เมื่อ ‘แม่โขง’ ถูกชำเรา ด้วยขยะจากทั่วโลก | เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

เมื่อ ‘แม่โขง’ ถูกชำเรา

ด้วยขยะจากทั่วโลก

 

เมื่อ 23 กันยายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์ นำบทความของแดนนี มาร์กส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองและนโยบายสิ่งแวดล้อม ประจำมหาวิทยาลัยดับบลินซิตี้ ในประเทศไอร์แลนด์ เนื่องในวาระ “วันแม่น้ำโลก”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แดนนี มาร์กส์ เคยเดินทางเข้ามายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเพื่อทำงานและทำวิจัย โดยเฉพาะในขอบเขตว่าด้วยเรื่องธรรมาภิบาลเชิงนิเวศวิทยา

ข้อเขียนของนักวิชาการท่านนี้ สะท้อนข้อเท็จจริง 2 ประการออกมาได้เด่นชัด

ประการแรกคือ ปัญหาขยะนำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสร่างซาร้างราไปจากเวทีข่าวจนหลายคนเข้าใจว่า จบสิ้นกันไปแล้ว ยังคงมีอยู่ และยังคงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสภาวะแวดล้อมของภูมิภาค

ประการถัดมา แดนนี มาร์กส์ สะท้อนให้เห็นว่า ขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่เรามักมุ่งโฟกัสไปที่จุดสุดท้ายที่มันไปปรากฏตัวให้เห็นคือในท้องทะเลและมหาสมุทร แต่ก่อนหน้าที่จะไปถึงจุดนั้นมันสามารถก่อให้เกิดผลเสียหายให้กับเส้นทางน้ำต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง อันเป็นเส้นทางที่ขยะเหล่านี้อาศัยเพื่อไปสิ้นสุดการเดินทางที่มหาสมุทร

ขยะเหล่านี้ก็สร้างอันตรายให้กับสัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลองเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน เหมือนอย่างที่เขากำลังบอกว่า หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังคงรับขยะเข้ามาจากทั่วโลก กำลังชำเราลำแม่โขง ลำน้ำที่เป็นสายเลือดใหญ่ในชีวิตของเราเองอยู่ในขณะนี้

 

ข้อมูลของแดนนี มาร์กส์ แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ปัญหาขยะบรรเทาเบาบางลง แต่ยิ่งกลับทำให้ปัญหานี้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

มาร์กส์ระบุว่า ขยะเฉลี่ยต่อวันของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมอยู่ที่ 2,115 ตัน ในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา กลับเพิ่มพรวดขึ้นเป็นมากกว่า 3,400 ตันต่อวัน

ขยะที่เพิ่มขึ้นมากมายมีทั้งหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง, ขยะจากภาชนะใส่อาหารสำหรับซื้อกลับบ้าน และขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่สั่งจากร้านค้าออนไลน์

ยิ่งไปกว่านั้น การล็อกดาวน์ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของกระบวนการรีไซเคิลขยะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม ต้องหยุดชะงักลง

ก่อนหน้าโควิดระบาด การรีไซเคิลก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์เท่านั้นที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล อีก 12 เปอร์เซ็นต์ถูกนำไปเผา ที่เหลืออีก 79 เปอร์เซ็นต์ไปลงเอยอยู่ในสถานที่ทิ้งขยะหรือไม่ก็เพ่นพ่านอยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพลาสติก ถึงได้ไปลงเอยอยู่ในมหาสมุทรเป็นจำนวนมาก สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เคยศึกษาไว้ในปี 2018 ระบุว่า ในแต่ละปีมีขยะถูกนำพาไปถึงทะเล ถึงมหาสมุทรมากถึง 13 ล้านตัน

จนทำให้ขยะพลาสติกทางน้ำ กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศปัญหาใหญ่ ที่ต้องใช้ต้นทุนในการจัดการสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

 

แดนนี มาร์กส์ ชี้ให้เห็นว่า ภายในปี 2050 ปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทร จะรวมกันมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในมหาสมุทรนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ เขาชี้ให้เห็นว่า 3 ใน 6 ประเทศที่มีมลภาวะจากขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่อยู่ริมแม่น้ำโขง นั่นคือ จีน ไทย และเวียดนาม และย้ำว่า หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นแหล่งทิ้งขยะพลาสติกจากทั่วโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดสภาพปนเปื้อนในน้ำ กระทบต่อการเพาะปลูก และก่อให้เกิดอาการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ

มีพลาสติกจำนวนมากเข้าไปอยู่ในปลา ในวาฬ ในเต่า วาฬหลายตัวที่เกยตื้นตายทั้งในไทยและอินโดนีเซีย พบพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหารหนักหลายกิโลกรัม

พลาสติกเหล่านี้ ในที่สุดก็จะมาลงเอยอยู่ในร่างกายมนุษย์ เนื่องจากสัตว์น้ำเหล่านั้นเป็นอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของผู้คนเป็นจำนวนมากในภูมิภาคนี้

แดนนี่ มาร์กส์ ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียรองรับเอา “ขยะส่งออก” จากทั่วโลกเข้ามาในภูมิภาคถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่ชาติที่มั่งคั่งทั้งหลายสร้างขึ้นไว้ เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในกรณีของสหราชอาณาจักร ที่ส่งขยะพลาสติกของตนออกนอกประเทศถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งหมด เขาย้ำว่า นับตั้งแต่จีนห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กลายเป็น “ที่ทิ้งขยะ” จากชาติมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ตัวเลขชี้ให้เห็นว่าหลังจากการแบนของจีน จำนวนขยะพลาสติกนำเข้าในประเทศอย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว และมีเพียงมาเลเซีย ไทย กับเวียดนาม เท่านั้นที่กำลังจะแบนการนำเข้าขยะเหล่านี้ทั้งหมดในอนาคตอันใกล้

แดนนี มาร์กส์ ชี้ว่า ไม่เพียงต้องห้ามนำเข้าขยะพลาสติกอย่างเด็ดขาดเท่านั้น

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงต้องปฏิรูปการบริหารจัดการขยะพลาสติกภายในประเทศให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่มากอีกด้วย

ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะปรากฏให้เห็นครับ