การล่าถอยของรัสเซีย จุดเปลี่ยนสงครามยูเครน?/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

การล่าถอยของรัสเซีย

จุดเปลี่ยนสงครามยูเครน?

 

รายงานสถานการณ์แนวรบในยูเครนในช่วงสัปดาห์เศษที่ผ่านมาน่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพยูเครนเริ่มต้นการโต้กลับแบบ “เซอร์ไพรส์” ต่อกองกำลังรัสเซียที่ตรึงเป็นแนวอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

การรุกกลับแบบไม่ให้เตรียมเนื้อเตรียมตัวดังกล่าวเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมา และยังคงโหมโจมตีแนวรับของรัสเซียอย่างต่อเนื่องแบบไม่ให้ตั้งตัว พอถึง 11 กันยายนที่ผ่านมา วาเลอรี ซาลูซนีย์ ผู้บัญชาการทหาร แถลงว่า กองทัพยูเครนสามารถยึดพื้นที่คืนจากรัสเซียได้มากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตรในช่วงระยะเวลาเพียง 11 วัน

ในขณะที่ตัวเลขพื้นที่ซึ่งยึดคืนได้จากรัสเซียจากแหล่งอื่นๆ บางแหล่งอ้างว่ามีมากถึงเกือบ 9,000 ตารางกิโลเมตรด้วยซ้ำไป

ถือเป็นการยึดพื้นที่กว้างใหญ่ได้ในชั่วเวลาไม่นานจากการยึดครองของกองกำลังรัสเซียซึ่งต้องใช้เวลาสู้รบนานหลายเดือนกว่าจะเอาชนะได้

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือลักษณะการล่าถอยของทหารรัสเซีย มีรายงานสะพัดในพื้นที่ว่าเป็นไปอย่างแตกตื่น พ่ายแพ้แบบไม่มีประตูสู้ ทิ้งอาวุธยุทธภัณฑ์จำนวนมากไว้เพื่อหวังเอาชีวิตรอดให้ได้เท่านั้น

กองทัพยูเครนสามารถยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ 2 จุดของเขตคาร์คีฟได้ หนึ่งคือเมืองอิซยูม อีกหนึ่งคือคุปแยนสก์ ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่การรุกกลับเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 กันยายน กองทัพยูเครนใช้ปืนใหญ่ถล่มแนวข้าศึกอย่างหนักหน่วงเป็นเวลา 2 วัน แนวรุกก็สามารถเข้าประชิดและปิดล้อมเมืองบาลาคลียา ที่อยู่ในการยึดครองของรัสเซียได้ ในอีก 3 วันถัดมา คูปแยนสก์ซึ่งเป็น “ฮับ” ขนาดใหญ่ของเส้นทางรถไฟและถนนหลวง ก็ตกอยู่ในมือของยูเครน

พอถึงวันที่ 10 กันยายน อิซยูม “ฮับ” ด้านคมนาคมสำคัญอีกเมืองซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ก็ถูกปิดล้อม เมื่อทหารยูเครนบุกเข้าประชิดนั้นปรากฏว่า ส่วนใหญ่ของทหารรัสเซียที่รักษาเมืองอยู่พากันทิ้งที่มั่น หลบหนีมุ่งตะวันออก ทิศทางที่จะมุ่งไปสู่ชายแดนรัสเซีย

ข้ออ้างของกองทัพรัสเซียก็คือ ทหารเหล่านี้ไม่ได้แตกพ่าย แต่เป็นการถอนกำลังออกมาเพื่อ “รวมกำลังกันใหม่” แผนที่ทางทหารของฝ่ายรัสเซียเองแสดงให้เห็นว่า กำลังทหารถูกถอนออกมาจากแนวรบแทบจะทั่วทั้งจังหวัดคาร์คีฟ โดยมีเป้าหมายเพื่อไปรวมกันตั้งรับการรุกกลับของยูเครนตามแนวแม่น้ำออสคิล

แต่ไม่มีใครแน่ใจว่าแนวรับที่ว่านี้จะต้านทานอยู่ได้นานเท่าใด ในเมื่อทหารยูเครนยังคงเคลื่อนกำลังผลักดันไปทางตะวันออกไม่หยุดหย่อน

 

การสูญเสีย อิซยูม, คูปแยนสก์, บาลาคลียา และอื่นๆ จนต้องถอนกำลังออกจากจังหวัดคาร์คีฟแทบหมดนั้น กระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแผนการสำคัญของฝ่ายรัสเซียที่ต้องการปลดปล่อยแคว้นดอนบาสทั้งแคว้นให้เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย

นักวิเคราะห์ที่เฝ้าจับตาสถานการณ์ทางทหารในยูเครนอยู่ตลอดเวลาระบุว่า การรุกกลับที่ได้ผลอย่างน่าทึ่งของกองทัพยูเครนครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุปัจจัยสำคัญ 2 ประการ

ปัจจัยแรกสุดก็คือ ในการรุกกลับแบบลับสุดยอดครั้งนี้ ยูเครนสามารถป้องกันไม่ให้เครื่องบินรบของฝ่ายรัสเซียออกปฏิบัติการโจมตีในแนวหน้าได้อย่างอิสระเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา สาเหตุเป็นเพราะระบบอาวุธต่อต้านอากาศยานใหม่ๆ หลายอย่างที่ยูเครนได้รับจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นจรวดต่อต้านเรดาร์, ระบบสื่อสารในสมรภูมิ และปืนต่อสู้อากาศยานต่างๆ

ถัดมาแหล่งข่าวทางทหารในพื้นที่สู้รบระบุว่า ความสำเร็จของการบุกทะลวงแนวตรึงกำลังของรัสเซียครั้งนี้ ส่วนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ด้วยกลศึก จงใจกระจายอาวุธหนักออกไป ทำอุบายให้ชะล่าใจว่า หากยูเครนจะเปิดฉากรุกก็จะเป็นแค่เพียงเบาบาง เพื่อหวังตรึงกำลังรัสเซียไม่ให้ยกลงใต้ไปช่วยแนวรบที่นั่น ซึ่งในความเป็นจริงกลับเป็นการรุกอย่างจริงจัง รุนแรงและทำลายล้าง ในขณะที่ฝ่ายบัญชาการของรัสเซียเองก็ย่ามใจและหลงตัวเองมากพอจนกลายเป็นความผิดพลาด

การรุกกลับของยูเครนเกิดขึ้นขณะที่รัสเซียไม่ทันระวังตัว และยังไม่มีแนวทางโต้กลับที่ชัดเจน นอกเหนือจากการถล่มที่ตั้งของพลเรือน มิเชล คอฟแมน ผู้เชี่ยวชาญทางทหารอิสระตั้งข้อสังเกตว่า การรุกครั้งนี้เกิดขึ้นในยามที่คุณภาพของทหารรัสเซียในแนวรบอ่อนด้อยลงเป็นอย่างมาก ทหารเหล่านั้นประจำการอยู่ในแนวรบนานเกินไป การเสริมกำลังหรือการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกำลังมีไม่บ่อยครั้งพอ จนก่อให้เกิดอาการล้าและระอาเกิดขึ้นตามมา

คอฟแมนเชื่อว่า รัสเซียไม่มีกำลังทหารมากเพียงพอที่จะรับศึกยืดเยื้อเช่นนี้ได้ เมื่อเผชิญกับการรุกกลับจึงตกอยู่ในสภาพที่เห็น

นักวิเคราะห์ทางทหารยังคงลังเลที่จะชี้ชัดลงไปว่า การล่าถอยของกองกำลังรัสเซียครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนที่จะพลิกโฉมหน้าของสงครามไปทางยูเครนจริงๆ หรือไม่ เพราะยังคงมีปัจจัยชี้ขาดที่ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงหลงเหลืออยู่อีกมาก

ตัวอย่างเช่น หลังจากชัยชนะในการรุกกลับครั้งนี้แล้ว ยูเครนกำหนดขั้นตอนต่อไปอย่างไร?

เปิดแนวรบใหม่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น การบุกยึดเส้นทางเชื่อมต่อทางบกระหว่างรัสเซียกับแหลมไครเมีย จากซาโปริเซียลงใต้ไปจนถึงทะเลอาซอฟ ที่วลาดิมีร์ ปูติน ต้องการอย่างยิ่งหรือไม่?

หรือจะรุกคืบในพื้นที่ดอนบาสและลูแฮนสก์ต่อไป?

กำลังพลสำรอง “พร้อมรบ” ของยูเครนมีหลงเหลืออยู่มากมายเท่าใด

และสหรัฐอเมริกากับโลกตะวันตกจะสนับสนุนอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กับยูเครนได้อีกมากน้อยเพียงใดนั่นเอง