ผลงานวิจัยที่ไม่ใช่นวัตกรรม / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

ผลงานวิจัยที่ไม่ใช่นวัตกรรม

 

เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการวิจัยค้นคว้าของคนไทย มองบ้านมองเมือง ขอนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ ที่บังเอิญผู้เขียนไปเป็นกรรมการสอบ เมื่อเร็วๆ นี้

น.ส.ดุษฎี อังคณาวิศัลย์ นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง ขนาดประตูอะลูมิเนียมและกระจกที่เหมาะสม ในการออกแบบอาคารสำนักงาน

ด้วยประตูหน้าต่าง เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาคาร และมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะวงกบและบานกรอบอะลูมิเนียมและลูกฟักกระจก ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

นิสิตจึงเลือกศึกษาประตูหน้าต่าง ในอาคารสำนักงาน 18 หลัง ที่ออกแบบโดยสถาปนิก กรมโยธิการและผังเมือง ซึ่งพบว่า มีประตูหน้าต่างหลากหลายรูปแบบและขนาด เฉพาะประตูบานเปิดเดี่ยว รูปแบบเดียวกัน ขนาดใกล้เคียง ยังมีถึง 11 แบบ

สำหรับอะลูมิเนียมและกระจก ที่เป็นผลผลิตอุตสาหกรรมจากโรงงาน โดยอะลูมิเนียมจะผลิตออกมา มีความหนาและหน้าตัดต่างๆ แต่ความยาวจะมีขนาดเดียว คือ 6.30 เมตรเท่านั้น ส่วนกระจกที่สถาปนิกกำหนดความหนากระจกไว้ที่ 6 มิลลิเมตรนั้น โรงงานผลิตกระจกมาหลายขนาดให้เลือกใช้

เพื่อให้สอดคล้องกระแสรักษ์โลก ลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน ในการผลิตวัสดุอุตสาหกรรม ลดปริมาณขยะเศษวัสดุก่อสร้าง และที่สำคัญ ลดค่าใช้จ่ายแรงงาน ในการประกอบวงกบ บานกรอบ และติดตั้งกระจก ณ สถานที่ก่อสร้าง

จึงมีแนวคิดในการหาขนาดประตู ที่สอดคล้องความยาวของอะลูมิเนียมและขนาดกระจก เพื่อให้เหลือเศษทิ้งและใช้แรงงานในการทำงานน้อยลง อันจะส่งผลต่อค่าก่อสร้างโดยรวมลดลง

จนได้ข้อเสนอว่า สถาปนิกผู้ออกแบบลดประตูแบบบานเปิดเดี่ยว เหลือเพียง 2 ขนาด คือ 1.05 x 2.10 เมตร หรือ 1.05 x 3.15 เมตร

 

ทําให้คิดถึงงานวิทยานิพนธ์ที่คล้ายกันเมื่อหลายปีก่อน คือ นายรณกร ชมธัญกาจน์ ศึกษาเกี่ยวกับการผลิตแผ่นคอนกรีต ของบริษัท พฤกษาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) สำหรับก่อสร้างบ้านในระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป

โดยพบปัญหาในการเตรียมช่องเปิดสำหรับติดตั้งประตูหน้าต่างนั้น เนื่องจากสถาปนิกแต่ละคนสร้างสรรค์ จนมีประตูหน้าต่างหลายขนาดต่างกัน ทำให้มีแบบเหล็กที่หล่อช่องเปิดมากตามไปด้วย และส่งผลให้ใช้เวลานานในการค้นหาแบบเหล็กที่ใช้ในการหล่อแผ่นผนัง

จากการวิเคราะห์ขนาดประตูหน้าต่างทั้งหมด ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น จะต้องลดขนาดประตูหน้าต่างให้มีขนาดใกล้เคียงกัน เพื่อลดจำนวนแบบเหล็ก และลดภาระในการเลือกหาแบบเหล็ก ที่จะส่งผลให้ลดเวลา และแรงงานในการทำงาน

รวมทั้งลดค่าใช้จ่าย สำหรับประตู หน้าต่างที่จะต้องตั้งภายหลัง

 

จะเห็นได้ว่า นอกจากผลงานวิจัยทั้งสองเรื่อง มีความคล้ายกันแล้ว ยังเป็นงานวิจัยมีคำตอบชัดเจนเป็นรูปธรรม แม้การวิจัยค้นคว้าไม่ได้ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ราคาแพง หรือระบบคอมพิวเตอร์ซับซ้อน อาศัยเพียงความรู้ ความเข้าใจ และเวลาศึกษาปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง

แต่ผลวิจัย นำไปปฏิบัติได้จริง เป็นการนำความรู้วิชาการ ไปสู่การปฏิบัติจริงในบริษัท หรือองค์กรต่างๆ โดยตรง และส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคมไทยโดยรวม

แต่ทว่า งานวิจัยแบบนี้ จะไม่อยู่ในความสนใจผู้บริหารหรือคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพราะไม่ใช้ความรู้ก้าวหน้า หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ใช่งานนวัตกรรมหรือนำไปจดสิทธิบัตรได้ ที่สำคัญ ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ และไม่ส่งผลต่อการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลก

ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล ในการคิดค้นปากกาสำหรับให้นักบินนำไปใช้เขียนเวลาอยู่ในอวกาศ ในขณะที่นักบินรัสเซียเลือกใช้ดินสอธรรมดา สำหรับการเขียนในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง

ท่านรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คงเคยอ่านเรื่องนี้ จึงได้ประกาศเปลี่ยนเกณฑ์ต่างๆ ยอมรับผู้มีประสบการณ์ทำงานจริง มากกว่าผู้มีปริญญาสูง และเขียนบทความเก่งแล้ว เลยเหลือแต่บรรดาผู้ที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ใกล้ๆ ตัวผู้เขียนเท่านั้น •