คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระคเณศ (อีกเถอะ) : พระคเณศเพศหญิง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในโลกของศาสนาฮินดู สรรพสิ่งทั้งปวงย่อมแบ่งออกเป็นทวิภาวะหรือภาวะคู่ เป็นไปเช่นนี้ไม่ว่าในมนุษยโลกหรือเทวโลก

ฟังดูคล้ายหลักเต๋า ทว่า ทวินิยมหรือความเชื่อว่าความจริงมีสองด้านหรือสองสิ่งเข้มข้นยิ่งนักในปรัชญาอินเดีย ซึ่งที่จริงคือแนวคิดโบราณของทั้งโลก

กล่าวในเชิงปรัชญา ท่านว่าในหลักสางขยะ (อ่าน สาง ขะ ยะ) หรือหลักปรัชญาโบราณที่สุดสำนักนึงของแขก จักรวาลนี้มีธรรมชาติแท้อยู่สองสิ่ง

อย่างแรกเรียก “ปุรุษะ” คำนี้จะแปลว่า “บุรุษ” หรือบุคคลเพศชายก็ได้ แปลว่าบุคคลเฉยๆ ก็ยังได้ ในหลักสางขยะหมายถึงธรรมชาติแท้ที่มีลักษณะตรงข้ามวัตถุ เป็นจิตบริสุทธิ์ในลักษณะแบบ “บุคคล” คือรู้คิดได้และมีสำนึกเกี่ยวกับตัวเอง คล้ายพูดถึงอาตมัน (self) ของปรัชญาฮินดูเวลาต่อมานั่นแล

เป็นเนื้อแท้ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

 

ทว่า ปุรุษนี้ ไร้สภาวะของวัตถุ มันจึงไม่สามารถแปรเปลี่ยนหรือทำให้เกิดสิ่งใดได้ จึงมีสิ่งจริงแท้อีกอย่างเรียกว่า “ประกฤติ” คำนี้แปลว่า “ธรรมชาติ” อธิบายหมายถึง ธรรมชาติที่มีลักษณะปราศจากการรู้คิด ทว่า ทรงไว้ซึ่งพลังอำนาจไร้ทิศทาง สามารถแปรเปลี่ยนและก่อกำเนิดสิ่งต่างๆ ได้

เปรียบเทียบให้ง่าย ปุรุษะคล้ายจิต ประกฤติคล้ายกาย ปุรุษคือคนตาดีทว่าเป็นง่อย คือ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ส่วนประกฤตินั้นคล้ายคนตาบอด ทว่า ร่างกายแข็งแรง ทั้งสองคนนี้จะไปไหน ปุรุษะต้องขี่คอคอยบอกพาให้ประกฤติแบกพาไป

สองสิ่งนี้เข้าร่วมกัน จึงก่อเกิดจักรวาลและสิ่งมีชีวิต ทว่า หลักนี้ยากแท้จะอธิบายให้คนธรรมดารู้เรื่อง ท่านถึงอุปมาว่า ปุรุษะนี่คือพระเป็นเจ้าผู้ชาย ส่วนประกฤติคือพระเป็นเจ้าผู้หญิง เทพเจ้าของฮินดูจึงมีทั้งสองเพศ ล้วนแต่พระเจ้าทั้งคู่ซึ่งทำหน้าที่ต่างกัน แต่อยู่ร่วมกันดุจ ผัว-เมีย

ในคำบูชาพระนามทั้งหลายของเทพ เทพชายจึงมักมีพระนาม ปุรุษะ ปรากฏด้วยเสมอ ส่วนพระเทวีเทพสตรีนั้น ก็มักปรากฏพระนาม “ประกฤติ”

โดยหลักข้างต้น เทวบุรุษ ย่อมไม่สรรสร้างสรรพสิ่ง ทว่า ควบคุมสรรพสิ่งจากภายใน (ภาษาแขกเรียก อันตรยามี) เทวสตรีเท่านั้นที่ทรงอานุภาพสร้างสรรค์สิ่งได้ พระองค์จึงถูกเรียกว่า “ศักติ” ซึ่งแปลว่า “พลัง”

ทว่า ในระดับลึกที่สุด พระเจ้าไม่เป็นทั้งชายหรือหญิง หรือจะกล่าวว่า เป็นทั้งชายและหญิงก็ได้ เพราะพระองค์เป็น “สภาวะ”

ที่จริงผมอยากจะบอกว่า พระนามของเทพทั้งชายหญิงนั้น มักใช้พระนามเดียวกันเสียด้วย เพียงแต่คำศัพท์สันสกฤตมีเพศ ก็ผันชื่อนั้นไปตามเพศ หลักง่ายๆ ว่า คำเสียงยาวหรือลงท้ายอีมักเป็นคำนามเพศหญิง เช่น ศิวะ คือ พระศิวะ, ศิวา ก็คือพระแม่เจ้า ซึ่งใช้พระนามเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้จึงมีเทพทั้ง ศิวะ ศิวา, พรหมา-พรหมี, วิษณุ-ไวษณวี, อินทระ-อินทราณี ฯลฯ

และแน่นอนย่อมมี คเณศ-คเณศวรี, วิฆเนศวร-วิฆเนศวรี, วินายกะ-ไวนายกี ฯลฯ

 

ผมเล่าหลักปรัชญามายืดยาวเพื่อจะบอกว่า การมีเทพเจ้าสตรีที่เหมือนเทพเจ้าผู้ชาย เช่นพระคเณศ ที่ต่างกันแค่เพศนั้น (ในประติมานวิทยาของพระองค์ต้องทรงแสดงสัญลักษณ์ทางเพศเต็มที่ เช่น มีพระปทุมถันใหญ่โต) ไม่ได้เป็นความคิดอ่านอุตริของใคร ทว่า เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยเหตุสองประการ

ประการแรก คือหลักปรัชญาแห่งภาวะคู่ดังที่ผมจาระไนมาข้างต้น

ประการที่สอง คือการที่บทบาทของสตรีเพศในโลกโบราณฮินดูยังเข้มข้นกว่าในสมัยหลังมาก มากเสียจนกระทั่งเทพเจ้าเองจะต้องสะท้อนภาวะของสตรีเพศด้วย และได้รับการนับถือเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในนิกาย “ตันตระ” หรือศากตะ ซึ่งให้พื้นที่และบทบาทของสตรีมากเป็นพิเศษ

ในปัจจุบัน เทวรูปพระคเณศสตรีล้วนแต่สร้างขึ้นใหม่จากการค้นหาของศิลปิน

คนไทยรู้จักพระคเณศสตรีดีพอสมควรซึ่งน่าแปลกใจ เพราะอาจมากกว่าในอินเดียเสียอีก

ผมเข้าใจว่า เพราะมีสล่าบางท่านพยายามเผยแพร่รูปพระคเณศวรีนี้ ซึ่งท่านคงอยากให้เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของตนเองกระมัง หรืออาจเป็นจุดขายสำคัญ

แต่ส่วนความเข้าใจที่มีต่อรูปเคารพนี้ผมไม่แน่ใจนักว่าท่านที่สนใจจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

 

รูปเคารพพระคเณศสตรีที่ปรากฏในอินเดียนั้นหายากมาก และโดยมากมักปรากฏกับกลุ่มเทวีอื่นๆ เช่น สัปตมาตฤกา หรือโยคินีต่างๆ คือนอกจากเป็นพื้นเมืองด้วยกันดังที่ผมชอบย้ำแล้ว เมื่อมาอยู่ในคณะพระเทวีก็ย่อมต้องแสดงอิตถีภาวะของพระเจ้าออกมาด้วย

คือในมณฑลแห่งพระเทวี เทพทั้งปวงล้วนอิตถีภาวะทั้งสิ้น

มีรูปเคารพอีกแบบ ซึ่งแปลกประหลาดไปอีก เรียกว่า วยาฆรปาท คเณศาณี รูปเคารพนี้นอกจากจะทำเป็นพระคเณศในรูปสตรีเพศแล้ว ยังให้มีเท้าเป็นเสือด้วย และนับว่าเป็นหนึ่งใน “รุทรคณะ” คือบริวารของพระรุทระหรือพระศิวะ

ผมยังค้นไม่เจอว่าทำไมพระศิวะจึงต้องมีบริวารที่เท้าเป็นเสือ นอกจากพระคเณศาณี เช่น ฤษีวยาฆรบาท ซึ่งพบบ่อยกว่า ชะรอยจะมีความหมายบางอย่างกระมัง

นอกจากในอินเดีย ในเนปาลก็มีการสร้างพระคเณศาณีด้วย และมักปรากฏในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน

ในฝ่ายวัชรยาน พุทธภาวะก็อาจปรากฏในอิคถีภาวะหรือปุรุษภาวะก็ได้ เช่น สมันตภัทร-สมันตภัทรี

พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในระดับ “สัมโภคกาย” หรือกายอันเป็นทิพย์ซึ่งเสพเสวยโภคะนั้น ย่อมปรากฏชายาด้วยเสมอ เช่น อวโลกิเตศวร มีชายาคือ “ตารา” เป็นต้น และในบางปางจะปรากฏอยู่ในท่า “ยับยุม” หรือร่วมสัมพันธ์กัน อันแสดงการรวมกันของ “ปัญญาและกรุณา” ซึ่งทำให้เข้าสู่พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

แต่ในอินเดียและเนปาล น้อยมากที่จะปรากฏพระคเณศในฐานะพระธรรมบาลของพุทธศาสนา ร่วมกับชายาในท่ายับยุม หรือร่วมเพศ

แม้แต่ในคัมภีร์ตัตตวะนิธิของอินเดียซึ่งรวบรวมปางต่างๆ ของเทพไว้ พระคเณศบางปาง เช่น ศักติคณปติ หรือ อุจฉิษฏคณปติ อย่างมากก็นำงวงวางไว้ยังที่ลับของพระชายา หรือกระหวัดรัดถันพระเทวีเท่านั้น ผิดกับเทพของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน

 

ที่แปลกแสนแปลก คือ เรากลับพบพระคเณศ ในท่าใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในวัชรยาน คือท่ากอดกัน และพบใน “ญี่ปุ่น” เท่านั้น

ที่ญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ของพระคเณศบางอย่าง ซึ่งรับผ่านพุทธศาสนาวัชรยานหรือมนตรยาน (ในญี่ปุ่นเรียกว่านิกายชินงอน) โดยพระปรมาจารย์กูไก ซึ่งนำพุทธศาสนาวัชรยานมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง และคงรับพระคเณศในฐานะธรรมบาลมาด้วย

พระคเณศในท่ากอดกันนี้ เรียกว่า “กังกิเตน” คือเป็นเทพเศียรช้างสององค์ มีทั้งยืนกอดกันและนั่งกอดกัน

สันนิษฐานว่า พระในพุทธศาสนาวัชรยาน ต้องการให้พระคเณศในฐานะพระธรรมบาลนั้น แสดงท่าให้ปรากฏดุจเดียวกับบรรดาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปลาย

ดังนั้น การกอดกันนั้นจึงเท่ากับแสดงท่าใกล้เคียง “ยับยุม” ส่วนพระเทพช้างที่พระคเณศทรงกอดนั้น ก็น่าจะแสดงถึง “ศักติ” หรือชายาของพระองค์ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ

น่าประหลาด เพราะในอินเดียนั้น ชายาพระคเณศมักแสดงรูปมนุษย์สตรีเสมอ ไม่เคยปรากฏว่าเศียรเป็นช้างเลย ถ้าเป็นเทพเศียรช้างแต่ปรากฏรูปสตรีก็ว่าเป็นคเณศาณี ซึ่งไม่ค่อยนับว่าเป็นชายา แต่เป็นพระคเณศในอิตถีภาวะ

เรื่องพระคเณศยังคงมีอะไรให้คุ้ยแคะแกะเกาอีกเหลือประมาณ

โปรดอย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อน