สัญญาณชัด ‘เศรษฐกิจโลกถดถอย’ เฟดขึ้นดบ.แรง! ‘ราคาทองคำ-น้ำมัน’ ดิ่งต่อ ‘เงินบาท-เยน-ปอนด์’ กอดคอร่วง

ความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” มีสัญญาณชัดและมาเร็วขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง

โดยในการประชุมครั้งล่าสุดปรับขึ้น 0.75% มาอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% และมีเป้าหมายปลายปีดอกเบี้ยสหรัฐจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 4.4%

ขณะที่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ อย่างธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ต่างส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม และล่าสุดพบว่า มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกที่หันมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อ ทำให้สัญญาณเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น

ส่งผลสะเทือนทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ผันผวนและปรับตัวลดลงทั้งตลาดหุ้น ราคาทองคำโลกที่อยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1,624-1,625 เหรียญต่อออนซ์ รวมถึงน้ำมันดิบโลก WTI ลดลงต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลาดต่างเดินหน้าลดถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่าง “ดอลลาร์สหรัฐ”

รวมถึงเงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี กระทบค่าเงินทั่วโลกผันผวนหนัก ปอนด์อ่อนค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ใกล้แตะ 1 ปอนด์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

รวมถึงค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยค่าเงินหยวนในตลาดนอกจีนแผ่นดินใหญ่ (Offshore) เมื่อเช้าวันที่ 28 กันยายน 2565 อ่อนค่าแตะระดับ 7.21 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงขาลง จากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ค่าเงินเยน หนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก จากที่เคยอยู่ประมาณ 115 เยน/ดอลลาร์ ได้อ่อนทะลุ 146 เยน/ดอลลาร์ กดดันให้ทางการญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซงเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี

สำหรับ “ค่าเงินบาท” ของไทยก็อ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้วซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ก็มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่งก็ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า การประชุมเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 กันยายน) เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนเห็นชัดว่าเฟดเอาจริงจะจัดการเงินเฟ้อให้ได้ โดยความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเฟดรับได้ แต่ต้องชนะศึกเงินเฟ้อเท่านั้น

โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกำลังเข้าสู่โซนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ จากช่วงแรกสะเทือนนักลงทุนจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ต่างๆ แต่ช่วงนี้จะกลายเป็นผลกระทบต่อ ภาคการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจจริง และคนทั่วไป

ขณะที่แนวรบตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเข้มข้นขึ้น ทุกคนเริ่มพูดถึงปัญหาใหม่ “ดอลลาร์แข็งค่า” ซึ่งปีนี้แข็งค่าขึ้นประมาณ 20% ส่งผลให้เงินของหลายสกุลทำนิวโลว์ และทำให้ธนาคารกลางต่างๆ อยู่ไม่ติดต้องชี้แจง ต้องเข้าแทรกแซง ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม และปัญหาดอลลาร์แข็งค่าจะไม่จบง่าย โดยจะกดดันทุกประเทศไปอีกระยะ

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ยังประเมินว่า วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้คงใช้เวลาประมาณ 3 ปี นับแต่ต้นปี 2022 โดยเวลานี้เป็นช่วงที่เฟดพยายามเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้ศึกเงินเฟ้อ และเงินเฟ้อเริ่มพีก ซึ่งจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2023 ซึ่งหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปี ที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยโดยอย่างน้อยอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ที่ 5% ขึ้นไป ขณะที่เงินเฟ้อก็จะเริ่มลดลงมาบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง

และในช่วงกลางปี 2023-ปลายปี 2024 จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากจะทำให้โลกจะเข้าสู่ภาวะ Global Recessions (ถดถอยทั่วโลก) ที่ชัดเจนในปี 2023 โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจะตกงานเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัญหาในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ก็จะสุกงอมมากขึ้นทำให้เกิดวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ และกลางปี 2024 เป็นต้นไป เฟดจะเริ่มที่จะลดดอกเบี้ยลงหลังมั่นใจว่าเอาเงินเฟ้ออยู่แล้ว เข้าสู่ช่วงของการกระตุ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

สอดคล้องกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่กล่าวว่า ตอนนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่โลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยแต่ละภูมิภาคมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก

โดยสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจยังค่อนข้างร้อนแรง แต่ด้วยที่เงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเหยียบเบรก เพื่อเอาเงินเฟ้อให้อยู่ ฉะนั้น ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสถูกเหยียบเบรกไปเรื่อยๆ จนเศรษฐกิจชะลอตัว

ส่วนยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูง ก็มีความเสี่ยงที่การบริโภคจะชะลอตัว และยังต้องเจอกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อเบรกเงินเฟ้อ รวมถึงยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงมากกว่าภูมิภาคอื่น และยิ่งหากสงครามกับรัสเซียไม่จบ ก็จะยิ่งมีปัญหา

ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีปัญหาเพราะยังต้องกระตุ้นอยู่ ขณะเดียวกันก็เจอกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ย ไม่เช่นนั้นก็เจอปัญหาค่าเงินเยนอ่อนค่าไปเรื่อยๆ ส่วนจีนก็เจอปัญหาของตัวเอง จากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

“แต่ละภูมิภาคมีความเสี่ยงของตัวเอง ผมว่าความเสี่ยงโลกจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า ตรงนั้นจะค่อนข้างน่ากังวล จะถึงเป็น Global recession หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่แค่ Global Slowdown พร้อมกันก็แย่แล้ว” ดร.พิพัฒน์กล่าว

“สิ่งที่กังวลคือเศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอพร้อมๆ กันในช่วงไตรมาส 1-2 ปีหน้า ทั้งยุโรป อเมริกา รวมถึงจีน ที่ตอนนี้เป็นความหวังเดียว ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็จะกระทบท่องเที่ยวไทย และอาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบไปด้วย”

โดยขณะนี้ทางฝ่ายวิจัย KKP มองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโตได้ 3.3% ส่วนปีหน้าโต 2.5% ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดโตได้ 3.4% และปีหน้าโต 3.6% ซึ่งมาจากสมมุติฐานว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมามากขึ้น ขณะที่การส่งออกปีหน้าคาดว่าจะหดตัว -1% รวมถึงการบริโภคก็โตแผ่วๆ

“ส่งออกปีหน้าเราคาดว่าจะติดลบ 1% ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ ก็อาจจะติดลบมากกว่านี้” ดร.พิพัฒน์กล่าว

เชาว์ เก่งชน
เชาว์ เก่งชน

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีโจทย์สำคัญที่ต้องรับมือ เป็นประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ “เงินบาทอ่อนค่า” ค่อนข้างมาก

“เรื่องค่าเงินบาท กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ แล้ว หลายเดือนก่อนสัญญาณจาก ธปท.ยังออกมาว่าจะประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แต่มาถึงตอนนี้คิดว่า ธปท.คงเปลี่ยนแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะเงินบาทร่วงไปเร็วมาก เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดกันหลายครั้ง เรานิ่งเฉยคงไม่ดี เพราะจะทำให้เป็นเป้าของคนที่จะคิดทำกำไร หรือเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน โจทย์เฉพาะหน้าตอนนี้ คือการทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพ ” ดร.เชาว์กล่าว

แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะค่าเงินอ่อนมากก็ไม่ดี ค่าเงินมีเสถียรภาพต่างหากที่ดี

สิ่งสำคัญคือ ค่าเงินบาทต้องสอดคล้องกับคู่ค้าและคู่แข่ง หากค่าเงินแข็งมากไปขายของแพงก็ลำบาก แต่ถ้าอ่อนเกินไปการนำเข้าก็เสียเปรียบ