เสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ ของประชาชนคนบ้านๆ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ ของประชาชนคนบ้านๆ

 

จําอวดละครชาวบ้านประท้วงขึ้นภาษีผักบุ้ง ด้วยการเล่นประชดประชันราชการขึ้นภาษีผักบุ้งในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ (กรุงศรีอยุธยา)

มีคําบอกเล่าว่านายแทนกับนายมีเป็นตัวจําอวดละครได้เล่นหน้าพระที่นั่งประท้วงเรื่องขึ้นภาษีผักบุ้ง

ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ นายสังมหาดเล็กชาวบ้านคูจามรับผูกภาษี กดราคาซื้อผักบุ้งแต่ถูกๆ แล้วขายขึ้นราคา ราษฎรที่เคยขายซื้อผักบุ้งมาแต่ก่อนก็ได้ความเดือดร้อน พากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครนําความขึ้นกราบทูลฯ ด้วยนายสังอ้างว่าทําภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง

ครั้นอยู่มาพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้หาละครชาวบ้านเข้าไปเล่นในวังหลวง จะทอดพระเนตรแก้รําคาญพระราชหฤทัย

นายแทนกับนายมีเป็นตัวจําอวดที่เข้าไปเล่น มีตอนหนึ่งพูดถึงสองหนสามหนว่า “จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี”

พระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังก็หลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่ถามจําอวดทั้ง 2 คนนั้น ครั้นทรงทราบความตามที่เป็นมาก็ทรงพิโรธ มีรับสั่งให้เสนาบดีชําระเร่งเงินคืนให้ราษฎร ส่วนตัวนายสังนั้นเดิมมีรับสั่งจะให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ต่อมาค่อยคลายพิโรธจึงโปรดให้งดโทษประหารชีวิตไว้

นายแทนกับนายมีเป็น “จําอวด” ก็คือตัวตลกซึ่งเป็นชาวบ้านสมัยอยุธยา ส่วนละครชาวบ้านสมัยอยุธยา คือละครชาตรีที่รู้จักจนทุกวันนี้

สำหรับ “ละครนอก” มีกำเนิดสมัยรัตนโกสินทร์ คือ “ละครใน” ที่เล่นเรื่องชาวบ้าน เช่น สังข์ทอง, ไกรทอง เป็นต้น

 

เสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ

ละครนอกมีลักษณะเด่นคือเย้ยหยันท้าวพระยามหากษัตริย์หรือเจ้าเมือง ซึ่งตรงข้ามกับละครในที่ยกย่องท้าวพระยามหากษัตริย์

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “นาฏศิลป์ไทย” (ธนาคารกรุงเทพ จํากัด จัดพิมพ์เป็นอภินันทนาการเนื่องในโอกาส ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีอายุครบ 6 รอบเมื่อ 20 เมษายน 2526 หน้า 18-20) ดังต่อไปนี้

ละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่นดูกันนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาวสารพัด ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุฏในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็นตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละครนอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด

และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้ทรงนิพนธ์รักษาลักษณะของละครนอกไว้ครบถ้วน คือท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี เป็นคนโลเลไม่แน่นอน เป็นคนตลกเลอะเทอะ

แต่คนดีที่เป็นพระเอกจะเป็นชาวบ้าน เช่น ไกรทอง ที่สามารถปราบตะเข้ตะโขงได้ เจ้าเมืองพิจิตรนั้นตะเข้ตัวเดียวก็ปราบไม่ได้ มืออ่อนเท้าอ่อน ส่วนเศรษฐีใหญ่มีเงินมีทองมากมายก็เอาไปใช้ซื้อลูกสาวจากตะเข้ที่มันคาบเอาไปไม่ได้ ต้องหันไปพึ่งไกรทอง ผู้เป็นวีรบุรุษใหญ่โต เป็นต้น

ท้าวสามนต์ในบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี เมื่อพระอินทร์ “นิรมิตเหมือนมนุษย์ชาวพารา” ยกกองทัพ “ไปล้อมพาราท้าวสามนต์” อาการของท้าวสามนต์จะมีต่างๆ กันดังต่อไปนี้

๏ เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ราชนเรนทร์สูร

หลับอยู่ไม่รู้เค้ามูล แว่วเสียงสนมทูลก็ตกใจ

ผวาตื่นฟื้นตัวยังมัวเมีย งัวเงียโงกหงับหลับไปใหม่

นางมณฑาตื่นก่อนนอนไว หลงใหลทะลึ่งลุกปลุกสามี

ท้าวสามนต์ละเมอเพ้อพา คิดว่าผีอําทําอู้อี้

ลุกขึ้นแก้ฝันขันสิ้นที เห็นจะดีหรือร้ายช่วยทายดู

บทท้าวสามนต์จะต้องเงอะๆ งะๆ เอะอะมะเทิ่งเลอะๆ เทอะๆ อยู่ตลอดเวลา ดังกลอนบทละครมักจะมีความคล้ายๆ กันว่า

๏ เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ตัวสั่นพรั่นนักหนา

ทาหน้าเซียวเหลียวดูนางมณฑา หูตาบ้องแบวเหมือนแมวคราว

……….

๏ เมื่อนั้น ท้าวสามนต์เสียใจไม่ได้สิบ

พิไรร่ำโศกาจนตาลิบ แต่อุบอิบอู้อี้ขยี้ตา

……….

๏ เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ร้องรับให้ดีพ่อ

ตบมืออือเออชะเง้อคอ เห็นลูกเขยเป็นต่อหัวร่อคัก

ลุกขึ้นโลดเต้นเขม้นมุ่ง พลัดผลุงลงมาขาแทบหัก

มึนเมื่อยเหนื่อยบอบหอบฮัก พิงพนักนั่งโยกตะโพกเพลีย

ฉวยคนโทถมยามาดื่มน้ำ หกคว่ำสําลักแล้วบ้วนเสีย

หยิบบุหรี่จุดไฟไหม้ลามเลีย วัดถูกจมูกเมียไม่รู้ตัว

นี่แหละ ละครนอก ทำหน้าที่เสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และสมัยนั้นไม่ถือเป็นผิดกฎมณเฑียรบาล

ละครนอกของคณะโขนธรรมศาสตร์ เรื่องสังข์ทอง ตอน “มณฑาลงกระท่อม” ใช้ตัวแสดงเป็นชายทั้งหมด บทเจรจา การแต่งตัวและแต่งฉากให้เหมาะสมกับเป็นละครชาวบ้าน ประกอบการสัมมนาเรื่อง “นาฏศิลป์และดนตรีไทยในชีวิตไทย” จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2515 (ซ้ายบน) นางมณฑาและนางรจนา (ขวาบน) นางมณฑาชมโฉมเจ้าเงาะซึ่งถอดรูปเป็นพระสังข์ (ล่าง) เจ้าเงาะถวายผักผลไม้ (ภาพจาก ลักษณะไทย เล่ม 3 ธนาคารกรุงเทพ จัดพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.2551)

ละครชาวบ้าน

ละครชาวบ้านมีรากเหง้ามาจากการละเล่นร้องรําทําเพลง หรือเพลงโต้ตอบของประชาชนชาวบ้านทั่วไป ที่จับเรื่องมี “นิยาย” เช่น เพลงฉ่อย, เพลงโคราช, เพลงพาดควาย, เพลงเรือ ฯลฯ

ลักษณะสําคัญของการละเล่นพื้นบ้านพื้นเมืองคือบทวิวาทหรือโต้ตอบถึงพริกถึงขิงระหว่างหญิงกับชายที่เต็มไปด้วยลีลาประชดประชัน เย้ยหยัน ถากถาง ล้อเลียน และเสียดสี

เมื่อการละเล่นเพลงมีพัฒนาการเป็นละครชาวบ้านแล้ว แนวทางทะเลาะวิวาทอย่างเดิมก็ไม่ได้หายไปไหน หากติดตามเข้าไปอยู่ในละครด้วย

หลังจากราชสํานักรับละครชาวบ้านไปพัฒนาแล้ว บทวิวาทบาดถลุงด่าทอก็เข้าไปอยู่ในวังด้วย แต่ลดความเข้มข้นลงไปบ้าง เช่น พระราชนิพนธ์บทละครอุณรุท จัดบทวิวาทไว้หลายตอน มีตอนหนึ่งอุณรุทพิโรธหมอผียายมดว่า

๏ อีเอยอีเฒ่า มายาพาที

พกลมเจรจา มายาพาที

อีชาติจัญไร ช่างไม่บัดสี

อวดว่าตัวดี วิ่งหนีไปไย

แม้บทละครพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์กริ้วนางสนมกํานัลก็มีว่า

๏ อี่เอยอี่ทรลักษณ์ กูจักตัดเกล้าเกศี

พาอี่กาลี วิ่งหนีไปไย

มึงมาชวนกัน เย้ยหยันกูได้

ว่าพลางภูวไนย เลี้ยวไล่อลวน

คําประพันธ์ที่ใช้แต่งเฉพาะบทวิวาทบาดถลุงนี้ เป็นแบบแผนกลอนเพลงชาวบ้านที่กลายเป็นกลอนเพลงมโหรี แล้วจัดระเบียบใหม่ให้มีวรรคละ 4 คำตามจังหวะร้อง “รุกร้น” ที่เรียกกันว่าร้อง “สับ” (หรือศัพท์ไทย) ประกอบตีกรับซึ่งมีพัฒนาการมาจากเพลงโต้ตอบของชาวบ้านตอนด่าทอชิงชู้ •

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ