สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามไปดูครูเขมร หนังคนละม้วน (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

Thank You

Ors Koun ขอบคุณ

ลาก่อน แล้วพบกันใหม่นะครับ

เสียงร่ำลาทั้งภาษาอังกฤษ ไทย กัมพูชา ดังต่อเนื่องจนแขกคนสุดท้ายในคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ออกจากห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ กัมพูชา มุ่งหน้าต่อไปสู่จุดหมายตามนัดแห่งที่สอง

ณ สถานเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ครูโตซ บันโดล กับ ครูดี โสพอน ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนที่ 1 และ 2 มารออยู่ก่อนแล้ว

ท่านณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูต สวัสดีทักทาย กล่าวต้อนรับ ดร.กฤษณพงศ์ ประธานมูลนิธิแนะนำตัวและคณะที่ร่วมเดินทางมา ภารกิจเพื่อมาพบครูกัมพูชาผู้ได้รับคัดเลือก พามาเยี่ยมคำนับและเล่าเรื่องราวผลงานต่างๆ ของครูให้ผู้แทนประเทศไทยได้ทราบ เพื่อร่วมสนับสนุนต่อไป

โครงการนี้มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นกรรมการมูลนิธิโดยตำแหน่งด้วย

 

“ในส่วนของประเทศไทย กระบวนการคัดเลือกครูทำตั้งแต่ระดับจังหวัด มีภาควิชาการ ภาคการศึกษา ภาคสังคม ภาคธุรกิจ ช่วยกลั่นกรองโดยคนจำนวนมากนับพันคน คัดครูเหลือ 150 คน ส่งมาให้คณะกรรมการกลางตัดสิน นอกจากรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แล้วรองลงไปยังมีรางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์”

“ครูไทยที่ได้รับรางวัลครั้งแรกและครั้งที่สอง สสส. ให้ทุนพัฒนาต่อยอด 1 ปี ให้ครูขยายผลกับเพื่อนครูในโรงเรียน สร้างเครือข่าย ทำงานกับคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลิตครูรุ่นใหม่ ต่อไปต้องไปสอนหนังสือ” ประธานมูลนิธิ เล่าตามลำดับ

“สิ่งที่มูลนิธิกำลังคิด อยากให้ครูผู้นำเหล่านี้มองเห็นอนาคตประเทศไทยจะไปทางไหน โดยมีโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง การศึกษาเป็นตัวหนุน ให้มองเห็นโลก มองเห็นประเทศในวันข้างหน้า เกิดความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาองค์กรซีมีโอเป็นหน่วยประสาน สนับสนุนให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทั้ง 11 ประเทศสร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน Online Lecture ถ่ายทอดสด มาเลย์ บูรไน สิงคโปร์ ในเรื่องที่เชี่ยวชาญ Best Practice ของแต่ละประเทศ สร้างเครือข่ายในประเทศโดยครูรางวัลเป็นแม่ข่าย ในประเทศไทยร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาการเรียนการสอน Stem Education เกิด Panel Discussion

“มูลนิธิเชิญภาคส่วนต่างๆ มาช่วยส่งเสริมครู ชวนชุมชนคนไทยในแต่ละประเทศสนับสนุนการศึกษา อย่างชุมชนคนไทย นักธุรกิจในบูรไน ให้ครูบรูไนไปดูงานในเมืองไทยที่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ มอบของเล่นให้เด็กพิการผ่านสถานทูตไทย ให้ครูไทยมีโอกาสเดินทางไปดูงานประเทศต่างๆ ครูจากสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ คนแรก เป็นครูด้านวิทยาศาสตร์ มีบริษัทเอกชนสนับสนุนสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กมีเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนเพิ่มขึ้น ได้ลงมือทดลองปฏิบัติจริง”

“ครูเหล่านี้ไม่เน้นผลงานวิชาการ ผลิตแต่เอกสาร แต่ต้องไปดูผลงานจากการทำจริง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งยากมาก”

ครูกฤษณพงศ์ย้ำ ก่อนจบบรรยายายสรุป

 

ถึงคิวเจ้าภาพ ท่านเอกอัครราชทูตกล่าวตอบ เล่าเรื่องราวภารกิจด้านการต่างประเทศทุกด้าน ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปในกัมพูชา ความร่วมมือต่างๆ นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตประจำกรุงพนมเปญครั้งแรก ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม จนจะครบเกษียณในเดือนกันยายนปีนี้

“ครั้งแรกผมมารับตำแหน่งปี 2534 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 พนมเปญ กัมพูชาวันนี้ เหมือนหนังคนละม้วนกับ 20 ปีที่แล้ว” นักการทูต หนึ่งในทีมนักต่อสู้ปัญหาเขตแดนไทย กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหารในศาลโลกย้ำ

และคงเพราะเหตุนี้ถึงทำให้ได้รับความไว้วางใจมารับหน้าที่ถึงสามรอบ

 

“สถานเอกอัคราชทูตไทยในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม กิจกรรมระหว่างประเทศเยอะ ที่กัมพูชา ธุรกิจไทยมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย อย่าง ปตท. เปิดสำนักงานใหม่ ขายน้ำมันมากมายทั้งปลีกและส่ง กำลังขยายธุรกิจนอนออย ร้านกาแฟอเมซอนในร้านจิฟฟี่ 50 สาขา เป็นธุรกิจที่กำลังบูมในกัมพูช่า ผู้ประกอบการ 200 รายรอรับใบอนุญาตเปิดร้าน”

“คิดดูขายวันละ 1,000 แก้ว แก้วละ 2 ดอลลาร์ วันละ 2,000 ดอลลาร์ เดือนละ 60,000 ดอลลาร์ ปีละ 720,000 ดอลลาร์ หักค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง 4 ถึง 18 เดือนคุ้มทุนแล้ว”

“เหตุเพราะเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตมาก ขยายตัว 7% ติดต่อกันมา 10 กว่าปีแล้ว เอดีบีประมาณการว่าจะขยายตัวต่อไปอีก 7 ปี การก่อสร้างโต 33% ทั้งในพนมเปญและเมืองใหญ่ๆ การอัพเกรดท่าเรือน้ำลึก การขยายสนามบินนานาชาติไปเมืองใหญ่ๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ถนนเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ถึงกันหมด อัพเกรดถนนเรียบชายแดนไทย ลาว เวียดนาม เขมร กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้น”

“การลงทุนจากต่างประเทศ จีนมากสุด รองลงไปเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กิจการ Real estate ด้านการค้า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา สินค้านำเข้า 40-50% มาจากประเทศไทย ประชากร 16 ล้านคน เป็นตลาดส่งออกของไทย มูลค่าทางการค้าไทย กัมพูชา ราว 2 แสนล้านบาท”

“สินค้าไทยรูปลักษณ์ใช้ได้ ราคาถูก น้ำมันเชื้อเพลิง ปตท. เข้ามาทางทะเล ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับ 4 น้ำมันเครื่องบินอันดับหนึ่ง แต่เปิดร้านกาแฟกำไรมากกว่าน้ำมัน ชุมชนธุรกิจไทยในกัมพูชาขนาดใหญ่ บริษัทใหญ่ๆ ปูนซิเมนต์ไทย มีโรงงานผลิต ครองตลาด 1 ใน 3 ความต้องการในกัมพูชา รวมทั้งปูนอินทรี บริษัทไทยเบฟมีโรงงานเบียร์ น้ำมันปาล์ม ซีพีเอฟ มีโรงงานอาหารสัตว์ ไก่ย่าง 5 ดาว”

“ด้านการธนาคาร มีธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ประกันภัยมีเมืองไทย เอเชีย กรุงเทพ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โรงแรม โรงพยาบาลระดับโลก บริษัทไทยนคร เจ้าของยาทิฟฟี่ ด้านสิ่งทอกลุ่มทวีกิจ ธุรกิจร้านอาหาร กิจการของไทยในกัมพูชาเหล่านี้ หากมีโอกาสน่าจะร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาได้อย่างดี”

“ความเป็นไปในกัมพูชา เรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของทูต 3 สมัยยังไม่จบ มีอะไรดีๆ น่าฟัง น่ารับรู้อีกมากมาย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ไทย กัมพูชา ความผูกพันทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่ชายแดนติดกว่า 800 กิโลเมตร ทิศทางของทั้งสองประเทศน่าจะไปทางไหน”

ตอนหน้ามาฟังต่อ