จัตวา กลิ่นสุนทร : “ศิลปากร” รวมใจ น้อมใจ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

วันเวลาเปลี่ยนแปลงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกจากหัวใจอันเปี่ยมล้นไปด้วยความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยต่อองค์ “พ่อหลวง” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ความสูญเสียโศกเศร้าปกคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน เมื่อองค์มิ่งขวัญของพสกนิกรไทยทั้งประเทศ “สวรรคต”

แผ่นดินไทยปกคลุมไปด้วยความโศกเศร้า และ “สีดำ” เนื่องจากราษฎรต่างพร้อมใจกันสวมใส่อาภรณ์เหมือนกันหมดตลอดทั้งปีเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ อาลัย แด่องค์พระประมุขซึ่งเป็น “พ่อแห่งแผ่นดิน” เป็นทุกสิ่งทุกอย่างสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์

พสกนิกรจากทุกสารทิศทั่วแผ่นดินต่างเดินทางมาเมืองหลวงเพื่อกราบพระบรมศพ ณ พระบรมมหาราชวังตลอดทั้งปี 2560

 

1ปีเต็มสำหรับการเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเมรุมาศยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ตามพระราชประเพณีรวมทั้งริ้วขบวนซึ่งมีการเตรียมพร้อมซักซ้อมกันแบบเหมือนจริงในวันพระราชพิธี

ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมาประชาชนทั้งแผ่นดินรวมใจเป็นหนึ่งเดียวทำความดีถวายพ่อของแผ่นดินในทุกรูปแบบ ใครไม่มีความสามารถเฉพาะทางหนึ่งทางใดก็ลงมือหันมาทำความดีพร้อมทั้งน้อมนำแนวทางพระราชดำรัสทั้งหลายของพระองค์ท่านไปปฏิบัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นไม่เฉพาะแต่นำไปปฏิบัติกันจนประสบความสำเร็จในประเทศของเราเท่านั้น ต่างประเทศต่างก็ยอมรับ และน้อมนำไปเผยแพร่ให้ประชากรของเขาปฏิบัติเช่นเดียวกัน

สำหรับประชาชนคนไทยนั้นใครมีความสามารถ ถนัดด้านไหนทำอะไรถวายแด่ “พ่อหลวง” ได้ ต่างก็ลงมือทำกันทันทีโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

 

ในฐานะที่สำเร็จการศึกษามาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสถาปนาขึ้นมากว่า 70 ปีแล้ว โดยใช้พื้นที่ติดกับกรมศิลปากร ก่อนเติบโตมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นจึงได้ขยายพื้นที่โดยได้รับความเมตตาอนุเคราะห์ให้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนในในบริเวณวังท่าพระ อันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ไม่ห่างไกลกับพระบรมมหาราชวัง แม้จะมีวิทยาเขตออกไปยังจังหวัดนครปฐม ก็ยังอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังสนามจันทร์ เรียกได้ว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรเกิดและเติบโตขึ้นมาแบบไม่ห่างไกลพระราชวัง

คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ชื่อก็บอกอยู่อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นการเรียนการสอนวิชาศิลปะ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นักศึกษาของคณะวิชานี้จึงใช้ความรู้ความสามารถด้านศิลปะที่ศึกษาเล่าเรียนมาแสดงออกถึงความจงรักภักดีเป็นการถวายความอาลัยด้วยการเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมนำออกมาติดตั้งให้ประชาชนทั่วไปได้ชมบริเวณริมกำแพงวังท่าพระด้านถนนหน้าพระลาน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559

ครั้งนั้นเป็นการรวมตัวกันอย่างรวดเร็วของนักศึกษาชั้นปีที่ 2

ยังจำข้อความที่อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล ซึ่งเป็นอาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า

“พวกเขากำลังรัวพู่กันผ่านไปราว 2 ชั่วโมงครึ่งแล้ว ที่นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทุ่มสุดใจสุดฝีมือแสดงออกถึงความอาลัย จงรักภักดีต่อ “ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9″ คาดว่าในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า พสกนิกรของพระองค์ จะได้กราบชม ณ แนวกำแพงวังท่าพระ (มหาวิทยาลัยศิลปากร) ตรงข้ามกำแพงพระบรมมหาราชวัง”

 

เวลาผ่านไป 1 ปีเต็ม นักศึกษาเหล่านั้นเติบโตขึ้นไปเรียนในชั้นปีที่ 3 ขณะเดียวกันผลงานอันรวดเร็วฉับพลันของพวกเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้รุ่นพี่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์” ซึ่งจะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ในชั้นแรกจึงพยายามสนับสนุนเรื่องเงินทุนสำหรับเป็นค่าน้ำดื่ม อาหาร ฯลฯ

ต่อมา สมาคมนักศึกษาเก่า ซึ่งคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เป็นกรรมการอยู่ด้วย ได้ดำเนินการสานต่อจัดทำเป็นโครงการ “ศิลปากรรวมใจถวายพ่อหลวง”

ชักชวนคณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดุริยางคศาสตร์ ฯลฯ ให้มาบรรเลงเพลง พร้อมระดมนักศึกษาเก่า อาจารย์ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) จนถึงศิษย์ปัจจุบันมาช่วยกันเขียนภาพในโครงการหัวข้อ “ในหลวงของประชาชน” โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ พร้อมบริการอาหาร น้ำดื่มต่างๆ

โดยระดมศิลปินทั้งหลายมาลงมือกันตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ได้ผลงานจิตรกรรม+ประติมากรรม จำนวน 89 ชิ้นเท่ากับพระชนมพรรษาของ “พ่อหลวง”

 

ผลงานชุดนี้มีขนาดใหญ่ (2.40 X 2.40 เมตร) ซึ่งศิลปินละแวกหน้าพระลานได้แบ่งเวลาเป็น 3 ช่วง เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ครั้งละ 2 วัน รวม 3 ครั้ง เท่ากับ 6 วัน สะบัดฝีแปรงกันเป็นผลสำเร็จได้ผลงานจิตรกรรม 89 ชิ้น และประติมากรรม จำนวน 11 ชิ้น

การสร้างผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ขนาดใหญ่จำนวนมาก (89 ชิ้น) ย่อมต้องใช้อุปกรณ์ในการสร้างงานไม่น้อย เช่น โครงไม้สำหรับทำกรอบ (Frame) สำหรับใช้ขึงผ้าใบ (Canvas) พู่กัน สี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีอะครีลิก (Acrylic) อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาสูงต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อหา ซึ่งก็ได้รับการร่วมมือจากศิษย์เก่าบ้าง ประชาชนทั่วไปบ้าง แต่คงต้องบอกกันตรงๆ ว่าไม่น่าจะเพียงพอ

ในที่สุดก็มีการติดต่อกับบริษัทเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ให้เข้ามาสนับสนุนเงินเป็นตัวเลขจำนวน 7 หลักโดยว่ากันว่าไม่ได้หวังประโยชน์ตอบแทน (มากนัก) นอกจากขอเป็นเจ้าของผลงานบ้างจำนวนหนึ่ง และดูเหมือนจะมีสิทธิอื่นๆ อีกในผลงาน เพราะขณะนี้ก็มีการนำผลงานเหล่านั้นไปจัดนิทรรศการในห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน

และถ้าหากจำไม่ผิดก่อนหน้านี้ก็เคยมีการจัดนิทรรศการมาบ้างแล้ว

 

เวลาผ่านไป 1 ปีเต็ม ผลงานของนักศึกษาริมกำแพงวังท่าพระ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการวาดภาพบนไม้อัดก็เกิดผุพังเสียหายบ้าง ต้องมีการซ่อมแซม และวาดกันขึ้นใหม่

นายฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “การวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ตามโครงการศิลปากรรวมใจน้อมใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีการจัดกิจกรรมเสวนา และเขียนรูปสดจำนวน 9 ภาพให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว

โดยพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 อยู่ในพระอิริยาบถต่างๆ ให้นักศึกษาได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ใช้เทคนิคสีอะครีลิก (Acrylic) บนผ้าใบ เน้นสีเทา ดำ และซีเปีย (Sepia) ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ก่อนหน้านี้ตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคตใหม่ๆ ได้วาดภาพไปติดบนกำแพงหน้าประตูมหาวิทยาลัยศิลปากรมาแล้ว คราวนั้นยังอยู่ในภาวะโศกเศร้า เหตุการณ์ผ่านมาแล้วเกือบปี ในครั้งนี้ภาพที่เขียนออกมาจะสื่อให้ประชาชนได้ระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย”

บริเวณกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร (ด้านท่าช้าง) นักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ทั้งศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า และอาจารย์ประมาณ 50 คนร่วมกันวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ บนผ้าใบขนาด 1.90 X 2.60 เมตร รวมทั้งสิ้นจำนวน 9 ภาพ เพื่อน้อมถวายแด่ “พ่อหลวง” และนำมาติดไว้ริมกำแพงวังดังกล่าว

พระองค์ คือดวงใจไทยทั้งชาติ

น้อมเกล้าฯ ถวายความอาลัยด้วยใจภักดี

ธ สถิตในดวงใจ ตราบนิจนิรันดร์