กองทัพไทยกับการเมือง (4) | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ปราศจากชาตินิยมที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ความชอบธรรมของกองทัพในการแทรกแซงการเมืองก็หมดสิ้นลง และทำให้การแทรกแซงทางการเมืองนับตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา กองทัพไม่ได้ปฏิบัติการอิสระด้วยตัวฝ่ายเดียว แต่กลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพันธมิตรกลุ่มหนึ่งเท่านั้น กองทัพเสียอีกที่ต้องคอยระวังว่าอำนาจต่อรองของตนในกลุ่มพันธมิตรจะไม่ถูกด้อยความสำคัญลง

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า อันที่จริงแล้ว กองทัพสมัยใหม่ของไทยนั้นเคยเป็นองค์กรรัฐที่ก้าวหน้ามากกว่าองค์กรรัฐอื่นอีกหลายองค์กร เหตุเพราะการจัดองค์กรและการฝึกปรือทักษะล้วนรับมาจากยุโรป โดยไม่สามารถสืบทอดการจัดองค์กรตามประเพณีของกองทัพไทยโบราณมาใช้ได้เลย ในขณะที่องค์กรรัฐแบบใหม่อีกหลายองค์กรยังสืบทอดประเพณีการปกครองโบราณบางส่วนเอาไว้สืบต่อมา ด้วยเหตุดังนั้น หนังสือและสิ่งพิมพ์ของกองทัพในระยะแรก (เช่น ยุทธโกศ) จึงเป็นสื่อสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยนำความคิดสมัยใหม่เข้าสู่สังคมไทยอย่างอิสระเสรีมากกว่าสื่อร่วมสมัยอีกหลายฉบับ

การที่นายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยไปเรียนวิชาในยุโรป ร่วมมือกันกับผู้นำพลเรือนในการยึดอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ผิดแปลกไปจากประเพณีความคิดที่มีในกองทัพมาก่อน นั่นคือกองทัพคือพลังสำคัญอันหนึ่งที่จะผลักดันสังคมไทยไปสู่ความก้าวหน้าทันสมัย

และทางการเมืองหลังยึดอำนาจได้ กองทัพก็เป็นหลักในการต่อต้านปฏิปักษ์ปฏิวัติ และด้วยเหตุดังนั้น พันธมิตรฝ่ายอื่นจึงต้องยอมรับให้ผู้นำกองทัพเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนหนึ่งก็เพราะความชัดเจนหนักแน่นด้าน “อุดมการณ์” ชาตินิยมของกองทัพเอง

(แน่นอนยังมีส่วนอื่นที่เกิดจากสถานการณ์นำไป เช่น การเคลื่อนไหวของพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติโน้มเอียงไปในทางความรุนแรงมาแต่ต้น ทำให้กองทัพเท่านั้นที่จะสามารถเผชิญหน้ากับศัตรูร่วมของฝ่ายปฏิวัติได้)

 

รัฐประหาร 2490 แตกต่างจากการยึดอำนาจใน 2475 เพราะเป้าหมายของกองทัพมีแต่เพียงการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองเท่านั้น ขาดความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรทางการเมืองของตน ได้แก่ ฝ่ายเจ้าและขุนนางเก่าที่สูญเสียอำนาจ, ฝ่ายที่เห็นว่าตนเสียผลประโยชน์หรืออำนาจจากรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งมีลักษณะประชาธิปไตยสูง, ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลขณะนั้น เพราะเกรงว่าเอกราชของประเทศเพื่อนบ้านจะกระทบต่อความมั่นคงของไทย

ด้วยเหตุดังนั้น การเมืองหลังรัฐประหารจึงเป็นการเมืองที่ขาดเอกภาพมาแต่ต้น ต่างฝ่ายต่างจ้องที่จะควบคุมหรือขจัดกลุ่ม ที่เคยเป็นพันธมิตรทำรัฐประหารของตน ด้วยกำลังบ้าง ด้วยกฎหมายบ้าง ด้วยการลอบสังหารหรืออุ้มหายบ้าง ฯลฯ แม้กระนั้นก็ไม่อาจขจัดไปได้หมดจนทำให้อำนาจตกอยู่ในมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงผู้เดียว ฝ่ายที่เหลืออยู่ต้องสั่งสมกำลังและยุทธวิธีที่จะโค่นอีกฝ่ายหนึ่งตลอดมา

จุดแตกหักมาเกิดใน พ.ศ.2500 เมื่อผู้นำกองทัพบกร่วมมือกับชนชั้นนำตามประเพณี ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร กำจัดคู่แข่ง และกลุ่มที่ไม่เป็นที่วางใจของตนออกไปหมด

แม้ว่าในทางกำลังทหารแล้ว ฝ่ายผู้นำกองทัพย่อมยึดกุมไว้ได้เหนือสุด แต่เพราะขาดความชอบธรรมทางการเมือง จึงต้องอาศัยการรับรองและสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การแบ่งปันอำนาจไม่ได้ยุติลงเพียงสองฝ่ายเช่นนี้

 

ด้วยคำแนะนำและความช่วยเหลือของสหรัฐและธนาคารโลก ได้โน้มนำให้คณะรัฐประหารใช้นโยบายพัฒนาประเภทที่เปิดให้เอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย นับตั้งแต่แปรรูปผลิตผลเกษตรกรรมใหม่ๆ หรือหัตถอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า รัฐลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนไฟฟ้า, ถนน, ท่าเรือ, การศึกษา และระบบราชการที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการนำเอาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการกับกิจกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ (หรือที่เรียกกันว่าเทคโนแครต)

กลุ่มคนที่เกิดใหม่จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบนี้ ย่อมมีส่วนแบ่งของอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในระยะแรก อำนาจนั้นย่อมถูกใช้ในลักษณะที่จะไม่บ่อนทำลายตัวระบบ เช่น เทคโนแครตทักท้วงนโยบายบางเรื่องอย่างเงียบๆ กับรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครพูดอะไรเมื่อการก่อสร้างขนาดใหญ่ของราชการต้องเสียค่าต๋งให้แก่บริษัทที่ผู้มีอำนาจตั้งขึ้นสำหรับการนี้โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาเรียกร้องในสิ่งที่ไม่กระเทือนต่อตัวระบบ

เพราะคนเหล่านี้คือผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายพัฒนาของกองทัพ เขาอาจไม่พอใจการดำเนินงานบางเรื่อง แต่เขาย่อมไม่ต้องการให้ระบบถูกทำลายลงเป็นธรรมดา ตราบเท่าที่ตัวระบบสามารถตอบสนองตามสัญญาได้ การทักท้วงหรือแม้แต่ต่อต้านระบบก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของผู้มีอำนาจ เช่นตราบเท่าที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยยังพอจะหางานทำได้ตามความคาดหวัง ตราบเท่าที่เทคโนแครตและบริวารส่วนตัวของเขายังอาจไต่เต้าในระบบราชการต่อไปได้ และตราบเท่าที่… ฯลฯ

แต่อย่างน้อย นโยบายพัฒนา ซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ ได้สร้างกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการต่อรองทางการเมืองขึ้นมาหลายกลุ่ม เช่น นายทุนระดับต่างๆ ซึ่งเข้ามาผลิตสินค้าขั้นปฐม ไปจนถึงผู้ลงทุนกับการแปรรูป และพ่อค้าส่งออก กิจการเหล่านี้ต้องจ้างงานจำนวนไม่น้อย ทั้งจากแรงงานที่ล้นเกินในภาคเกษตรไปจนถึงผู้ได้รับการศึกษาต่างระดับสำหรับแรงงานที่ต้องการฝีมือ การขยายระบบราชการ ทั้งด้านควบคุมและด้านบริการ ก็เพิ่มจำนวนข้าราชการขึ้นเป็นอีกหลายเท่าตัว มีการขยายการศึกษาทุกระดับมาแต่ต้น ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่มีเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้เกิดคนชั้นกลางต่างระดับในเขตเมือง หรือเมืองกึ่งชนบททั่วไป

จำนวนมากของคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ ทั้งมีรายได้อย่างเป็นอิสระตามอาชีพการงานของตน ทำให้จำนวนคนที่มีศักยภาพจะต่อต้านรัฐจำนวนไม่น้อย ไม่อยู่ในความควบคุมของรัฐ อย่างน้อยก็ไม่อยู่โดยตรง และพวกนี้แหละที่หากพิจารณาว่าสถานการณ์เป็นผลร้ายต่อเขามากเกินไป ก็อาจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบได้

 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าคนกลุ่มที่เติบโตมาจากนโยบายพัฒนาเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ฐานที่แข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตย พวกเขาไม่ถนัดที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น แม้ให้เงินบำรุงพรรคการเมืองก็เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่างเป็นคราวๆ ไป อาจเป็นโอกาสควบรวมกิจการเพื่อครอบงำตลาด หรือเพื่อเปิดทางให้แก่การประมูลสัมปทานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่คิดจะใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือการต่อรองทางการเมืองในระยะยาว

แต่จะโทษพวกเขาเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยมีโอกาสเข้ามาเป็นหลักกำกับการเมืองในประเทศไทยน้อยมาก ทำให้ทุกฝ่ายขาดความชำนาญที่จะสร้างและใช้กลไกต่อรองของระบอบประชาธิปไตย ปราศจากกลไกและการต่อรองตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้การต่อรองมักนำไปสู่ท้องถนนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายอำนาจแตกกันเองเป็นหลายกลุ่มหลายพวก

ถนนคือกลไกการต่อรองทางการเมืองในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่ารัฐสภา, พรรคการเมือง, สื่อ, โรงเรียน ฯลฯ บรรยากาศเช่นนี้ยิ่งเปิดโอกาสให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็สามารถอ้างได้ว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าท้องถนนถูกฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจใช้เพื่อประท้วงต่อต้าน รัฐไทยก็มีประสบการณ์ในการจัดการเหตุการณ์เช่นนี้ไม่มาก นอกจากตอบโต้ด้วยความรุนแรง โดยส่งกำลังทหารหรือตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุมอย่างค่อนข้างป่าเถื่อน หลายครั้งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งต้องจับกุมคุมขังผู้ร่วมประท้วงเป็นจำนวนมาก กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกและเป็นบาดแผลที่ไม่มีทางรักษาเยียวยาตลอดไปในสังคม

นอกจากนี้ รัฐประหาร 2490 ยังประจวบเวลากับการขยายตัวของสงครามเย็นเข้ามาในภูมิภาคของเรา กองทัพจึงได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐในรูปต่างๆ สูง และยิ่งนับวันก็ยิ่งสูงมากขึ้น ทำให้กองทัพมีอาวุธยุทธภัณฑ์ทันสมัย, กำลังพลเพิ่มขึ้น รวมทั้งเงินทุนในการทำกิจกรรมทางด้านอื่นๆ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามความจำนงของสหรัฐ

ในขณะเดียวกัน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพล ป.ก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากสมัยสงครามโลก นั่นคือสงวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไว้ให้เป็นของรัฐ ดังนั้น รัฐวิสาหกิจประเภทต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นจึงมอบให้นายพลจากกองทัพบริหาร กำไรขาดทุนอย่างไร รัฐก็ต้องอุ้มไว้ตลอด ดังนั้น ตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจึงเป็นรางวัลที่ผู้มีอำนาจใช้แจกจ่ายนายพลในกองทัพ

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการค้าผิดกฎหมาย เช่น ค้าฝิ่น ซึ่งเฉพาะนายทหารระดับสูงเท่านั้นที่สามารถสั่งสมทรัพย์สมบัติจากการค้าประเภทนี้ได้

 

การสั่งสมทรัพย์สมบัติของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพ ไม่ว่าจะโดยผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ทำให้การเกาะกลุ่มกันในกองทัพเปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ฝ่ายที่ได้ตำแหน่งคุมกำลังก็ต้องแลกความภักดีกับนายผู้ให้การอุปถัมภ์และความก้าวหน้าในราชการ ลักษณะเช่นนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารระดับกลางก่อนการปฏิวัติใน 2475 ซึ่งเกาะกลุ่มเข้าหากันด้วยอุดมการณ์มากกว่า แม้ว่าความสัมพันธ์โดยส่วนตัวแล้วอาจไม่ราบรื่นเสมอไป (ดังเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระยาทรงสุรเดชและหลวงพิบูลสงคราม)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในลักษณะผลประโยชน์เช่นนี้ จะเป็นฐานให้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า “ทุนเครื่องแบบ” (Khaki Capital) ซึ่งครอบงำกองทัพทั้งโลกกระมัง แต่มีความเด่นมากในกองทัพไทย (Paul Chambers และ Napisa Waitoolkiat ผู้แต่งหนังสือชื่อเดียวกันนี้ถึงกับกล่าวว่า เป็นที่น่าอิจฉาแก่กองทัพของประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด) เพราะกองทัพแม้แต่หลังสงครามเย็นแล้วก็จะได้ทรัพยากรไว้ในครอบครองมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ทรัพยากรที่ถือไว้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการทหารเช่นที่ดิน ก็กลายเป็นแหล่งรายได้อย่างใหญ่แก่กองทัพได้ ยังไม่พูดถึงสถานีโทรทัศน์, วิทยุทั่วประเทศ, สนามม้า, สนามมวย, หุ้นในธนาคาร ฯลฯ อันล้วนเป็นรายได้ที่อยู่นอกการควบคุมของกระทรวงการคลังทั้งสิ้น

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือทุนเครื่องแบบเพียงอย่างเดียว ก็บังคับให้กองทัพต้องเข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากอยู่แล้ว

 

นอกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว กองทัพมีอำนาจมากขึ้นทั้งจากการขยายกำลังพลอย่างไม่หยุดและการสั่งสมอาวุธยุทธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และทั้งจากภาระหน้าที่ซึ่งเพิ่มขึ้นด้วยการเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการเผชิญกับการต่อต้านด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการจัดหน่วยงานหรือขยายหน่วยงานทหารให้กลายเป็นหน่วยราชการ ที่มีอำนาจในการดูแลจัดการหลายต่อหลายเรื่องมากกว่าหน่วยราชการซึ่งควรมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วเสียอีก (เช่น กอ.รมน., งานบรรเทาสาธารณภัย, ป้องกันการเคลื่อนย้ายยาเสพติดข้ามชาติ) แม้แต่การวางนโยบายต่างประเทศก็กลายเป็นเรื่องที่กองทัพต้องตัดสินใจ และหลายครั้งเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดเสียกว่าหน่วยงานอื่น

ภาระหน้าที่ซึ่งเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการมีอำนาจในการควบคุมการบริหารอยู่หลังฉากของกองทัพ เช่นนี้ทำให้กองทัพไม่อาจยอมรับการปรับเปลี่ยนใดๆ ได้เลย เช่น กอ.รมน.ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางในการใช้กำลังทหารปราบปรามกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อ ผกค.ได้ยุติการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธลงแล้ว หน่วยงาน กอ.รมน.ก็ยังอยู่ ขยายภารกิจไปสู่เรื่องอื่นๆ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับการปราบคอมมิวนิสต์อีกเลย

ผลประโยชน์และอำนาจหลังฉากเช่นนี้แหละ เป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันให้กองทัพต้องแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่เลิกรา เมื่อไรที่การเมืองพัฒนาไปในทางที่จะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง อาจปรับเปลี่ยนฐานะ, บทบาท หรือความสัมพันธ์กับรัฐ ของกองทัพไปได้ กองทัพก็อาจยึดอำนาจเพื่อสร้างเงื่อนไขที่การเลือกตั้งจะไม่มีวันตัดสินชี้ขาดในเมืองไทยได้อย่างอิสระและเด็ดขาดได้เลย