรแห่งอำนาจทั้งปวง

(สัปดาห์หน้า : กว่าจะเป็น “สี จิ้นผิง” วันนี้)