จิตต์สุภา ฉิน : “tbh” เครื่องมือกรุยทางสู่โซเชียลมีเดียด้านบวก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่าเฟซบุ๊กซึ่งขยันขันแข็งในการซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ และเป็นเจ้าของบริษัทหลายสิบแห่ง ที่รวมถึงอินสตาแกรม วอทส์แอพพ์ และออคคิวลัสวีอาร์ด้วย เพิ่งจะประกาศซื้อกิจการเพิ่มไปอีกอย่าง และซู่ชิงเห็นว่าสตาร์ตอัพรายนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจดีก็เลยหยิบมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

บริษัทที่เฟซบุ๊กช้อปปิ้งมาใส่ตะกร้าในคราวนี้ มีชื่อว่า tbh ค่ะ

แต่เอ…เราไม่เคยได้ยินชื่อกันเลยใช่ไหมคะว่า tbh เนี่ยคืออะไร

ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะตอนนี้ tbh เปิดให้บริการในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นค่ะ

แต่หากใครจะหยิบแนวคิดของเขามาปรับใช้กับโซเชียลมีเดียบ้านเราบ้างก็คงจะดีไม่น้อยนะคะ

เราเคยพูดถึงแอพพ์ที่ทำหน้าที่ในการใช้บอกความจริงกับเพื่อนอย่างสัตย์ตรงแต่นิรนามมาแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่มันทำให้เราได้รู้ว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร

และเราจะนำข้อเสียของตัวเองไปปรับใช้อย่างไร แต่บ่อยครั้งแอพพ์เหล่านั้นถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางโลกไซเบอร์

และนี่เป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของการสร้างแพลตฟอร์มนิรนามเลย

 

tbh เป็นแอพพลิเคชั่นที่แม้จะมีคอนเซ็ปต์นิรนามแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่ส่งถึงกันภายในแอพพ์จะต้องเป็นฟีดแบ็กในด้านบวกเท่านั้น

ผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นทีมงานเล็กๆ ในแคลิฟอร์เนียบอกว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กควรจะเป็นสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่รู้สึกแย่ลงกว่าเดิม

และที่เลือกตั้งชื่อว่า tbh หรือ ทีบีเอช ก็เพราะเป็นคำย่อมาจาก to be honest หรือวลีที่แปลว่า “พูดจริงๆ นะ” หรือ “บอกตรงๆ นะ” เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันความเห็นที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับกันและกันได้นั่นเอง

(แต่ตรงไปตรงมายังไงก็ยังต้องเป็นไปในทางบวกเน้อ)

วิธีการใช้งานของ tbh ก็คือ ผู้ใช้สามารถตั้งโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเพื่อนของตัวเองได้ โดยจะต้องเลือกคำถามที่เป็นไปในทางบวก

อย่างเช่น คำชมเชย หรือการพูดถึงศักยภาพของเพื่อน อย่างเช่น ตั้งคำถามว่า “ใครมีแนวโน้มจะได้เป็นประธานาธิบดีมากที่สุด” “คนที่เพื่อนๆ อยากจะไปขับรถเที่ยวด้วยมากที่สุด” “หรือคนที่มีมันสมองมากที่สุด” อะไรแบบนี้ แล้วก็เปิดให้มีคนมาโหวตกัน คนที่ได้รับการโหวตก็จะได้รับคำแจ้งเตือนว่าตัวเองได้รับเลือก

ซึ่งธรรมชาติของความเป็นนิรนามของแอพพ์ก็จะไม่บอกว่าใครเป็นคนตั้งคำถามหรือใครโหวตให้เราบ้าง

ภายในแอพพ์มีระบบให้เพชรพลอยหรือ “เจ็ม” เป็นรางวัลทุกครั้งที่ใครได้รับการโหวต สำหรับผู้หญิงก็จะได้เจ็มสีชมพู ผู้ชายก็จะได้สีฟ้า หากใครไม่ระบุเพศก็จะได้สีม่วง (แต่อันนี้ส่วนตัวไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันค่ะว่าจะแยกสีไปทำไมตั้งแต่แรก) และได้เจ็มมาก ก็จะมีโอกาสในการปลดล็อกฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคต

แม้ว่า tbh จะเปิดให้ใช้งานเฉพาะบางส่วนในสหรัฐ แต่ก็สามารถทำยอดดาวน์โหลดไปได้แล้วถึง 5 ล้านครั้ง และมีผู้ใช้งานจริงต่อวันอยู่ที่ 2.5 ล้านคน

ตลอดช่วงเก้าสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนตอบโพลรวมทั้งหมด 1 พันล้านครั้ง และติดอันดับหนึ่งของชาร์ตแอพพ์ฟรียอดนิยมติดต่อกันหลายสัปดาห์

ก็เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสตาร์ตอัพรายนี้ถึงไปสะดุดตายักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กเข้าได้

 

ดีลการซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ทีมงานผู้ร่วมก่อตั้ง tbh ทั้ง 4 คน กลายเป็นพนักงานของเฟซบุ๊กและเข้าไปร่วมทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กที่เมนโลพาร์ก โดยจะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติงานของตัวเองต่อไปอย่างเป็นอิสระ

คล้ายๆ กับที่เฟซบุ๊กปล่อยให้อินสตาแกรมและวอทส์แอพพ์ดูแลตัวเองกันได้ แต่ก็จะสามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ของเฟซบุ๊กได้เต็มที่

อย่างเช่น การมีเงินทุนให้หยิบใช้ได้คล่องมือขึ้น

การมีทีมวิศวกรขนาดใหญ่มากความสามารถช่วยรองรับการเติบโตของแพลตฟอร์มที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้

การได้ร่วมใช้เทคโนโลยีแอนตี้สแปมที่เฟซบุ๊กพัฒนามานานนับสิบปีทันทีที่ tbh เปิดใช้ฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานส่งข้อความหากันโดยตรงได้ การเตรียมพร้อมขยายการให้บริการไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ใช่แค่ภายในประเทศแต่รวมถึงต่างประเทศที่มีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างออกไปแต่ว่าเฟซบุ๊กคุ้นเคยหมดแล้ว และการมีทีมที่ช่วยดูแลคอนเทนต์ที่ถูกสร้างบนแพลตฟอร์มอย่างรอบด้านมากขึ้น

การหลอมรวมกันในครั้งนี้ทั้งสองแบรนด์บอกว่าตกลงกันได้เพราะมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ก็คือการสร้างชุมชนที่สนับสนุนให้คนในชุมชนนั้นแบ่งปันและเข้าใกล้กันได้มากขึ้น

ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งของ tbh ก็บอกว่า ขอแค่ได้ช่วยทำให้สุขภาพจิตของวัยรุ่นเป็นล้านๆ คนในยุคนี้ดีขึ้นได้ แค่นั้นก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดแล้ว

 

หนึ่งในประเด็นน่าสนใจจากการซื้อกิจการของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ก็คือ เป็นเรื่องน่าแปลกใจอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกันนะคะที่เฟซบุ๊กลงมือซื้อ tbh เอง เพราะจากประวัติที่ผ่านมาหากเฟซบุ๊กชื่นชอบแนวคิดของสตาร์ตอัพรายไหน ส่วนใหญ่ก็มักจะก๊อบปี้มาใช้บนแพลตฟอร์มตัวเองไปแบบหน้าตาเฉย

อย่างเช่น การที่เคยโคลนฟีเจอร์ของสแน็พแช็ตมาใช้เป็นฟีเจอร์ “สตอรี่” บนทั้งอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กมาแล้ว

ซึ่งก็มีหลายครั้งที่ลอกมาแล้วปัง

หลายครั้งที่ลอกมาแล้วดับ

แต่ในกรณีนี้กลับเลือกที่จะรวม tbh เข้ามาเป็นพวกเดียวกัน มากกว่าจะลอกมาแล้วเหยียบย่ำให้จมดิน (ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริงก็คงจะนับเป็นตลกร้ายน่าดู ที่ทำกับชุมชนที่พยายามสร้างให้เกิดสิ่งแวดล้อมด้านบวกขึ้นแบบนั้น)

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามองก็คือในขณะที่ tbh ได้ใช้ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของเฟซบุ๊กนั้น เฟซบุ๊กเองก็มีความเก่งกาจในด้านการหาเงินจากทุกแพลตฟอร์มที่ครอบครองด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น จึงจะต้องรอดูว่าเฟซบุ๊กจะยอมปล่อยให้ tbh เป็นแพลตฟอร์มฟรีที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อไปหรือไม่

หรือหากจะเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ จะเปลี่ยนไปอย่างไร ในเมื่อ tbh เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไม่ได้เข้ามาใช้เพื่อหวังสร้างผลกำไรหรือหารายได้

 

แต่เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือโลกโซเชียลมีเดียที่เราคลุกคลีอยู่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันกันเรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ อย่างบ้าคลั่ง ราวกับว่าการประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์จะช่วยยกระดับตัวตนบนโลกออฟไลน์ไปได้ด้วย (และหลายกรณีก็เป็นแบบนั้นจริงๆ)

ดังนั้น สิ่งแวดล้อมบนโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นมิตร และไม่ส่งผลดีด้านสุขภาพจิตให้กับผู้ใช้ เช่น เมื่อเราเห็นคนอื่นแสดงแต่ด้านที่น่าอิจฉา

ด้านที่มีแต่ความสำเร็จรุ่งโรจน์บ่อยๆ เข้า ก็จะอดไม่ได้ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง โดยลืมไปว่านั่นเป็นเพียงสิ่งที่เขาเลือกมาแสดงให้เห็นเท่านั้น ทำให้เกิดภาวะคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นจากการเล่นโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มอย่าง tbh จะช่วยทำให้คนหันมาชื่นชมตัวเองมากขึ้น และคำชมเชยที่ได้จากคนอื่นจะมีค่ามากกว่าไลก์ที่เลื่อนลอยด้วย

แต่ก็นั่นแหละค่ะ ทุกสิ่งต้องมีอะไรมาสร้างสมดุลต่อกันเสมอ แพลตฟอร์มที่ชมกันไปชมกันมามากเกินไปแบบไม่มีอะไรมาถ่วงเลย ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหม่ได้อีกเหมือนกัน