หลังเลนส์ในดงลึก/”รอ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“รอ”

ต้นเดือน ตุลาคม พ.ศ.2560

สายฝนโปรยพรำๆ กระทบหลังคากระเบื้องของอาคารขนาดย่อม รายล้อมด้วยความมืด แสงไฟขาวนวลจากพลังงานเครื่องปั่นไฟ มีแมลงเม่าเข้าเกาะหลอดไฟ และบินวนรอบๆ

เราเปิดไฟไว้เพียงดวงเดียว ล่อให้แมลงไปอยู่ที่นั่น กับข้าวเราวางไว้อีกโต๊ะ

หลังจากฝ่าสายฝนที่ตกค่อนข้างหนักมาตั้งแต่ออกจากจังหวัดกาญจนบุรี ผมถึงจุดหมายเกือบสองทุ่ม

ชัยพร ชายหนุ่มผอมสูงผิวคล้ำ นั่งร่วมอยู่ในโต๊ะ เขาออกมาประชุมลาดตระเวนประจำเดือน พรุ่งนี้จะเดินทางกลับหน่วยพิทักษ์ป่า

“ทางกลับมาเป็นสภาพเดิมแล้วครับ” เขาบอกข่าวไม่สู้ดีนัก

ฤดูแล้งที่ผ่านมา มีการปรับปรุงเส้นทางระหว่างสำนักงานเขต และหน่วยพิทักษ์ป่า กระทั่งราบเรียบ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่เคยหนักหนา และใช้เวลาตามปกติราว 2 ชั่วโมง ในกรณีรถไม่มีปัญหา เหลือเพียง 20 นาที โดยไม่ต้องใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อด้วยซ้ำ

ทางกลับสู่สภาพเดิม นั่นหมายความว่า สภาพ “ทางดีๆ” หมดไปแล้ว

“ฝนตกหนักติดต่อมาสามวันแล้ว ห้วยดงวี่ จะข้ามได้ไหมไม่รู้” ชัยพรพูดต่อ

เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ที่การเดินทางในป่าแห่งนี้จะถูกควบคุมโดยธรรมชาติ

“จากนี่ไปหน่วยผมเคยใช้เวลา 11 วันครับ” เขาพูดถึงการเดินทางในระยะทาง 50 กิโลเมตรแบบขำๆ

ผมยิ้มกับเพื่อนร่วมทีม ผมบอกพวกเขาล่วงหน้าแล้วว่า มาทำงานที่นี่ อย่านัดใครหรือมีกำหนดว่าต้องเสร็จวันไหน เพราะมีปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้หลายประการ

เราอาจต้องใช้เวลาหลายวัน รอให้ระดับน้ำลดเพื่อข้ามลำห้วย หรือหากข้ามไปได้แล้ว ในขากลับ ถ้าระดับน้ำเพิ่มก็จำเป็นต้องรอ

“ข่าวดีคือ พรุ่งนี้ พิทักษ์ ฉายา “ทักษ์ตีนระเบิด” จะกลับหน่วยเรา ตามเขาไปไม่เหงาแล้ว” ผมพูดขณะนึกถึงผู้ชายร่างใหญ่ที่เดินทางอยู่บนเส้นทางนี้มากว่า 20 ปี สามเดือนก่อน ผมเอาเฟืองท้ายมาให้เขาเปลี่ยน เฟืองท้ายเดิมที่พัง และผมจอดเจ้านิค พาหนะไว้ในป่า

แต่เรื่องที่ชัยพรบอกต่อมาคือ “ข่าวร้าย” สำหรับผม

“ไอ้หมอกไปแล้วนะครับ”

ไอ้หมอก คือแมวตัวผู้สีตุ่นๆ ตัวโต คล้ายเป็นหนึ่งในสมาชิกของหน่วย

“ไม่มีมันสเปรย์ใส่รองเท้า ใส่ที่นอนแล้ว” ชัยพรพูดเบาๆ

“กับคนอื่น มันก็ไม่สเปรย์ นอกจากหม่องโจ”

ไอ้หมอก นับว่าเป็น “คู่ปรับ” ผมก็ว่าได้

มันจะพ่นฉี่ใส่อุปกรณ์ทุกอย่างของผม แม้ว่าจะสามารถหยอกล้อ เล่น รวมทั้งแบ่งไออุ่นอยู่ข้างๆ กองไฟร่วมกันได้

“มันถูกเสือดำเข้ามากัดถึงในครัวครับ” ชัยพรบอกสาเหตุการจากไปของไอ้หมอก แมวซึ่งนับเป็นเพื่อนสนิทของเขา

ฝนตกอย่างต่อเนื่องช่วงเดือนตุลาคม ในป่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร อีกไม่นาน ถึงเวลาที่สายลมหนาวจะเดินทางมาถึง

ในบันทึกการทำงานของผม ตุลาคมคือเวลาที่แหล่งอาหารเสริมอย่างโป่งต่างๆ จะคึกคัก

กระทิงรวมฝูงลงโป่ง พร้อมๆ กับฝูงวัวแดง

พวกมันเคลื่อนย้ายแหล่งหากิน จากแถวเชิงเขาที่เป็นป่าไผ่ หน่อไม้โต และแข็ง ใบไม้แก่ อีกไม่เกิน 2 เดือน ต้นไม้ต่างๆ ก็จะลดการใช้น้ำ

อากาศจะเย็นยะเยือก ท้องฟ้าแจ่มใส

มะกอกเกลื้อน เป็นต้นไม้ต้นแรกๆ ที่ใบเริ่มเปลี่ยนสี ใบสีส้มแทรกอยู่ท่ามกลางต้นอื่นๆ ดูเด่นสะดุดตา

มะม่วงหัวแมลงวัน เป็นอีกต้นที่เห็นเด่นชัด พวกมันออกดอกสีเหลืองอ่อนๆ มองเห็นทั่วไปบนสันเขา

ต้นไม้ต้นอื่นๆ เช่นกัน ถึงเวลาที่กระบวนการลดการใช้น้ำเริ่มต้น

ใบไม้แห้งปลิดปลิว บนพื้นมีใบไม้สีส้ม สีเหลืองปกคลุม

ฝนในฤดูกาลนั้นไม่ใช่ปัญหา

แต่การที่ฤดูกาลไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นนั้นใช่

กลางเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง

ครั้งหนึ่งในป่าห้วยขาแข้ง จู่ๆ สายฝนก็กระหน่ำหนักติดต่อกันสามวัน

หลังพายุฝนผ่านพ้น อุณหภูมิลดต่ำเหลือไม่ถึง 10 องศาเชลเซียส จากที่ก่อนพายุฝน อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศา

“มีนกนางแอ่นหลายชนิดตกลงมาตายจำนวนมากเลยครับ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ รายงานให้หัวหน้าทราบ

นกนางแอ่นที่ตาย คือพวกที่อพยพหนีความหนาวเย็นมาจากถิ่นกำเนิดของพวกมัน

สำหรับสัตว์ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหันทำให้พวกมันพบกับปัญหา

ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆ สัตว์ป่าพอจะรับมือได้ พวกมันหลายชนิดปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง

แต่ก็มีบ้างบางสายพันธุ์ พวกมันไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมง่ายๆ

นี่คือความยากลำบากประการหนึ่งที่สัตว์เหล่านี้ต้องเผชิญ

จะเรียกว่าเป็นสภาวะเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ หรืออะไรก็ตาม

ชีวิตทั้งหลายไม่ว่าสัตว์หรือคน

ต่างก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพบกับสภาพอันแปรเปลี่ยนของฤดูกาล

นกนางแอ่นส่วนหนึ่งรับมือกับความหนาวเย็นไม่ไหว

อาจมีสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะลูกสัตว์ป่า ล้มตายเพราะความหนาวเย็นที่มาอย่างผิดช่วงเวลา

แต่ก็เถอะ เหล่าสัตว์ป่ามี “สัญชาตญาณ” มีประสบการณ์มากพอที่จะเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นไปได้

“พ้น” ไปจาก “ผล” ที่พวกมันไม่ได้เป็นผู้กระทำ

ฝนยังคงปรอยๆ เมื่อเราเริ่มออกเดินทาง

“ระดับน้ำมาก แต่ขาไปพอข้ามได้ เพราะเราตามน้ำไป” พิทักษ์รับข่าวจากวิทยุ

“ยังไงๆ วันนี้ต้องกลับให้ถึงหน่วย ดึกอย่างไรก็ได้” พิทักษ์ย้ำพลางกดคันเร่งเบิ้ลเครื่องสอง-สามครั้ง

“เมียคงสั่งไว้” ชัยพรพูดเบาๆ เป็นเรื่องปกติของผู้ชายทำงานในป่า ที่คำสั่งเมียคือสิ่งซึ่งต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

การเดินทางค่อนข้างราบรื่น แม้ว่าหล่มจะลึก และเส้นทางค่อนข้างลื่นไถล

แต่การตามรอยล้อรถคันหน้า ที่ผู้ขับใช้เส้นทางนี้มาเนิ่นนานช่วยได้มาก

พิทักษ์ถอยกลับมา ช่วยดึงเจ้านิคขึ้นจากหล่มที่ติด ช่วยใหhใช้เวลาน้อยลง ไม่เสียเวลากับการต้องใช้วินช์

ถึงจุดหมายร่วม 3 ทุ่ม นับว่าทำเวลาได้ดีในสภาพทางอย่างนี้

ครัวเล็กๆ ริมห้วย เสียงน้ำอื้ออึง

สาธิต หรือที่เพื่อนๆ เรียก ไมเคิล หุงข้าวรอ เขาย้ายกองไฟมาไว้ใต้หลังคา ให้ความอบอุ่นและไล่ความชื้นไปได้บ้าง

แมวสีขาวดำตัวหนึ่งนอนขดตัวข้างกองไฟ

“นี่เจ้าบุญเหลือครับ มาแทนหมอก” ไมเคิลแนะนำ

ผมมองแมวที่ปรือตามองตอบ

“เจ้านี่ก็เหมือนเจ้าหมอกครับ ไม่เคยยุ่งกับสัตว์เล็กสัตว์น้อยเลย เอาแต่นั่งดู กลางคืนก็ไปนอนกับเสือผอม” ไมเคิลรับรองความประพฤติสมาชิกใหม่

“ผมเป็นคนมาพบซากเจ้าหมอก” ไมเคิลเล่า

ค่ำนั้น ราวๆ สองทุ่ม ไมเคิลเดินมาที่ครัว เขาจะเข้าไปคีบขั้วแบตเตอรี่เพื่อเปิดไฟ

“แค่ก้าวเท้าเข้าไปตรงนี้” เขาชี้ที่ทางเข้าซึ่งมีชั้นวางของทางซ้ายมือ

“เสือดำมันตะปบเข้าที่ขาสองข้าง พร้อมๆ กับกัดที่โคนขาขวาเลยครับ” ไมเคิลเล่าด้วยน้ำเสียงปกติ

เสือดำที่แอบอยู่ตกใจ พยายามหนี แต่ปะทะเข้ากับไมเคิลก่อน

“แผลไม่ลึกหรอกครับ มันตกใจไม่ได้ตั้งใจทำร้ายหรอก”

เขาให้ผมดูรอยจุดๆ ตรงขา

“ซากเจ้าหมอกอยู่ตรงนั้น” ไมเคิลชี้ไปข้างลำห้วย

“เสือไม่ได้กินนะครับ เจ้าหมอกคงไม่หนี และจะสู้น่ะเลยโดน”

ผมนึกถึงแมวที่เปรียบเสมือนคู่ปรับ

มันคงสู้โดยไม่รู้เลยว่า ขนาดร่างกายของมันเล็กกว่าเพียงใด

ฝนตกต่อเนื่อง

เรานั่งข้างกองไฟ บุญเหลือนอนหลับตาพริ้มบนตักชัยพร หรือฉายา เสือผอม

หลายวันผ่านไป มันไม่วุ่นวายหรือพ่นฉี่ใส่ของ

เสียงน้ำอื้ออึงรอบๆ หน่วย แต่อีกไม่นาน สายลมหนาวจะเดินทางมาถึง ท้องฟ้าจะสดใส บนภูเขาจะได้รับการแต่งแต้มด้วยใบไม้หลากสี

แต่ตอนนี้สายฝนยังไม่หยุด

เราต้องรอ

ใช้เวลาที่ “รอ”

เตรียมกายและใจให้พร้อม เพื่อพบกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง