หกเดือนในนรก! สงครามที่ไม่จบในยูเครน/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

หกเดือนในนรก!

สงครามที่ไม่จบในยูเครน

 

“การสู้รบเกิดขึ้นที่นี่; ข้าพเจ้าต้องการกระสุน, ไม่ต้องการการอพยพ”

ประธานาธิบดีเซเลนสกี

 

ในการฉลองวาระครบรอบ 31 ปีของการเป็นเอกราชของยูเครนจากอดีตที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียตนั้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไป…

สงครามเดินมากว่า 6 เดือนแล้ว และยาวกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด

ความเชื่อที่ว่าสงครามยูเครนจะยุติอย่างรวดเร็วด้วยความเหนือกว่าของกำลังรบของรัสเซีย กลายเป็นเพียง “ความฝันที่ไม่เป็นจริง” ของประธานาธิบดีปูติน

กองทัพรัสเซียยังไม่สามารถบดขยี้กองทัพยูเครน และเข้ายึดครองยูเครนได้ แม้รัสเซียจะทุ่มกำลังรบในการเปิดสงครามครั้งนี้อย่างมากก็ตาม

ขณะเดียวกันสันติภาพก็คือ “ความฝันที่ไม่เป็นจริง”… หกเดือนของสงครามที่ผ่านไป ไม่มีแนวโน้มของการเจรจาระหว่างคู่สงครามชุดนี้แต่อย่างใด

ภาพที่เกิดขึ้นกลับเป็นการโจมตีของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และเป็นการโจมตีอย่างไม่จำแนกเป้าหมาย เสมือนหนึ่งรัสเซียกำลังใช้ “มาตรการแบบเบ็ดเสร็จ” แม้ว่าจะไม่ใช่สงครามเบ็ดเสร็จโดยตรงก็ตาม จนอาจเรียกการถูกโจมตีอย่างหนักในครั้งนี้ว่าเป็น “นรกในยูเครน” หรือเป็น “หกเดือนในนรก” สำหรับชีวิตประชาชนชาวยูเครน

ดังจะเห็นได้ว่าในหกเดือนของสงคราม มีชาวยูเครนเสียงชีวิตหลายพันคน

และชาวยูเครนเป็นหลักล้านคนที่กลายเป็นผู้อพยพพลัดถิ่นแบบไม่มีทางเลือก

อีกหลายชีวิตตกอยู่ใน “มิคสัญญีสงคราม” อย่างน่าหดหู่ใจ

หกเดือนที่ไม่แพ้!

สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบหกเดือนของสงครามคือ ความเกลียดชังของประชาชนชาวยูเครนที่มีต่อผู้นำรัสเซีย

การเปิดสงครามของประธานาธิบดีปูตินเป็นคำตอบในตัวเองว่า โอกาสที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะหวนคืนสู่มิตรภาพระหว่างกันนั้น เป็นไปไม่ได้แล้ว

เพราะผลจากการเปิดสงครามของผู้นำรัสเซียที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นการสร้างความ “เกลียดชัง” ชุดใหญ่ และยิ่งนานวัน ความเกลียดชังชุดนี้กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น…

บาดแผลสงครามจาก “สงครามของปูติน” ได้ปิดประตูความสัมพันธ์ในฐานะของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของสองประเทศ ได้สิ้นสุดลงไปหมดแล้ว และสงครามครั้งนี้ได้สร้างมุมมอง (perception) อย่างมีนัยสำคัญว่า รัสเซียคือ “ภัยคุกคาม” ต่อเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

ซึ่งทัศนะเช่นนี้จะอยู่กับชาวยูเครนไปอีกหลายรุ่นของชีวิตคน

ตัวอย่างของเรื่องเล่าจากความโหดร้ายของทหารรัสเซียที่เมืองมาริอูโปลเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ การเผาร่างของประชาชนที่ถูกสังหารแล้วนำมากองรวมกัน การปิดล้อมเพื่อให้ประชาชนที่ต้องหลบภัยสงครามในชั้นใต้ดินต้องอดอยากและหนาวตาย การข่มขืนและสังหาร เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในวงกว้างจนยากที่จะปิดบัง

สำหรับประชาชนยูเครนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ไม่ต่างจากเรื่องเล่าที่ถูกกล่าวขานตกทอดกันมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการกระทำของกองทัพนาซี

ดังนั้น จึงเป็นเหมือนเรื่องย้อนแย้ง ที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (Special Military Operations) ของกองทัพรัสเซียนั้น เป็นไปเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนิยมนาซีที่กรุงเคียฟ

นอกจากนี้ ยังพบการสังหารประชาชนในอีกหลายพื้นที่ของยูเครน จนนำไปสู่ข้อเสนอในเรื่องของการเอาผิดผู้นำทั้งทางการเมืองและการทหารในฐานะ “อาชญากรสงคราม”

ว่าที่จริงแล้วทุกฝ่ายรู้ดีว่า “วาทกรรมต่อต้านนาซี” เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมของรัฐบาลมอสโกในการแสวงหาความสนับสนุนจากคนในสังคมรัสเซีย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับเมื่อครั้งผู้นำโซเวียตในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นประธานาธิบดีสตาลิน ที่เคยแสดงบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามกับฮิตเลอร์ จนได้รับชัยชนะมาแล้ว

การสื่อสารทางการเมืองกับชาวรัสเซียอาจจะประสบความสำเร็จด้วยการควบคุมและเซ็นเซอร์สื่อในสังคม แต่ในสังคมโลกอาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น อีกทั้งปัญหาเกิดขึ้นเป็นเพราะสังคมยูเครนมีทิศทาง “มองตะวันตก” ไปทางสหภาพยุโรป มากกว่าจะเป็น “มองตะวันออก” ที่ถือเอารัสเซียเป็นแม่แบบ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา แม้ยูเครนจะเป็นเหมือน “นรก” จากการโจมตีทางทหารของรัสเซีย แต่พวกเขากลับสร้างเอกภาพในการต่อต้านรัสเซียได้อย่างเข้มแข็ง

จนกล่าวได้ว่าวันนี้ “ขวัญกำลังใจ” ของทหารและประชาชนชาวยูเครนในการยืนหยัดต่อสู้กับรัสเซียนั้น กลายเป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” และสามารถยันกับการรุกใหญ่ทางทหารของกองทัพรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และพิสูจน์ด้วยสถานการณ์การรบจริงที่กองทัพรัสเซียยังไม่สามารถยึดยูเครนได้

ขณะเดียวกันก็ยังมองไม่เห็นโอกาสชัยชนะของกองทัพรัสเซียแต่อย่างใด

อันอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่ากองทัพรัสเซียเข้าไปติด “กับดักสงคราม” ไม่ต่างจากการที่เคยติดกับดักนี้ในสงครามอัฟกานิสถานหลังจากปี 2522/23 มาแล้ว

People walk around destroyed Russian military vehicles installed in downtown Kyiv, Ukraine, Wednesday, Aug. 24, 2022. Kyiv authorities have banned mass gatherings in the capital through Thursday for fear of Russian missile attacks. Independence Day, like the six-month mark in the war, falls on Wednesday. (AP Photo/Evgeniy Maloletka)

วีรบุรุษสงคราม!

ในอีกด้านสงครามต่อต้านรัสเซียก็สร้างให้ประธานาธิบดีเซเลนสกี กลายเป็นวีรบุรุษในระดับโลกทันทีหลังจาก 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และถูกยกย่องให้เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการเป็น “ผู้นำในภาวะวิกฤต” ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการนำประชาชนต่อสู้กับการรุกรานของรัฐมหาอำนาจภายนอก

โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะนำการต่อสู้ แทนที่จะตัดสินใจทิ้งประเทศด้วยการออกไปจัดตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” ในประเทศตะวันตก แต่เขากลับร้องขอให้สหรัฐสนับสนุนการต่อสู้ด้วยการส่งกระสุนมาให้แทน ด้วยคำกล่าวในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ว่า “The fight is here; I need ammunition, not a ride” (คำสัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี)

คำกล่าวของประธานาธิบดีเซเลนสกีเช่นนี้ ได้ใจคนอย่างมาก ทั้งในยูเครนและในโลกตะวันตก จนเขากลายเป็น “ฮีโร่ของโลก” ในทันที

และคำปฏิเสธที่จะละทิ้งประเทศในยามสงครามกลายเป็นหัวข้อข่าวใหญ่ของโลกในทันทีเช่นกัน ดังที่ปรากฏในสื่ออย่างนิวยอร์กไทม์สหรือซีเอ็นเอ็น เป็นต้น

และนิวยอร์กไทม์สได้ยกย่องว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีซีเลนสกีจะมีชีวิตรอดจากการโจมตีขนาดใหญ่ของรัสเซียหรือไม่ก็ตาม แต่ชื่อของเขาได้เข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ยูเครนเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งการประเมินเช่นนี้ไม่น่าจะผิดแต่อย่างใด การยืนหยัดต่อสู้กับ “สงครามของปูติน” ทำให้เขากลายเป็นผู้นำในเวทีโลกอย่างเด่นชัด ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ความช่วยเหลือจากภายนอกโดยเฉพาะในทางทหารหลั่งไหลไปสู่ยูเครน

ในหกเดือนของสงครามนั้น ปัจจัยผู้นำเป็นประเด็นสำคัญในการสงคราม และเป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” อีกแบบในการสร้างขวัญกำลังใจของคนในประเทศ ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาติพันธมิตรเกิดความเชื่อมั่นที่ให้การสนับสนุนการต่อสู้ อย่างน้อยเมื่อผู้นำตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการต่อสู้แล้ว ก็เป็นหลักประกันสำคัญทั้งในทางการเมืองและการทหาร ที่มีนัยว่าสงครามในยูเครนจะไม่ถูกละทิ้งจากตัวผู้นำและประชาชนยูเครนเอง

ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผู้นำตัดสินใจละทิ้งการต่อสู้ ด้วยการหนีออกนอกประเทศไปก่อนที่คาบูลจะแตก

ผู้นำที่หนีและละทิ้งประเทศเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะชนะในสงคราม และเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ในตัวเอง

 

หกเดือนแห่งความล้มเหลว!

สําหรับประธานาธิบดีปูตินแล้ว การตัดสินใจในการเปิดสงครามยูเครนอาจจะใช้เป็นปัจจัยในการก่อกระแสชาตินิยมภายในสังคมรัสเซีย ด้วยการสร้างวาทกรรมทางการเมืองว่า กองทัพรัสเซียจำต้องเข้าไปปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครนที่ถูกข่มเหงรังแกจากรัฐบาลเคียฟ ซึ่งจะทำให้ชาวรัสเซียบางส่วนเห็นชอบและสนับสนุนรัฐบาล

อีกทั้งการปิดเว็บที่เห็นต่างในกรณีสงครามยูเครน ตลอดรวมถึงการจับกุมผู้นำฝ่ายค้าน ทำให้การเผยแพร่ข่าวสารความสูญเสียของทหารรัสเซีย กลายเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่ก็มิได้ทำให้กระแสต่อต้านสงครามยูเครนหายไปจากสังคมรัสเซีย

วันนี้มีนักกิจกรรมที่ต่อต้านสงครามถูกจับแล้วเป็นจำนวนหลักพันในรัสเซีย

แต่ประเด็นสำคัญที่เกิดกับสังคมรัสเซียคือ การที่ประเทศถูกโดดเดี่ยวและถูกตัดขาดออกจากสังคมยุโรป ซึ่งในอนาคตอาจรวมถึงการที่สหภาพยุโรปอาจ “แบน” นักท่องเที่ยวรัสเซีย สิ่งสำคัญอย่างมากคือ การตัดระบบการเงินและการธนาคารของรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก (SWIFT) ซึ่งเป็นดังการทิ้ง “ระเบิดนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” ตลอดรวมถึงการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียถูกกระทบอย่างมาก

แม้รัสเซียพยายามจะหันไปพึ่งจีน และชาติพันธมิตรของรัสเซีย เช่น อินเดีย เพื่อเป็นผู้ซื้อสินค้าแทนลูกค้าเดิม เช่นในกรณีของพลังงาน เป็นต้น

ด้วยเงื่อนไขของการถูกปิดล้อมจากโลกตะวันตก ทำให้ระบบเศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแออย่างมาก จนในอนาคตรัสเซียอาจกลายเป็น “รัฐพึ่งพา” ต่อจีน เพราะจีนมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากกว่า

แม้รัสเซียจะมีทรัพยากรเช่นในกรณีของพลังงาน ซึ่งในช่วงสงคราม รัสเซียเคยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันรัฐยุโรป ดังตัวอย่างเช่น เยอรมนีเคยเป็นผู้พึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอย่างมาก เป็นต้น

แต่สหภาพยุโรปปัจจุบันมีความพยายามที่ลดการพึ่งพาดังกล่าวลง และมองว่ารัสเซียกำลังทำ “สงครามพลังงาน” และยังรวมถึงการปิดตัวของธุรกิจตะวันตกที่มีฐานการผลิตในรัสเซีย

ฉะนั้น สงครามยูเครนในหกเดือนที่ผ่านมาทำลายศักยภาพของรัสเซีย จนรัสเซียจะไม่เข้มแข็งแบบเดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของสงครามคือ การต้องได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว แต่โอกาสที่กองทัพรัสเซียจะเป็นผู้สถาปนาชัยชนะด้วยการยึดครองยูเครนอย่างรวดเร็วนั้น เป็นไปไม่ได้แล้ว

สงครามมีลักษณะที่รบต่อเนื่องยาวนาน และอาจจะนานไปตลอดฤดูหนาว

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้รัสเซียต้องเร่งขยายกำลังพล ซึ่งมีนัยถึงการทดแทนต่อความสูญเสียที่เกิดในสงคราม ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความล้มเหลวทางทหารของรัสเซียในยูเครนอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นผลของความผิดพลาดของการประเมินสถานการณ์ว่า รัฐบาลเคียฟไม่น่าจะมีศักยภาพในการต่อต้านสงครามของกองทัพรัสเซีย

ถ้ามีการต่อต้านก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน และนำไปสู่การยอมแพ้ แล้วรัสเซียจะเข้ามาควบคุมยูเครนเช่นความสำเร็จในการยึดไครเมียในปี 2014 หรือประชาชนยูเครนจะเปิดประเทศรอรับการ “ปลดปล่อย” จากกองทัพรัสเซียเช่นในสงครามต่อต้านนาซี

แต่โลกของยูเครนเปลี่ยนไปหมดแล้วจากที่ผู้นำมอสโกคิด หลังการเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสไมดานในปี 2014 คนหนุ่มสาวและรัฐบาลเคียฟมีทิศทางที่ชัดเจนในการพาประเทศไปในเส้นทางของสหภาพยุโรป แม้จะถูกสร้างเป็นวาทกรรมว่า ทิศทางเช่นนี้คือการพายูเครนไปเป็นสมาชิกของนาโตก็ตาม แต่ก็มีความหมายว่า ชาวยูเครนอยากอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของผู้นำรัสเซีย

ดังนั้น แม้ประธานาธิบดีปูตินจะสามารถออกแรงผลักสงครามยูเครนให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ เพราะรัสเซียยังมีอาวุธเก่าเหลือใช้จำนวนมากให้ทำสงครามต่อไป แต่กำลังพลรัสเซียในสนามรบก็รับรู้เป็นอย่าวดีว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็น “หกเดือนในนรก” ที่ยูเครนเช่นกัน!