16 ปีแห่งพิษภัยรัฐประหาร/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

16 ปีแห่งพิษภัยรัฐประหาร

 

มีการแสดงออกอย่างกว้างขวาง เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในประเทศไทย โดยเมื่อถึงวันครบรอบเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้จะเกิดเหตุมาแล้ว 16 ปี แต่การป่าวประณามคัดค้าน ยังไม่ลดระดับลงไป

ส่วนหนึ่งเพราะ การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น ถือกันว่าเป็นภาคแรกเริ่ม

จาก 2549 อีก 8 ปีต่อมา เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซ้ำอีก ซึ่งเป็นภาคต่อเนื่องกัน เท่ากับว่าพิษภัยจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ยังต่อเนื่องมาถึงวันนี้

ดังนั้น การคัดค้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงยังคงเป็นบรรยากาศที่ร้อนแรงในปีนี้

ย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน ท่ามกลางม็อบเสื้อเหลืองที่ชุมนุมยืดเยื้อต่อต้านและขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยอันที่จริงจุดเริ่มต้นเป็นปัญหาขัดแย้งส่วนตัวแท้ๆ แต่เมื่อจะโค่นทักษิณให้ได้ จึงปลุกพลังอนุรักษนิยมการเมือง พลังฝ่ายขวาล้าหลัง ให้ร่วมกันต่อต้านทักษิณ

ประกอบเข้ากับ เครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง เริ่มไม่ไว้วางใจในการแผ่ความนิยมอย่างมากมายในหมู่ประชาชนของทักษิณ ถือเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง ที่อาศัยนโยบายการบริหารประเทศ มาสร้างคะแนนเสียงได้อย่างท่วมท้น ได้รับความนิยมอย่างสูง จนฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองรู้สึกสั่นคลอน

ดังนั้น เมื่อมอบเสื้อเหลืองปูทาง เรียกร้องทหารให้ออกมาหยุดรัฐบาลทักษิณ การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเกิดขึ้น นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในนามคณะ คมช.

แต่ดูเหมือนบิ๊กบังจะยังประมาณตัวเองได้ว่า ไม่สามารถแบกรับปัญหามากมายที่จะตามมา อันเนื่องจากเอารถถังออกมาล้มประชาธิปไตย โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่จะทรุดลงทันที ดังนั้น จึงรีบถอยกลับกรมกอง รีบตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เข้ามาบริหารประเทศ

ฝ่ายรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็รีบร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ออกมาใช้ แล้วรีบจัดการเลือกตั้ง

แต่หลังจากนั้นพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณก็กลับมาชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอีก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ นำพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายแล้วขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรก

แถมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังผลักดันนโยบายระดับเขย่าประเทศ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ จะเป็นสัญลักษณ์ที่ติดปากประชาชน ไม่ต่างจากยุคทักษิณ

ดังนั้น เมื่อรัฐประหาร 2549 ไม่สามารถขุดรากถอนโคนทักษิณได้อย่างราบคาบ จึงต้องมีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นภาคต่อ เป็นรัฐประหารซ้ำ เพื่อกำจัดนักการเมืองที่สร้างความนิยมล้นหลามให้ได้

ดังมีคำกล่าวว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำแล้วเสียของ จึงต้องมีรัฐประหาร คสช.ในปี 2557 ออกมาซ้ำ พร้อมกับออกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ฝ่ายขุนศึกขุนนางครองอำนาจยาวนานที่สุด พร้อมกับให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

นี่เองทำให้บรรยากาศที่นักประชาธิปไตยต้านอำนาจฝ่ายกองทัพ ยังคงดุเดือดเข้มข้น ต้านทั้งรัฐบาลปัจจุบันย้อนไปจนถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

บรรยากาศการต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้นในปีนี้ มีการเคลื่อนไหวทบทวนถึงพิษภัยการยึดอำนาจการปกครองของกองทัพ ที่ส่งผลให้ประเทศชาติถอยหลัง เศรษฐกิจตกต่ำ กระทบถึงปากท้องของประชาชนอย่างรุนแรง

แถมยังมีการรัฐประหารซ้ำ 2 ครั้ง ในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกัน จึงเท่ากับเป็น 16 ปี ที่กองทัพยังแทรกแซงการเมืองและฉุดให้บ้านเมืองถอยหลังต่อเนื่อง

ศิลปินแร็พการเมืองดัง Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลงประเทศกูมี ได้ออกผลงานเพลงรับ 16 ปี 19 กันยายน ด้วยเพลง 16 ปีแล้วไอสัสŽ โดยใช้ รถแท็กซี่Ž ที่พังเสียหาย เป็นสัญลักษณ์สำคัญในมิวสิกวิดีโอ ตบท้ายเพลงด้วยคลิปลุงนวมทอง ไพรวัลย์Ž ที่กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ลุงไม่อยากอยู่ใต้อำนาจเผด็จการŽ

จึงเป็นบทเพลงต้านรัฐประหารที่สมบูรณ์แบบ เรียกยอดคนเข้าดูได้อย่างร้อนแรง

ขณะเดียวกัน มีการย้อนทบทวนถึงบทบาทอันหาญกล้าของลุงนวมทอง ถือเป็นวีรชน เป็นสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารที่ถึงขั้นพลีชีวิต

โดยลุงนวมทอง ผู้ขับขี่รถแท็กซี่วัย 60 ปี ตัดสินใจขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่จอดควบคุมสถานการณ์บริเวณลานพระบรมรูป จนแท็กซี่พังยับ ทำให้ลุงนวมทองได้รับบาดเจ็บสาหัส

จากนั้นในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ลุงนวมทองได้ยืนยันต่อต้านรัฐประหารอีกครั้ง ด้วยการผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต โดยสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนบทกวีแห่งการต่อสู้ของ รวี โดมพระจันทร์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์

พร้อมมีจดหมายลาตายยืนยันว่า ขอพลีเพื่อต้องการลบคำสบประมาทของรองโฆษกคณะรัฐประหารที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้Ž

โดยคำพูดของรองโฆษกทหาร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์แท็กซี่พุ่งชนรถถัง ทำนองว่าน่าจะทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

ประโยคทิ้งท้ายจดหมายลาตายของลุงนวมทองคือ

สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยา จงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีกŽ

จากเพลงประเทศกูมีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งใช้สัญลักษ์สำคัญในมิวสิกวิดีโอคือ ศพถูกแขวนคอแล้วฟาดด้วยเก้าอี้ เพื่อรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลาคม 2519

ในเพลงล่าสุดของศิลปินแร็พ RAD ต่อต้าน 16 ปีรัฐประหาร จึงใช้รถแท็กซี่พังยับเป็นสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกถึงลุงนวมทอง วีรชนต้านรถถัง อย่างสะเทือนใจยิ่ง

 

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณ ส่งผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นฉบับที่ส่งเสริมระบบการเมืองรัฐสภา ทำให้ระบบพรรคการเมืองเติบโตเข้มแข็ง

เมื่อเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง ต้องการโค่นทักษิณ และหยุดระบบที่ทำให้นักการเมืองสามารถครองใจประชาชนได้มากมาย

ผลการรัฐประหาร 2549 ทำให้ได้รัฐธรรมนูญ 2550 แต่ลงเอย หลังจากนั้นเมื่อกลับมาสู่ระบบเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนก็ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แล้วการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคเพื่อไทยก็ถล่มทลายอีก พร้อมกับส่งให้ยิ่งลักษณ์ขึ้นเป็นนายกฯ

ดังนั้น จึงต้องมีรัฐประหารซ้ำภาค 2 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะ คสช.เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

โดยกระบวนการปูทางก็สูตรเดียวกันกับยุคเสื้อเหลือง เปลี่ยนเป็นม็อบนกหวีด ชุมนุมยืดเยื้อทำให้สถานการณ์เข้าทางตัน เพื่อเปิดทางให้รถถังออกมายึดอำนาจ

คราวนี้ไม่ต้องการให้เสียของ หัวหน้ารัฐประหารจึงถึงขั้นนั่งเก้าอี้นายกฯ เอง ขอเวลาอีกไม่นาน แต่รัฐบาลทหารอยู่ยาวถึง 5 ปี ก่อนจะคลอดรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกดหัวระบบพรรคการเมืองให้อ่อนล้ามากที่สุด และใส่อำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ ได้ 5 ปี เพื่อให้ตัวแทนขุนศึกขุนนางเป็นรัฐบาลได้อีก 2 สมัย

16 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วต่อเนื่องด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

พิษภัยรัฐประหารหนนี้จึงต่อเนื่องยาวนานอย่างมาก

ส่งผลต่อปัญหาปากท้องรุนแรง เศรษฐกิจถดถอย บ้านเมืองไม่พัฒนา ตามอุดมการณ์ล้าหลังของฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองนั่นเอง!