ดอกเบี้ยขาขึ้น ‘Welcome back’ บิ๊กตู่ วัดฝีมือแก้โจทย์หิน นายกฯ มาดใหม่ ผลงานรุ่งหรือริ่ง | บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ดอกเบี้ยขาขึ้น ‘Welcome back’ บิ๊กตู่

วัดฝีมือแก้โจทย์หิน…นายกฯ มาดใหม่

 

ผ่านมาสามปีหลังจากวิกฤตโควิด เหมือนว่ากำลังจะผ่านไป แต่ความท้าทายการทำงานของรัฐบาลไทยก็ยังไม่สิ้นสุด ทั้งผลค้างคาหลังจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งรัฐบาลได้จัดมหกรรมแก้ไขหนี้ภาคประชาชน และที่กำลังมาแรงขึ้นคือ ดอกเบี้ยขาขึ้น ที่เกิดจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาพยายามจะกดอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.75% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่สามแล้ว

ทำให้หลายประเทศได้รับความกดดันจากความแตกต่างของดอกเบี้ย ไม่ว่าจะค่าเงินที่อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว การไหลของเงินทุนต่างๆ โดยประเทศไทยซึ่งต้องรักษาสมดุลให้ได้

เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีก 0.25% รวมเป็น 1.00% ต่อปี จากที่ปรับขึ้นไปแล้วหนึ่งครั้ง ในอัตรา 0.25% เช่นกัน ซึ่งความกดดันต่อมา ได้ส่งผลไปยังสถาบันการเงินต่างๆ และภาคประชาชน

นณริฏ พิศลยบุตร

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง ว่า ตามปกติก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น ดังนั้น คนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นทันที แต่จะกระทบกับการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น ผลกระทบจริงก็อ่อนลงกว่าเดิม และก็จะพยายามวางมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว คงไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียว

“สถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลต่อภาระหนี้สินหรือไม่ เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อเจอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้ จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน จึงไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้ก็จะเจอปัญหา ว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น” นายนณริฏกล่าว

มีการเปิดเผยสถานะเครดิตของคนไทย พบว่ามีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่ม การที่ประชาชนจะแก้หนี้เองคงไม่ง่ายเลย เพราะต้องมีรายได้สูงขึ้นเพื่อนำเงินไปหักหนี้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดเข้ามา รายได้ไม่กลับมา เมื่อนำรายได้ปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิดเป็นฐาน คาดได้ว่ารายได้จะกลับมาปกติก็ปี 2566

“ขณะที่ปัจจุบันหนี้ในระบบมีสัดส่วน 80-90% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าสูง ดังนั้น รัฐบาลควรให้การช่วยเหลือ อาทิ มาตรการมหกรรมแก้ไขหนี้ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะเกิดปัญหาตามมาจนอาจถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี” นายนณริฏกล่าว

ฉัตรชัย ศิริไล

ด้านสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ธอส. กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงินของ ธอส.ได้เตรียมประชุมเร่งด่วน พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทต่างๆ ของธนาคาร อาทิ ประเภทออมทรัพย์ และเงินฝากประจำบางประเภท เพื่อสนับสนุนการออมภาคประชาชน และรองรับการปล่อยสินเชื่อของ ธอส. ที่คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 จะปล่อยได้สูงถึง 3 แสนล้านบาท โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้จะให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุดต่อไป

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ ธอส.ยืนยันจะตรึงเรตเดิมจนถึงปลายปีนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระให้ประชาชนตามนดยบายของรัฐบาล และจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยในปี 2566

“เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกค้าใหม่ที่จะกู้ได้วงเงินน้อยลง เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น 2.ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจจะมีภาระการผ่อนมากขึ้น และ 3.กลุ่มลูกหนี้ปัจจุบันที่อาจจะมีภาระการผ่อนชำระหนี้มากขึ้น เพราะเงินงวดไม่พอตัดต้นกับดอกเบี้ย” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีลูกค้าอยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารวงเงินกู้รวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 2 หมื่นล้านบาทที่อาจเริ่มผ่อนชำระไม่ปกติ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังมีความตั้งใจผ่อนชำระแม้จะได้รับผลกกระทบ และธนาคารจะยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้มารองรับโดยสามารถเลือกผ่อนชำระ 25% 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มทนไม่ไหว ประกาศปรับขึ้นกันเป็นรายวัน นำทีมโดยธนาคารกรุงเทพ ประเดิมเป็นเจ้าแรก ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ในส่วนของเงินกู้ 0.30-0.40% และส่วนของเงินฝาก 0.15-0.50% ต่อแถวมาด้วยธนาคารกสิกรไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยในส่วนเงินฝาก 0.10-0.50% และเงินกู้ เพิ่ม 0.25% แบบเฉพาะกลุ่มรายใหญ่ ตามด้วยธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และเลือกปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เฉพาะลูกค้ารายใหญ่

ดอกเบี้ยขาขึ้น ถือเป็นอีกโจทย์หิน “Welcome back” ต้อนรับการกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อรอการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลออกมาแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้นายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี

หลังจากนี้ ต้องจับตารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาดใหม่ จะเร่งสปีดดูแลเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไป ตีตื้นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งได้หรือไม่