เผยแพร่ |
---|
เมนูข้อมูล
นายดาต้า
‘แนวโน้ม’ สวนทาง ‘ความหวัง’
แนวโน้มการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร
คำตอบไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปกันได้ง่ายๆ เลย เนื่องเพราะไม่ได้มีขบวนการเดียวที่กำหนดความเป็นไป
มันง่ายหากจะสรุปด้วยความคิด “ประชาธิปไตย” เพียวๆ ตามการใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนในการเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง
แต่การเมืองไทยไม่ใช่แบบนั้น แต่เหตุที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และนักการเมืองต่างรู้ดีกว่า “ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาสรุปกันง่ายๆ ว่าประชาชนเลือกด้วยเหตุผลอะไร”
เพราะทุกการตัดสินใจล้วนมีเหตุหลายอย่างที่ผสมผสานกันสลับซ้บซ้อน ตั้งแต่ “ความสนิทสนมส่วนตัว ความเป็นพวกกัน พึ่งพากันบารมีกันมา ผลตอบแทนที่แจกมากับการกาบัตร เลยไปถึงความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ความคิด”
ส่วนประสมเหล่านี้ย่อมส่งผลแตกต่างกันในผู้ใช้สิทธิแต่ละคน
การคาดหมายว่าเป็นเช่นไร ก่อนหน้านั้นอาจจะมีเพียงแค่อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมานำมาประเมินว่าเหตุไหนที่สำคัญต่อการตัดสินใจของคะแนนเสียงส่วนใหญ่มากกว่า
การประเมินด้วยวิธีนี้จึงทำให้ราคาของ “ผู้ที่เป็น ส.ส.อยู่แล้ว” หรือ “ผู้มีชื่อเสียง มีบารมีในพื้นที่” สูงกว่า “คนใหม่” ที่แม้จะมีความรู้ความสามารถ และมีอุดมการณ์มากกว่า
ด้วยเหตุนี้เองการใช้พลังดูด “คนของบ้านใหญ่ เจ้าถิ่น เบอร์หนึ่ง” ในพื้นที่จึงเป็นกระแสหลักในการคัดตัวผู้สมัครของแต่ละพรรค
เริ่มจากแย่งซื้อใจผู้สมัคร ไปถึงแข่งกันสร้างความพร้อมในการซื้อคะแนนจากประชาชน
ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง ไม่เชื่อว่าวิธีตัดสินใจของประชาชนจะเปลี่ยนไป
และนั่นยังเป็นแค่มิติที่เอาการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง
ซึ่งหากเชื่อว่าแนวโน้มการเมืองจะเป็นไปในแนวทางนี้
ผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดจะน่าสนใจยิ่ง
เช่น ในคำถาม บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, ร้อยละ 21.60 น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย), ร้อยละ 10.56 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล), ร้อยละ 10.12 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 9.12 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย), ร้อยละ 6.28 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย), ร้อยละ 2.56 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะที่ร้อยละ 2.40 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย), ร้อยละ 2.16 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ร้อยละ 2.12 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนา), ร้อยละ 1.92 ระบุว่าเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (พรรคสร้างอนาคตไทย), ร้อยละ 1.68 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) และร้อยละ 3.12 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ (พรรคเพื่อไทย) และ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล)
มองจากผลโพลที่ถือว่าเป็นภาพสะท้อนการเลือกของประชาชน
ตัวขายของพรรคการเมืองหลายพรรคที่เชื่อว่าประชาชนจะซื้อ ดูหมดท่าอย่างยิ่ง มองไม่เห็นทางเลยว่าจะทำให้พรรคได้คะแนนเสียงจากประชาชนได้อย่างไร
ทว่า แนวโน้มการเมืองจริงๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ปัจจัยที่เข้ามาแทรกซ้อน และมีอิทธิพลเหลือกว่าการจัดสินของประชาชนมีอยู่ และพิสูจน์แล้วใช้มีอิทธิพลต่อความเป็นไปมากกว่าเสียงของประชาชนเสียด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็น “อำนาจในโครงสร้างและกลไกที่ออกแบบไว้เพื่อการสืบทอด-ทุนที่จะทุ่มเพื่อเปลี่ยนการตัดสินใจของประชาชน การใช้อำนาจขององค์การอิสระเพื่อทำลายคู่ต่อสู้”
เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ มีให้เห็นในการเมืองไทยตลอดมา และเชื่อกันว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น น่าจะถูกควบคุมด้วยสิ่งเหล่านี้
และนั่นเอง คนที่ประชาชนไม่ได้ให้ราคาเลย กลายเป็นผู้ที่คลุกคลีการเมืองใกล้ชิดกลับให้ราคาสูง
เหมือนจะยินยันแนวโน้มทางการเมืองจริงๆ สวนทางกับความหวังของประชาชน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022