Algospeak คำเกิดใหม่ที่อัลกอริธึ่มจับไม่ทัน | จิตต์สุภา ฉิน

โซเชียลมีเดียดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างให้เราถกเถียงความคิดกันได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัด

แต่อันที่จริงแล้วกรอบของมันแน่นหนาและบางทีก็ไร้เหตุผลกว่าที่คิด

ช่วงหลังๆ มานี้ ฉันเองก็ได้ยินเพื่อนหลายคนบ่นกันอุบว่าแอ็กเคาต์ของตัวเองถูกแบนแล้วแบนอีกเพราะดันไปแตะเรื่องที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงโดยเฉพาะหัวข้ออ่อนไหวทั้งหลาย

ตามปกติแล้วโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มจะมีระบบขั้นตอนการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อตรวจจับถ้อยคำ ภาษา บนสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อกรองสิ่งที่ไม่เหมาะสมออก แต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีคู่มือของตัวเองว่าสิ่งที่มองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง

อย่างเช่น เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเหยียดสีผิว เหยียดเพศ เหยียดศาสนา ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชัง ความรุนแรง หรือเนื้อหาลามกอนาจาร เป็นต้น

ถ้าหากระบบตรวจจับได้ว่าผู้ใช้งานพูดถึงเนื้อหาที่ผิดกฎกติกาที่ตั้งไว้ก็อาจจะตักเตือน ลบ ไปจนถึงลงโทษด้วยการแบนผู้ใช้งานคนนั้นๆ

แต่การจะตรวจจับเนื้อหาจำนวนมหาศาลที่คนทั่วโลกผลิตขึ้นมาใหม่ทุกๆ วินาทีได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยการใช้คนมานั่งไล่อ่านก็คงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฝึกฝนอัลกอริธึ่มขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยป้อนข้อมูลเอาไว้ว่าอัลกอริธึ่มจะต้องมองหาคำไหนบ้าง

 

เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบลบโพสต์หรือคอมเมนต์ของตัวเองทิ้ง ผู้ใช้งานหัวใสจึงคิดค้นกลวิธีใหม่ๆ ในการสื่อสารมาสับขาหลอกระบบ เป็นการสื่อสารที่มีแต่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้นที่จะเห็นแล้วเข้าใจความนัยที่แอบซ่อนอยู่ได้ สิ่งนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Algospeak ที่ย่อมาจากคำเต็ม Algorithm แล้วเอามาชนเข้ากับคำว่า speak สื่อความหมายถึงการพูดแบบตั้งใจหลบหลีกอัลกอริธึ่มนั่นเอง

หลักๆ แล้ววิธีหลบหลีกที่นิยมใช้กันก็คือการหาคำอื่นมาทดแทนคำต้องห้ามที่ระบบจะตรวจจับได้ทันที คำอื่นที่นำมาใช้แทนอาจจะเป็นคำที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับคำที่ต้องการสื่อสารเลยก็ได้ แต่เป็นที่รู้กันในกลุ่มว่าคำคำนี้ถูกหยิบมาใช้เพื่อแทนคำดั้งเดิมคำไหน

นอกจากการหาคำอื่นมาทดแทนแล้ว ก็ยังมีวิธีสุดสร้างสรรค์อย่างการแกล้งสะกดผิด สลับตัวอักษรไปมาภายในคำเดียวกัน หาตัวอักษรภาษาอื่นมาใส่แทนพยัญชนะบางตัว หรือการหันไปใช้อีโมจิก็มี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ภาษาใหม่ที่งอกเงยขึ้นมาทั้งหมดจะถูกเรียกด้วยชื่อว่า Algospeak นี่แหละค่ะ

เทคนิคนี้นิยมใช้กันทั้งในบ้านเราและในระดับโลก ของบ้านเราที่เห็นบ่อยก็คือการจะโพสต์ขายสินค้าหรือโพสต์เกี่ยวกับสินค้าบางอย่างแต่ไม่อยากให้ระบบจัดหมวดหมู่ว่านี่เป็นโพสต์ขายของ ก็อาจจะใช้ตัว v มาแทน ข.ไข่ ในคำว่า ‘ขาย’ เป็นต้น

 

ในระดับสากล การใช้ Algospeak ได้รับความนิยมขึ้นมาจากกรณีที่ศาลสูงสุดของสหรัฐออกคำพิพากษาใหม่ล้มล้างคำพิพากษาเดิมในคดี Roe v. Wade ส่งผลให้รัฐบาลมลรัฐมีอำนาจเต็มอีกครั้งที่จะตัดสินว่าจะอนุญาตให้ทำแท้งเสรีในมลรัฐนั้นๆ ได้หรือไม่ ทำให้ในบางมลรัฐเริ่มจำกัดสิทธิในการทำแท้งเสรีไปแล้ว

โซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มแบนไม่ให้มีการถกเถียงหรือโพสต์ถึงหัวข้อเกี่ยวกับการทำแท้ง ทำให้กลุ่ม pro-choice หรือกลุ่มสนับสนุนให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการทำแท้งเสรีต้องคิดค้นหาวิธีสื่อสารใหม่ๆ เพื่อยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ที่อยากทำแท้งแต่อยู่ในพื้นที่ที่การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

จะคุยกันตรงๆ ก็ไม่ได้ เพราะก็อาจถูกลบหรือถูกแบน ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องคิดค้นหาวิธีที่จะพูดถึงการทำแท้งโดยไม่ต้องใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งเลย

คำที่ถูกหยิบมาใช้ก็อย่างเช่น คำว่า ‘เข้าค่าย’ ‘ไปเที่ยวปารีส’ หรือ ‘ถักไหมพรม’ มีคนหนึ่งอัดคลิปว่า “ฉันอยู่ห่างจากชายแดนมอนทานาแค่ 4 ชั่วโมง ถ้าใครอยากเรียนรู้วิธีถักไหมพรมก็มาเรียนได้นะ ฉันจะช่วยดูแลคุณเอง จะคอยป้อนข้าวป้อนน้ำและคอยโอบกอดในระหว่างที่คุณเรียนด้วย”

บางคนก็ป้องกันระบบตรวจจับด้วยการพูดถึงการไปพักผ่อนวันหยุดที่ปารีส หรือพูดถึงการไปกินปูตินซึ่งเป็นเมนูอาหารสัญชาติแคนาดา ประเทศที่รับประกันสิทธิในการทำแท้งเสรีให้กับผู้หญิงไม่ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ในช่วงไหนก็ตาม

กลุ่มที่สนับสนุนสิทธิการทำแท้งเลือกใช้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นในการสื่อสาร Algospeak เหล่านี้ออกไป แถมยังมีเพลงประกอบที่ทุกคนใช้ อย่างเพลง Paris ของวง The Chainsmokers ซึ่งทางวงก็ออกมาโพสต์วิดีโอตอบรับว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าเพลงจะถูกนำไปใช้ในรูปแบบนี้แต่ก็ดีใจมากที่เพลงที่พวกเขาเขียนช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ได้

Algospeak ถูกใช้ในทุกกลุ่มโดยไม่จำกัดรูปแบบความเชื่อ ล่าสุดกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนที่เรารู้จักกันในชื่อ antivaxxers ก็ผุดไอเดียใหม่ในการหลบเลี่ยงระบบ ด้วยการหันไปใช้อีโมจิแทน

 

‘แคร์รอต’ ในกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ในบ้านเราอาจจะใช้เรียกพระสงฆ์แบบขำๆ แต่สำหรับกลุ่มต่อต้านวัคซีน อีโมจิแคร์รอตได้กลายเป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่ที่พวกเขาเลือกใช้แทนคำว่าวัคซีนเพื่อไม่ให้โพสต์ถูกระบบลบทิ้ง

จริงอยู่ที่อีโมจิรูปเข็มฉีดยาก็มี แต่ถ้าใช้ก็จะดูตรงไปตรงมาจนเกินไปและอาจจะถูกระบบตรวจพบได้ง่ายๆ ถ้าหากหยีตา ทำตาเบลอๆ เอาเสียหน่อย รูปทรงแท่งๆ ของแคร์รอตก็พอจะละม้ายคล้ายคลึงเข็มฉีดยาอยู่บ้าง เรื่องนี้ถูกเปิดโปงโดยนักข่าว BBC คนหนึ่งที่ค้นพบและเล็ดลอดเข้าไปในกลุ่มคนต่อต้านวัคซีนบน Facebook ซึ่งกำลังถกเถียงกันถึงผลข้างเคียงอันตรายที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันอย่างดุเดือด นอกจากนี้ ตัวแอดมินผู้ดูแลกลุ่มเองก็ยังต้องคอยเตือนสมาชิกในกลุ่มด้วยว่า ห้ามพิมพ์คำว่า โควิด วัคซีน หรือบูสเตอร์ เป็นอันขาด

ไม่ว่าจะถูกใช้ไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไรแต่ Algospeak ก็ได้ทำหน้าที่ของมันในการสื่อสารเรื่องต้องห้ามได้สำเร็จ แม้จะไม่สำเร็จตลอดไปเพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ดูแลแพลตฟอร์มก็จะไล่ตามทันและเพิ่ม Algospeak คำนั้นไปอยู่ในรายการคำต้องห้าม (อย่างเช่นกรณีที่จีนไม่อนุญาตให้คนบนอินเตอร์เน็ตพูดถึงหมีพูห์อีกต่อไป) แต่เราก็สามารถคาดการณ์กันได้เลยว่าต่อให้ผู้ดูแลไล่ตามเร็วแค่ไหน

ก็ไม่เร็วเท่าการคิดค้น Algospeak คำใหม่ๆ มาทดแทนแน่นอน