คณะทหารหนุ่ม (7) | เปรียบเทียบ “24 มิถุนา” กับ “6 ตุลา”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

คณะทหารหนุ่ม (7)

 

เปรียบเทียบ “24 มิถุนา” กับ “6 ตุลา”

ความสำเร็จของคณะปฏิรูปการปกครองในการยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีลักษณะคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 อยู่ประการหนึ่ง

คือ คณะผู้ก่อการมิได้มีกองกำลังหลักของตนเอง แต่หยิบฉวยประโยชน์จากหน่วยทหารระดับกองพันที่ไม่รู้ตัวว่าจะมีการยึดอำนาจ

เป็นการยืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของหน่วยทหารระดับกองพันว่า เป็นเจ้าของพลังอำนาจที่แท้จริง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หน่วยทหารต่างกลับเข้าที่ตั้ง อำนาจการบังคับบัญชากลับสู่ปกติ

แต่ครั้งนี้คณะทหารหนุ่มแม้จะนำหน่วยของตนกลับที่ตั้งปกติ แต่ท็อปบู๊ตอีกข้างหนึ่งกลับเหยียบอยู่นอกรั้วเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์

“ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยโอกาส”

 

มาเพราะการเมือง ไปเพราะการเมือง

ปัญหาจากการโยกย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ “ข้ามหัว” เสนาธิการทหารบก พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่ง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ต้องการจะให้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป มิได้เป็นเพียงปัญหาตัวบุคคลเท่านั้น

แต่เป็นการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา กำลังพยายามก่อตั้งขึ้น กับ “กลุ่มอำนาจเก่า” ของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งมี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยร่วมอยู่ด้วย และกำลังพยายามฟื้นตัว

พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลที่มีพรรคกิจสังคมเป็นแกนนำ ขยับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “รองผู้บัญชาการทหารบก” ระหว่างเป็นรัฐบาลรักษาการเมื่อต้นเมษายน พ.ศ.2519 เพื่อให้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกใน 1 ตุลาคม พ.ศ.2519

แต่ผลของการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ.2519 กลับพลิกผันเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม “สอบตก” ในเขตดุสิต การเมืองจึงเปลี่ยนแปลงไป

พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สถานการณ์การช่วงชิงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกพลิกผันอีกครั้งเมื่อผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ถึงแก่อนิจกรรมหลังเลือกตั้งเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ.2519 และผู้มาแทนคือ พล.อ.ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

ทันทีที่รับตำแหน่ง พล.อ.ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ก็มีคำสั่งย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จากรองผู้บัญชาการทหารบก “ข้ามห้วย” ไปเป็นที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด

แล้วให้ พล.อ.เสริม ณ นคร เสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกแทน

 

6 ตุลา 19 กับ พล.อ.ฉลาด

กันยายน พ.ศ.2519 การเดินทางกลับไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่การต่อต้านอย่างรุนแรงจนเกิดการปฏิรูปการปกครองใน 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

8 ตุลาคม พ.ศ.2519 พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารบก ได้รับคำสั่ง “ฟ้าผ่า” จากคณะปฏิรูปการปกครองให้ไปทำหน้าที่ผู้ดูแลนักเรียนไทยที่ญี่ปุ่น

11 ตุลาคม พ.ศ.2519 พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกปลดออกจากราชการโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง

กลุ่มอำนาจเก่าตกเป็นรอง แต่การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป กลุ่มอำนาจใหม่แม้สิ้น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ไปแล้ว แต่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เข้ามาแทนและยังคงพยายามลิดรอนกำลังกลุ่มอำนาจเก่าต่อไป

 

6 ตุลา 19 ความพยายามกลับมาของอำนาจเก่า

เหตุการณ์ที่นำไปสู่การล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 มีจุดเริ่มจากการที่จอมพลประภาส จารุเสถียร เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อสิงหาคม พ.ศ.2519 และต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจร ก็เดินทางกลับมาในกันยายนปีเดียวกัน

ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ไม่ถึงแก่อนิจกรรมไปเสียก่อนเมื่อปลายเมษายนก่อนหน้านี้

มีหลักฐานซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ตรงกันว่า การกลับมาของทั้งสองจอมพลนี้เป็นความพยายามของกลุ่มราชครูจากสายสัมพันธ์ของจอมพลถนอม กิตติขจร กับ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งมีมาอย่างยาวนาน

และล่าสุดคือความพยายามในการส่ง พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในยุคที่พรรคชาติไทยร่วมรัฐบาลกับ พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ก่อนหน้านี้ เมื่อไม่สามารถอยู่ในไทยได้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แห่งพรรคชาติไทย ก็ได้เดินทางไปส่งจอมพลประภาส จารุเสถียร ถึงไทเปมาแล้ว

เมื่อเดินทางกลับไทย พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ 1 อดีตนายทหารคนสนิทจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็เดินทางไปรับจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่สนามบินดอนเมืองแล้วนำไปพักที่ “เซฟเฮาส์” ของกองทัพภาคที่ 1 ที่จังหวัดลพบุรี

ครั้งที่จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับไทย พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็เดินทางไปต้อนรับที่สนามบินดอนเมืองเช่นเดียวกัน และต่อมาเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศฯ พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็ส่งทหารไปอารักขา

มีความเชื่อด้วยว่า การกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ครั้งนี้ เป็นความพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารโดยการสนับสนุนของกลุ่มราชครู ร่วมกับกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่กำลังฮึกเหิม และนายทหารจากกลุ่มอำนาจเก่าที่ใกล้ชิดกลุ่มราชครู

และยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า รัฐประหารจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นการชิงกระทำเพื่อตัดหน้า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งแม้ไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ แต่ก็ยังมีอิทธิพลและสายสัมพันธ์ที่ดีทั้งทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคชาติไทยและหน่วยทหารสำคัญหลายหน่วยในกรุงเทพฯ

สอดคล้องกับคำให้การของคณะทหารหนุ่มที่ว่า รัฐประหารเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นั้น นายทหารผู้ใหญ่ที่ก่อการมิได้มีความคิดที่จะกระทำการรัฐประหารมาก่อนเลย

 

ฉลาดเตรียมปฏิวัติ

ไม่ว่าข้ออ้างของกลุ่มอำนาจใหม่ที่ว่าการรัฐประหารเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้นกระทำเพื่อตัดหน้า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่การปลด พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ออกจากราชการ ในที่สุดก็นำไปสู่ความพยายามก่อการรัฐประหารในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

หลังถูกปลดจากราชการเมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 ตามคำสั่งคณะปฏิรูปแล้ว พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วน พ.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็หลบสถานการณ์ไปอาศัยอยู่ที่เกาะพยาม จ.ระนอง จนกระทั่งถึงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ.2520 จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ บันทึกไว้ใน “ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง” ว่า

“เมื่อผมเดินทางถึงกรุงเทพฯ ก็รีบไปกราบเยี่ยม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ หรือ ‘พระศิริหิรัญโญ’ ที่วัดบวรนิเวศฯ ทันที ท่านก็เล่าสภาพการณ์ทางการเมืองให้ฟังแล้วก็บอกว่า เงื่อนไขต่างๆ พร้อมแล้วที่จะทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แล้วคืนอำนาจนี้ให้กับประชาชนเป็นผู้คัดเลือกรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ผมเตรียมใจเอาไว้นานแล้วที่จะได้ยินท่านเอ่ยคำว่าพร้อมที่จะปฏิวัติ ผมจึงไม่มีท่าทางตื่นเต้น แต่เมื่อครุ่นคิดถึงความพร้อมแล้ว ผมเห็นต่างออกไป จึงได้นมัสการติงท่านไปว่า คนเริ่มไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เบื่อหน่ายคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตรงกันข้ามส่วนหนึ่งยังมีความหวังให้กับคณะปฏิรูปอยู่ ถึงจะมีบ้างที่ไม่พอใจคณะปฏิรูป แต่ก็ไม่ถึงกับกล้าออกมาคัดค้าน ผมอยู่ในการปฏิวัติมาทุกครั้ง ได้รู้ได้เห็นมาตลอด เพราะเป็นนายทหารที่อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ใกล้ชิดกับการบริหารประเทศ ใกล้ชิดกับการใช้อำนาจ หรือการเลือกตั้ง ผมจึงเข้าใจการใช้อำนาจทั้งในระบบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตย ในสมัยเผด็จการก็อยู่กับอำนาจคุมกำลังเอารถถังออกมา”

“แต่ท่านบอกว่า ท่านมองเห็นบ้านเมืองกำลังเกิดความเสียหาย แล้วตัวท่านเองต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนั้น ท่านขอตายดีกว่าที่จะไม่ทำอะไร”