ห้องอนุสรณปรีดี ที่ตึกโดมหลังรัฐประหาร 2549 (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ห้องอนุสรณปรีดี

ที่ตึกโดมหลังรัฐประหาร 2549 (จบ)

 

พื้นที่ส่วนที่ 3 ของห้องอนุสรณสถานฯ จัดแสดงในประเด็น “สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ : แกนนำคณะราษฎร และหลักหกประการ” โดยส่วนนี้ออกแบบแยกเป็น 2 ตอน

ตอนแรกจะเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของปรีดีนั้นก็คือ การเป็นแกนนำในการก่อตั้งคณะราษฎรและนำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

พื้นที่ตอนแรกนี้ ออกแบบให้มีผนังขนาดใหญ่แผงหนึ่ง บนผนังจัดแสดง “ประกาศคณะราษฎร” ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เมื่อผู้ชมอ่านประกาศคณะราษฎรจบและหันหลังกลับมา จะมองเห็นแท่งประติมากรรมสี่เหลี่ยม 6 แท่ง ตั้งเรียงกัน โดยมีความสูงเสมอกันทุกแท่ง

ปลายสุดของแต่ละแท่ง จารึก “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร ซึ่งได้ประกาศไว้ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกอบไปด้วย เอกราช, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ, ปลอดภัย และการศึกษา

หลัก 6 ประการดังกล่าว เป็นเสมือนหางเสือเรือให้แก่คณะราษฎร (และปรีดี) ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่คณะราษฎรมีอำนาจ

ในตอนที่สอง จัดแสดงการดำเนินนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาลคณะราษฎร ที่ปรีดีได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยอธิบายแยกเป็นผลงานสำคัญๆ 6 ด้าน ซึ่งสัมพันธ์ไปกับหลักหกประการ

อาทิ การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับนานาประเทศจนทำให้ประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์อย่างแท้จริง, การร่างเค้าโครงการทางเศรษฐกิจ, การส่งเสริมการศึกษาด้วยการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

นอกจากนี้ เมื่อผู้ชมเดินมาถึงส่วนนี้ ผนังทางด้านขวามือจะถูกออกแบบไว้ให้เป็นเสมือนจอภาพขนาดใหญ่ ฉายแสดงภาพบริบททางสังคมของประเทศไทยในยุคคณะราษฎร ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยบรรยากาศสมัยใหม่ต่างๆ มากมาย สภาพผู้คนแต่งกายแบบรัฐนิยม อาคารที่ออกแบบด้วยงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร การใช้ฟอนต์ยุคคณะราษฎร ฯลฯ

การออกแบบดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงบรรยากาศและกลิ่นอายของสังคมไทยในยุคแรกเริ่มประชาธิปไตยที่มีปรีดีเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันให้เกิดขึ้น

เสาหลักหกประการภายในห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์

พื้นที่ส่วนที่ 3 ทั้งหมดนี้ เมื่อผมมองย้อนกลับไปดูอีกครั้งก็พบว่าน่าสนใจที่การจัดแสดงที่แม้ว่าจะมีตัวปรีดีเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่า แต่วิธีการเล่าเรื่องเป็นการพยายามอธิบายสิ่งที่ปรีดีทำทั้งหมด โยงเชื่อมกลับเข้าไปหาแนวคิดของคณะราษฎรในภาพใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากการอธิบายปรีดีในยุคก่อนหน้านั้น (ก่อนรัฐประหาร 49) ที่เกือบทั้งหมดจะเน้นบทบาทความสำคัญลงไปที่ตัวปรีดีอย่างโดดๆ แยกออกมาจากคณะราษฎร

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับว่า ก่อนหน้ารัฐประหาร 2549 ก็มิได้มีใครพยายามที่จะลบข้อเท็จจริงที่ว่า ปรีดีคือแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรหรอกนะครับ เพียงแต่การเชื่อมโยงนโยบายที่ปรีดีคิดและทำในหลายส่วน จะมิได้อธิบายเชื่อมโยงเข้าไปหาคณะราษฎรและหลักหกประการ มากเท่ากับที่การจัดแสดงในห้องอนุสรณสถานฯ หลังปี 2549 พยายามที่จะสื่อสารออกมา (หากใครที่เคยทันเข้าชมห้องอนุสรณสถานฯ ยุคก่อนปี 2549 คงพอจะนึกภาพความแตกต่างในประเด็นนี้ได้)

กล่าวให้ชัดก็คือ ผมเพียงอยากตั้งข้อสังเกตเล็กๆ ว่า ลักษณะการจัดแสดงในห้องอนุสรณสถานฯ หลังรัฐประหาร 2549 การจัดวางบทบาทและตัวตนของปรีดี มีลักษณะที่พยายามจะจัดวางปรีดีกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมากขึ้นกว่าเดิม

ผมเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการฯ ในครั้งนั้นก็ลืมไปแล้วว่า ไอเดียของคณะกรรมการได้คิดถึงประเด็นนี้อย่างตั้งใจหรือเปล่า แต่ไม่ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างจงใจหรือไม่ก็ตาม มันก็ได้กลายเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของปรากฏการณ์ “การเกิดใหม่ของคณะราษฎร” หลังรัฐประหาร 2549 ยุคแรกๆ ที่รื้อฟื้นความทรงจำของคณะราษฎรและหลักหกประการกลับมาสร้างให้ปรากฏในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง

การจัดแสดงสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ ทำผ่านกรอบแนวคิดว่าด้วยหลักหกประการของคณะราษฎร

พื้นที่ถัดไปคือส่วนที่ 4 ซึ่งว่าด้วย “มรสุมทางการเมือง : คอมมิวนิสต์ และกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8” พื้นที่นี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อแสดงจุดพลิกผันในชีวิตของปรีดี และของสังคมไทยด้วยหลัง พ.ศ.2490 ซึ่งกล่าวได้ว่า สังคมไทยย้อนกลับไปอยู่ภายใต้บรรยากาศแบบอนุรักษนิยมอีกครั้ง

ในส่วนนี้จะเล่าถึงชะตากรรมของปรีดีหลังเหตุการณ์สวรรคตอย่างลึกลับของรัชกาลที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2489 ที่ส่งผลทำให้ปรีดีตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งจากข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ และข้อหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ จวบจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

การออกแบบส่วนนี้จะเน้นบรรยากาศที่กดดัน และการใช้สีสันที่รุนแรง (สีแดง) ยาวเต็มผนังของห้อง เพื่อสะท้อนถึงอารมณ์และบรรยากาศของสังคมไทยขณะนั้นที่รุมเร้าและกดดันตัวปรีดีอย่างมาก บนผนังทั้งสองข้างถูกออกแบบให้เต็มไปด้วยข้อความโจมตีและกล่าวร้ายปรีดี

ผู้ชมจะเสมือนหนึ่งถูกคำกล่าวหาใส่ร้ายพุ่งใส่รอบด้านตลอดเวลาเมื่อเดินผ่านในส่วนนี้

 

เมื่อเดินผ่านจุดนี้ไป จะเข้าสู้พื้นที่ส่วนที่ 5 ที่จัดแสดงช่วงชีวิตบั้นปลายของปรีดีที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองและอาศัยอยู่ในต่างแดน โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสจวบจนสิ้นชีวิต นับเป็นเวลาร่วม 3 ทศวรรษ

ในช่วงดังกล่าว ปรีดีใช้ชีวิตไปกับการศึกษาค้นคว้าและสร้างผลงานวิชาการในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ปรัชญา และปรัชญากฎหมาย ขึ้นจำนวนหนึ่ง รวมถึงเขียนบันทึกและทบทวนปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475

ช่วงชีวิตนี้เป็นเสมือนช่วงชีวิตที่ทำให้ปรีดีเกิดตกผลึกทางความคิดที่ชัดเจนและนำมาสู่แนวคิดที่เรียกว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ในที่สุด ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

“…เมื่อข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ…”

การออกแบบส่วนนี้มีลักษณะเป็นเสมือนห้องแห่งความคิดคำนึง โดยจะนำโต๊ะและเก้าอี้ พร้อมทั้งของใช้บางส่วนของปรีดีมาจัดแสดง เสมือนว่าเป็นห้องทำงานสุดท้ายของปรีดีที่บ้านพักในประเทศฝรั่งเศส โดยฉากขนาดใหญ่ด้านหลังโต๊ะทำงาน ออกแบบจัดวางเป็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงชีวิตของปรีดีเต็มผืนผนัง ซึ่งสะท้อนนัยยะของความคิดคำนึงของปรีดี

ปลายสุดทางด้านขวาของผนัง จะแสดงแผนภูมิแนวคิด “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ที่ประกอบไปด้วยหลัก 5 ประการคือ เอกราช, อธิปไตย, สันติภาพ, ความเป็นกลาง และความไพบูลย์ประชาธิปไตย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความคิดสุดท้ายของปรีดี

การออกแบบในส่วนนี้ ยังสร้างความสัมพันธ์ทางสายตาของผู้ชมให้สามารถมองทะลุผ่านมายังพื้นที่ส่วนโถงกลางด้านหน้าไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ดังกล่าวให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

 

พื้นที่ส่วนที่ 6 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงสุดท้าย จะเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปรีดีอีกครั้ง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงภาพลักษณ์ที่สังคมไทยมีต่อตัวปรีดี

โดยจากเดิมที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่ภาพของการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8

ทั้งหมดจะถูกชำระและถูกลบล้างออกไปอย่างสิ้นเชิง ผ่านกระบวนการรื้อฟื้นภาพลักษณ์และเกียรติยศโดยนักวิชาการสาขาต่างๆ ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหามากมาย

กระบวนการดังกล่าว ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของปรีดีในสายตาสังคมไทย หวนกลับมามีภาพลักษณ์เชิงบวกอีกครั้งตราบจนกระทั่งในปัจจุบัน ซึ่งการออกแบบในส่วนนี้จะสะท้อนผ่านกระบวนการกอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติยศผ่านการจัดวางผลงานวิชาการต่างๆ มากมายที่เขียนขึ้นเพื่อตอบโต้กับการใส่ร้ายปรีดี

เนื้อหาการจัดแสดงจบลงที่ตรงนี้ ณ จุดที่ภาพลักษณ์ของปรีดีในสังคมไทยกลับกลายมาเป็นเสมือนฮีโร่ของสังคมไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนบรรยากาศของสังคมไทย ณ ช่วงเวลานั้น

 

แต่ ณ ปัจจุบันผมคิดว่าการจบเนื้อหาการจัดแสดงเช่นนี้ ไม่น่าจะเหมาะสมอีกแล้วภายใต้บริบททางสังคมการเมืองไทยตอนนี้ที่มีปรากฏการณ์ “การเกิดใหม่ของคณะราษฎร” ในวงกว้าง และแน่นอน ส่งผลมาถึงการทำความเข้าใจในตัวปรีดีในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ในโอกาสที่ตึกโดมกำลังจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ และคงมีการปรับปรุงการจัดแสดงในห้องอนุสรณสถานฯ

ผมก็อยากตั้งความหวังเอาไว้ว่า จะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เล่าถึงภาพลักษณ์ของปรีดีที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งกำลังได้รับการศึกษา ค้นคว้า รื้อฟื้น และตีความ อย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในห้องอนุสรณสถานฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน