รายงานพิเศษจากอังกฤษ ปวงประชาอำลาด้วยอาลัย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2/รายงานพิเศษ สุมาลี บำรุงสุข

รายงานพิเศษ

สุมาลี บำรุงสุข

 

รายงานพิเศษจากอังกฤษ

ปวงประชาอำลาด้วยอาลัย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

วันที่ 8 กันยายน เวลาใกล้เที่ยง ณ สวนสาธารณะสแตนลีย์ ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ฉันกับสามีกำลังนั่งอยู่บนรถเทียมม้า คอยให้ถึงเวลาที่ไกด์จะนำคณะของเราชมสวน สามีใช้เวลาระหว่างที่คอยเช็กอีเมลในโทรศัพท์มือถือตามเคย จู่ๆ เขาก็เงยหน้าขึ้นมา บอกฉันว่า “The Queen is dead!”

ใจหายวาบ แต่ไม่ถึงขนาดช็อก เพราะเช้าวันนั้นฉันได้ข่าวจากไลน์ทางบ้านว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระประชวร และอ่านข่าวบีบีซี เรื่องประกาศสำนักพระราชวังแล้ว ที่ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้รับการดูแลจากคณะแพทย์ ทรงสบายพระวรกาย แต่คณะแพทย์ขอให้พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดรีบเสด็จมาเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัล

ตั้งแต่ติดตามข่าวทรงพระประชวรมาหลายคราว ฉันไม่เคยเห็นสำนักพระราชวังประกาศในทำนองนี้เลย จึงนึกสังหรณ์ใจอยู่ แม้ว่าภาพข่าวที่เสด็จออกมาทรงรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันที่ 6 กันยายน ด้วยพระพักตร์สดชื่นยังตราตรึงในความทรงจำ

แม้เราจะไม่ได้อยู่ที่อังกฤษในวันนั้น แต่ข่าวสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเป็นเรื่องใหญ่ โทรทัศน์ CBC ของแคนาดาทำข่าวอย่างละเอียดให้เราได้ติดตาม มีการสัมภาษณ์ชาวแคนาดาที่เคยได้เฝ้ารับเสด็จในอดีต

ที่ฉันประทับใจจำได้คือบุตรชายของอดีตผู้สำเร็จราชการประจำแคนาดาท่านหนึ่ง เล่าว่าเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จเยือนแคนาดา เย็นวันหนึ่งทรงมีเวลาว่างจากพระราชกรณียกิจ ทรงเสนอให้จัดเลี้ยงบาร์บีคิวกัน ณ ที่ประทับ เจ้าชายฟิลิปทรงปิ้งย่างเนื้อด้วยพระองค์เอง

สมเด็จพระราชินีนาถทรงสนทนาซักถามผู้สำเร็จราชการเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับแคนาดาที่สะท้อนว่าทรงสนพระราชหฤทัยติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด

เขาส่งท้ายว่าทั้งหมดนี้ทรงสนทนาเป็นภาษาฝรั่งเศส

นับเป็นโชคดีของเราที่เสร็จภารกิจและบินกลับถึงลอนดอนก่อนเที่ยงวันที่ 14 กันยายน จึงได้ทันดูการถ่ายทอดสดพระราชพิธีขบวนแห่อัญเชิญพระบรมศพจากพระราชวังบักกิ้งแฮมไปสู่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ระหว่างที่ขบวนดำเนินไป นอกจากเสียงดนตรีจากวงดุริยางค์ทหารแล้ว ยังมีเสียงระฆังจากนาฬิกาบิกเบนที่ตีเป็นจังหวะๆ ทุกๆ นาที ดังก้องกังวาน ชวนให้วังเวงใจยิ่งนัก

วันรุ่งขึ้นอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ถึงรู้ว่าสนามบินฮีธโรว์สั่งงดเครื่องบินขึ้นลงในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีเสียงรบกวนจากเครื่องบินที่จะบินผ่านลอนดอนในเวลานั้น

คนลอนดอนที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณพระราชพิธีจึงได้ยินเสียงในขบวนแห่ชัดเจน ในวันประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 19 กันยายน สนามบินฮีธโรว์ก็ปิดทำการในช่วงเวลาพระราชพิธีอีกเช่นกัน

ทางการเตรียมงานพระราชพิธีพระบรมศพไว้ล่วงหน้าแล้วด้วยความไม่ประมาท ดังนั้น แม้สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน งานพระราชพิธีก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น

ทางการแถลงข่าวพิธีต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ทางสื่อมวลชนต่างๆ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และออนไลน์ ฉันฟังข่าวแล้วนับถือน้ำใจคนอังกฤษจริงๆ พวกเขารักเคารพสมเด็จพระราชินีนาถและยอมลำบากกายยืนเข้าแถวเพื่อถวายบังคมพระบรมศพที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ต้นแถวนั้นยืนคอยมาตั้งแต่วันอังคารที่ 13 กันยายน และกว่าจะได้เข้าไปในพระที่นั่งเมื่อวันพุธที่ 14 กันยายน ก็เป็นเวลาเย็นเกือบห้าโมง

ฉันเจียมตัวเจียมใจรู้ว่าไม่บึกบึนเช่นคนอังกฤษ ยอมรับว่าไม่สามารถไปยืนเข้าแถวเป็นเวลานานหลายๆ ชั่วโมงก่อนจะได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพในพระที่นั่งเวสต์มินสเตอร์

ฉันขอไปแสดงความเคารพตามกำลัง คือ ไปถวายดอกไม้ที่สวนหลวงกรีนปาร์ก สำนักพระราชวังไม่ประสงค์ให้ประชาชนมาถวายดอกไม้ที่บริเวณรั้วหน้าพระราชวังบักกิ้งแฮม จึงจัดที่ให้ถวายดอกไม้ ณ สวนหลวงกรีนปาร์กและไฮด์ปาร์ก ซึ่งผู้คนไปมาสะดวกและปลอดภัยกว่า วันพฤหัสฯ ที่ 15 กันยายน ฉันจึงรีบจัดแจงซื้อช่อดอกไม้ (เพราะสวนหน้าบ้านฉันมีแต่ไม้ใบไม่มีไม้ดอกเลย ไม่เช่นนั้นจะอุตสาหะจัดช่อดอกไม้ถวายเอง) ถือลงรถใต้ดินไปขึ้นที่สถานีกรีนปาร์ก

ณ ที่นั้น ก็เห็นถึงความชำนาญของการขนส่งมวลชนที่นี่ มีทั้งเสียงประกาศและป้ายประกาศบอกว่า สถานีนี้จะเปิดให้เฉพาะผู้โดยสารขาออก ไม่รับผู้โดยสารขาเข้า ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึง 20.00 น. ทั้งนี้ เพื่อป้องกันคนแออัดเกินไปในสถานี

ต่อมาอ่านข่าว รู้ว่าวันประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่วิหารเวสต์มินสเตอร์วันที่ 19 กันยายน ก็จะให้สถานีรถไฟใต้ดินที่อยู่ใกล้ๆ วิหาร เช่น สถานีเวสต์มินสเตอร์ เป็นต้น เปิดให้เฉพาะผู้โดยสารออก แต่ห้ามเข้าเช่นกัน สถานีรถไฟใต้ดินในลอนดอนมีจำนวนมากและตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก พอเดินไหว ทั้งคนอังกฤษส่วนใหญ่ก็เป็นนักเดิน การปิดสถานีเพื่อความปลอดภัยแบบนี้จึงเป็นที่ยอมรับ

การไปถวายดอกไม้ควีนครั้งนี้ ทำให้ฉันประจักษ์ชัดเรื่องนิสัยชอบใช้วิจารณญาณของตนเองตามแบบอังกฤษ สำนักพระราชวังทำป้ายชี้ให้ชัดเจนว่าทางไป “เขตถวายดอกไม้” อยู่ทางไหน

แต่บางคนก็ไม่ไปจนถึงเขตที่กำหนด ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด วางดอกไม้ถวายไว้ตามโคนต้นไม้ใหญ่ๆ ระหว่างทางเสียดื้อๆ และไม่ใช่คนสองคน เพราะมีช่อดอกไม้วางเรียงกันพูนรอบโคนไม้ หลายต่อหลายต้น วางไว้เป็นระเบียบดูงดงาม

สํานักพระราชวังประกาศออนไลน์ด้วยว่า ช่อดอกไม้ทั้งหมดที่คนนำมาถวายนี้จะนำไปทำปุ๋ย ดังนั้น ขอให้ผู้ถวายแกะกระดาษและพลาสติกห่อออกให้หมดก่อนวางดอกไม้ และขอไม่ให้แนบการ์ดใดๆ มาด้วย เพื่อความสะดวกในการขนย้ายไปทำปุ๋ย

ฉันเดินสำรวจช่อดอกไม้ทั้งในเขตและนอกเขต ปรากฏว่าประชาชนเชื่อฟังกฎข้อแรกกันถ้วนหน้า ดอกไม้ที่วางต่อๆ กันจนแผ่เป็นผืนแพออกมานั้นแกะออกจากห่อเกือบทั้งหมด

แต่กฎข้อสองสิ แม้จำนวนมากจะปฏิบัติตาม แต่จำนวนไม่น้อยก็ขอขัดขืนและเขียนการ์ดทั้งที่ซื้อหรือทำเองมาถวาย แสดงความอาลัยรักสมเด็จพระราชินีนาถจากใจ เป็นธรรมเนียมของเขาที่ยากจะฝืนได้ คนอื่นๆ ที่มาถวายดอกไม้เองก็ชอบใจ เพราะได้อ่านข้อความอันไพเราะ ได้เห็นพระฉายาลักษณ์งามๆ ที่แต่ละคนบรรจงคัดมาประดับ

ฉันยกย่องคุณสุมาลี (วุ้ย ชื่อเหมือนกันเลย) เมอร์ฟี่ สาวไทยผู้เคารพกฎเกณฑ์ของสำนักพระราชวังทุกประการ เธอจัดแจงสลักแตงโมเป็นแจกันใส่ดอกไม้มาถวาย บนแตงโมสลักพระรูปสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมคำถวายพระพร Rest in Peace พอเข้าไปในเขตถวายดอกไม้สักการะ ก็เห็นแจกันดอกไม้ของคุณสุมาลีชัดเจน

เห็นแล้วพลอยปลื้มใจไปด้วย และนับถือน้ำใจคนอังกฤษ ไม่มีใครวางดอกไม้ปิดบังแจกันอันงดงามใบนี้เลย

ไหนๆ เข้าเมืองมาแล้ว ฉันจึงตัดสินใจไปสังเกตการณ์แถวผู้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพด้วย

จากกรีนปาร์ก ฉันเดินไปยังสถานีรถไฟใต้ดินที่พิกคาเดลี่ ระหว่างทางสังเกตดูผู้คนที่สวนไปมา มีคนถือช่อดอกไม้กันหลายคน ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงวัย ได้ยินว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทำช่อดอกไม้ราคาย่อมเยาเป็นพิเศษมาวางขายเพื่อคนรายได้น้อย ปกติช่อดอกไม้ที่ขายๆ กันอยู่ราคาตั้งแต่ห้าปอนด์ขึ้นไป แต่ช่วงนี้มีช่อดอกไม้ราคาต่ำกว่าห้าปอนด์ขายด้วย คนส่วนใหญ่ที่เดินทางไปมา แต่งกายด้วยสีขรึมๆ ไม่ฉูดฉาด

ทางการที่นี่ไม่ได้ประกาศให้ประชาชนแต่งกายไว้ทุกข์ ไม่มีการปิดโรงมหรสพ โรงหนัง โรงละคร สถานเริงรมย์ต่างๆ กำหนดแต่เพียงว่าคนที่จะเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพควรแต่งกายสุภาพ ไม่ติดป้ายหรือเครื่องหมายรณรงค์ใดๆ ทั้งสิ้น

ฉันตัดสินใจไม่ไปบริเวณต้นแถวคือพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ แต่ไปบริเวณที่เว็บไซต์ติดตามเส้นทางแถวผู้เข้าเฝ้า หรือ the Queen’s lying-in-state tracker บอกว่าเป็นหางแถว

วันนั้นคือบริเวณ London Bridge พอไปถึงก็เห็นคนเดินกันพลุกพล่าน สังเกตว่ามีสองแถว เดินสวนกัน ทางหนึ่งเดินตรงไปทาง South Bank คือมุ่งหน้าไปสะพานเวสต์มินสเตอร์

อีกแถวมุ่งไปทางปลายแม่น้ำ คือไปทาง Tower Bridge ฉันชักงงล่ะสิ จึงถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใส่เสื้อกั๊กเหลืองที่ยืนอยู่แถวนั้นว่าแถวคนไปถวายบังคมอยู่ที่ไหน

เขาย้อนถามว่าเธอมี wrist band แถบรัดข้อมือหรือยัง ฉันก็ส่ายหน้า เขาบอกว่า คนจะเข้าแถวไปถวายบังคมต้องไปขอแถบรัดข้อมือมาก่อน ไปขอได้ที่ Tower Bridge ทั้งนี้ เพื่อให้รู้ว่าเป็นคนเข้าแถว จะออกจากแถวไปเข้าห้องน้ำกินอาหารเสียหน่อยแล้วกลับมาเข้าแถวต่อก็ทำได้ เขาชี้มือให้เดินตามแถวหนึ่งไป บอกว่าแถวนี้ไปขอแถบรัดข้อมือ ให้เดินตามไปเถอะ

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ประกอบกับความโลภ อยากได้แถบรัดข้อมือมาเป็นที่ระลึก ฉันก็เดินตามแถวไปทันที

แต่ความที่หยุดถ่ายภาพระหว่างทางไปด้วย ฉันจึงพลัดหลงจากแถว ไม่รู้พวกเขาเลี้ยวไปทางไหนกันแล้ว

เดินเปะปะอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งก็เจอตำรวจหญิงหน้าตาใจดีพูดโทรศัพท์มือถืออยู่ เธอเห็นฉันยืนหน้าเหรอหราก็ปิดโทรศัพท์ ถามว่าจะให้ช่วยอะไร

พอฟังเรื่องของฉันว่าหาทางไปสะพานหอคอยไม่เจอ คุณตำรวจใจดีจัดแจงเดินนำฉันไปชี้ทางที่ถูกต้องให้ เมื่อขอเซลฟี่กันเป็นที่ระลึก เธอก็หัวเราะ ยอมให้ถ่ายรูปด้วยอย่างเป็นกันเอง

เดินไปสักพักหนึ่งก็เห็นสะพานหอคอยตระหง่านคร่อมแม่น้ำเทมส์อยู่เบื้องหน้า เห็นแล้วก็สะท้อนใจ เสาธงด้านบนของสะพานทั้งสองเสาที่เคยมีธงโบกสะบัด บัดนี้ชักธงไว้เพียงครึ่งเสา ธงหนึ่งคือธงยูเนียนแจ็กของสหภาพอังกฤษ อีกธงคือธงเซนต์จอร์จ ธงประจำชาติอังกฤษ

ทางเดินเลียบแม่น้ำเทมส์มีคนขวักไขว่ แถวเดินริมแม่น้ำเป็นพวกคนที่ได้แถบรัดข้อมือมาแล้ว แถวที่เดินสวนทางกันถัดออกมาเป็นพวกมาขอแถบรัด แล้วที่เดินเปะปะอยู่ในบริเวณนี้ด้วยอีกกลุ่มคือพวกนักท่องเที่ยว เพราะย่านทางใต้ของแม่น้ำเทมส์ละแวกนี้เป็นย่านยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

มีตำรวจและพนักงานรักษาความปลอดภัยเตร็ดเตร่อยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ หนาตากว่าปกติมาก มีโอกาสคุยกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ใส่เสื้อกั๊กสีเหลือง เขาบอกว่าเนื่องจากเปิดให้คนเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพได้ตลอด 24 ช.ม. พวกเขาจึงมาบริการให้ความปลอดภัยและช่วยบอกข้อมูลกับคนมาเข้าแถวกันตลอดทั้งวัน

เขาทำงานกันกะหนึ่งเริ่มงาน 7 โมงเช้า ไปถึงหนึ่งทุ่ม

ฉันเห็นแถวคนมาขอรับแถบรัดข้อมือก็ท้อใจ เดิมนึกว่าแถวจะสั้นๆ ที่ไหนได้ มองไปไม่เห็นปลายแถวเลย หัวแถวก็มองไม่เห็นเพราะแถวนั้นต้องยืนซิกแซ็กกันตามช่องที่มีรั้วโลหะกั้นไว้เหมือนอยู่ในเขาวงกต

ในที่สุดฉันตัดสินใจเดินเข้าไปหาคุณแม่ลูกสอง หน้าตาเป็นชาวเอเชียตะวันออก ที่กำลังจะไปต่อแถวคนได้แถบรัดข้อมือมาแล้ว ถามว่าเขาใช้เวลาคอยเพื่อรับแถบนี้นานเท่าไร เธอบอกว่าชั่วโมงครึ่ง ลูกชายอายุราวๆ ห้าขวบนั่งในรถเข็นเด็ก ลูกสาววัยเจ็ดขวบยืนอยู่ข้างๆ คุณแม่ ชูแถบรัดข้อมือสีเขียวสดใสอวดฉันเสียด้วย

แถบรัดข้อมือนี้เขาจะเปลี่ยนสีไปแต่ละวัน เมื่อเดินแถวไปถึงสะพานเวสต์มินสเตอร์จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจว่ามีแถบรัดข้อมือหรือไม่ ต้องมีแถบจึงจะให้ผ่านข้ามสะพานได้

คุณแม่ลูกสองบอกว่า เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เช่นนี้ต้องพาลูกมาร่วมด้วย ฉันนับถือน้ำใจครอบครัวนี้จริงๆ ส่วนตัวฉันเองล่าถอยเดินกลับไป London Bridge เพื่อสังเกตการณ์แถวรอถวายบังคมต่อไป

ระหว่างทางเห็นลานกว้างข้างๆ มีส้วมเคลื่อนที่ ซึ่งคนอังกฤษเรียกกันทั่วไปว่า Portaloo ไม่ได้ใช้ศัพท์ทางการที่ว่า portable toilet ตั้งเรียงรายอยู่เป็นตับ มีคนไปใช้บริการ แต่ฉันยังไม่เดือดร้อน จึงเดินเอื่อยๆ ผ่านไป ไม่ต้องรีบจ้ำหนีเพราะไม่มีกลิ่นอันไม่น่าดมโชยมา

อ่านข่าวว่าร้านค้า ร้านอาหาร โรงละครเช็กสเปียร์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่อยู่ในละแวกนี้ยินดีให้ประชาชนเข้าไปใช้ห้องน้ำในร้านได้ และเปิดบริการเพิ่มจากเวลาปกติด้วยเพื่อให้คนเข้าแถวคอยนั้นมีที่เข้าห้องน้ำและซื้ออาหารกินได้นานขึ้น

ที่ South Bank ฉันเห็นตำรวจสองคน หนึ่งนายหนึ่งสาว ยืนแจกน้ำขวดให้คนในแถว ที่ลานใกล้ๆ กันนั้นมีรถพยาบาลจอดคอยรับมือช่วยเหลือผู้ป่วย

นับว่าเป็นโชคดีของชาวอังกฤษที่ช่วงนี้อากาศไม่ร้อนและไม่หนาวจัด คนอังกฤษเคยชินกับอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน

ถ้าอุณหภูมิขึ้นไปถึง 20 องศาเซนติเกรด พวกเขาจะบ่นว่าร้อนกันแล้ว อาจมีคนในแถวเป็นลมกันมากมาย

บ่ายวันนั้นคนที่อยู่ในแถวส่วนใหญ่แต่งตัวสุภาพแบบอังกฤษปัจจุบันคือ ชายหญิงนุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อสีขรึมๆ หญิงที่นุ่งกระโปรงมีน้อย สาวๆ นั้นมีเยอะ แต่ไม่มีใครใส่เสื้อตัวลอยอวดพุงตามแฟชั่นสมัยนี้เลย

ชายที่ใส่เสื้อสูทผูกไท้ดำแบบที่อดีตกัปตันทีมฟุตบอลอังกฤษ เดวิด เบ๊กแฮม แต่งไปถวายบังคมนั้น ฉันไม่เห็นสักคน เห็นแต่บาทหลวงคาทอลิกแต่งชุดดำมืดมีผ้าผูกคอสีขาวๆ หันหน้ามาคุยกับหญิงชายที่ยืนอยู่ด้านหลัง

ที่สะดุดตาคือชายสูงวัยคนหนึ่งแต่งชุดทหารประดับเหรียญพร้อมมายืนเข้าแถวด้วย คนใส่เสื้อสีสดใส แดง ฟ้า เขียว มีอยู่ประปราย คนใส่เสื้อโปโลแขนสั้นมีหลายคน (ส่วนฉันเองต้องใส่แจ๊กเก็ตหนังสีน้ำเงินเข้มทับเสื้อเชิ้ต) พวกคนที่มาก็มีทั้งมาตามลำพัง มาเป็นคู่ มาเป็นกลุ่ม ผิวพรรณเชื้อชาติหลากหลาย ได้ยินภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่อังกฤษอยู่ประปราย

ช่วงที่ฉันเดินสังเกตการณ์คือเวลาบ่ายสามโมงกว่า ถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแถวนั้นว่า จากที่นี่ไปถึงพระที่นั่งเวสต์มินสเตอร์ ใช้เวลาคอยประมาณเท่าไร เขาตอบว่าราวๆ 6 ช.ม.

ฉันนับนิ้วแล้ว เวลาที่พวกนี้จะได้ถวายบังคมก็ประมาณสามทุ่ม พวกคนใส่เสื้อแขนสั้นคงยังไม่หนาวหรอกนะ

ละแวกนี้มีป้ายประกาศว่าอะไรที่เอาเข้าไปในพระที่นั่งเวสต์มินสเตอร์ได้ อะไรที่ห้ามนำเข้า แสดงเป็นรูปภาพชัดเจน ระบุขนาดเป็นเซนติเมตรไว้ด้วย เช่น กระเป๋า ถุง ย่าม ที่มีปากเปิดเห็นข้างในได้ชัดเจน นำเข้าไปได้คนละใบ ขนาด 40 x 30 x 20 ซ.ม. กระเป๋าเดินทางมีลูกล้อ เป้หลัง กระเป๋าสะพายที่ขนาดใหญ่กว่านี้ห้ามนำเข้า

อีกป้ายระบุของต้องห้ามนำเข้า มีรูปประกอบและแจกแจงถี่ถ้วนมาก ได้แก่ กระเป๋าใบที่สอง ดอกไม้ ของที่ระลึก เช่น ตุ๊กตาหมี อาหารและน้ำ รถเข็นเด็ก นกหวีด มีด กรรไกร อาวุธ กระป๋องสเปรย์ โทรโข่ง ป้ายประกาศ กุญแจ โซ่ เป็นต้น

อ่านแล้วก็คิดกันเองว่าทางการป้องกันคนทำอะไรกันบ้างในท้องพระโรง

นอกจากตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว ยังมีอาสาสมัครจำนวนนับพันคน จากองค์กรการกุศลต่างๆ มาช่วยในงานพระราชพิธีพระบรมศพนี้ เป็นพวกที่ช่วยเหลือดูแลให้ข้อมูลตามสถานที่สำคัญต่างๆ หรือช่วยปฐมพยาบาล เป็นต้น อาสาสมัครที่ในสวนหลวงกรีนปาร์กใส่เสื้อกั๊กสีม่วง เห็นอาสาสมัครข้างทางริมแม่น้ำเทมส์ ใส่เสื้อโค้ตสีแดงมีตรากาชาดประทับพร้อมเสื้อกั๊กสีเหลืองสะท้อนแสง เต็มอกเต็มใจช่วยเหลือชี้ทางไปห้องน้ำ

ได้ข่าวว่าตกดึกก็ช่วยแจกผ้าห่มกันหนาวให้คนในแถวด้วย

เนื่องจากย่าน South Bank เป็นย่านนักท่องเที่ยว จึงมีวณิพกเล่นดนตรีขับกล่อมหาเงินอยู่เป็นระยะๆ คนเข้าแถวก็พลอยได้ฟังเพลงเพราะแก้เบื่อ บางช่วงตั้งจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ฉายภาพยนตร์พระราชประวัติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ชม นอกเหนือจากทิวทัศน์ริมแม่น้ำเทมส์

ที่ฉันสังเกตคือ คนที่เข้าแถวนั้นล้วนแต่สำรวมและสุภาพ พูดคุยกันบ้างก็ไม่เอะอะเสียงดัง เสียงตะโกนโหวกเหวกแบบกลุ่มแฟนฟุตบอลที่ออกันหน้าผับอย่างที่เคยเห็นชินตาในลอนดอนนั้นไม่ได้ยินเลย ขบวนแถวอันยาวเหยียดมีคนนับพันๆ คนนั้นต่างพร้อมใจกันแสดงความเคารพต่อสมเด็จพระราชินีนาถผู้ทรงจากไป

วันนั้น ทั้งที่สวนหลวงกรีนปาร์กและบริเวณทางใต้เลียบแม่น้ำเทมส์ที่แถวคอยเข้าเฝ้าถวายบังคมตั้งอยู่ ฉันไม่เห็นฝ่ายนิยมสาธารณรัฐมาชูป้าย Not my king ไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน ดังที่เป็นข่าวในงานพระราชพิธีที่เมืองเอดินเบอระ การที่ตำรวจจับผู้ถือป้ายที่เมืองนั้น ฉันถือว่าเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้มีความเห็นต่างกันในงานสำคัญนี้ แม้จะมีชาวอังกฤษไม่น้อยไม่พอใจตำรวจในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ผู้ที่มีอุดมการณ์นิยมสาธารณรัฐก็ยังสามารถแสดงความไม่นิยมระบบกษัตริย์ได้ในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสื่อโซเชียลต่างๆ ไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทุกสถานการณ์

กลับถึงบ้าน ฉันก็เข้าเว็บไซต์ของสำนักพระราชวัง เขียนคำถวายอาลัยในสมุดออนไลน์ที่จัดไว้ให้ กราบสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงแน่วแน่ในพระหน้าที่ และทรงเป็นต้นแบบแห่งความสม่ำเสมอ ความอุทิศตนต่อครอบครัวและประชาชน ตลอดพระชนม์ชีพอันยาวนาน

ฉันในฐานะผู้มาอาศัยใต้ร่มพระบารมีจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไว้ไม่รู้ลืมเลือน