บริษัทป๋า-ป๋า / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

บริษัทป๋า-ป๋า

 

ตอนที่ผมลาออกจากงานประจำได้ประมาณ 1 ปี

ทางผู้บริหาร “เวิร์คพอยท์” ก็ชวนไปทำรายการโทรทัศน์

ชื่อรายการเหมือนกับชื่อคอลัมน์นี้เลยครับ

“ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ”

เป็นรายการสัมภาษณ์นักธุรกิจ “ตัวจริง-เสียงจริง” ที่คุ้นเคย

ตามปกติผมก็ไปโผล่ในรายการโทรทัศน์บ้างเป็นครั้งคราว

แต่เป็นบทบาทของพิธีกรหรือแขกในรายการ

ไม่ใช่การเป็นผู้ผลิตรายการ

นั่นคือ เหตุผลที่ผมต้องก่อตั้งบริษัทขึ้นมา

เพื่อจัดการเรื่องระบบการเงินทั้งหลาย

ผมขอให้ “เปี๊ยก” เพื่อนที่เป็นนักกฎหมายช่วยจัดการจดทะเบียนบริษัท

เพื่อนถามว่าบริษัทชื่ออะไร

ผมไม่ได้คิดชื่อมาก่อน

แต่ทุกครั้งที่ถึงทางตันเรื่อง “ชื่อ”

ผมจะเริ่มต้นคิดถึงชื่อหนังสือชุด “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” เป็นลำดับแรก

34 เล่ม 34 ชื่อ

ต้องมีชื่อไหนสักชื่อที่ใช้ได้

ถ้าไม่ได้ก็ลองเอาคำในชื่อมาผสมสร้างคำใหม่ได้

ถือเป็นการละเล่นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผม

ดังนั้น พอ “เปี๊ยก” ถามเรื่องชื่อบริษัท

ผมก็นึกชื่อหนังสือไล่มาเรื่อยๆ

ตอนแรกว่าจะเอาชื่อ “การสิ้นสุดของสิ่งหนึ่ง เป็นการเริ่มต้นของสิ่งใหม่เสมอ”

แต่นอกจากชื่อจะยาวไปแล้ว

ความหมายก็คงไม่ค่อยดีนัก

เหมือนพอตั้งบริษัทปั๊บ ก็สิ้นสุดเลย

สุดท้ายผมก็เลือกชื่อ “พลิกมุมคิด ชีวิตเปลี่ยน”

แต่ตัดให้สั้นกระชับลง

เหลือแค่ “พลิกมุมคิด”

เรียบๆ พอใช้งานได้

 

บริษัทพลิกมุมคิด ตอนนี้มีอายุยาวนานพอสมควร

น่าจะ 7-8 ปีแล้ว

ทำรายการฟาสต์ฟู้ดธุรกิจได้ประมาณ 2 ปี ผมก็ขอทาง “เวิร์คพอยท์” เลิกรายการ

รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเรา

พอทำได้ แต่ไม่ค่อยมีความสุข

และรู้ว่าวิธีคิดเรื่องรายการโทรทัศน์ของผมยังคิดแบบ “หนังสือ” อยู่

ไม่ใช่การคิดแบบรายการโทรทัศน์

แม้จะเลิกรายการแล้ว แต่บริษัทพลิกมุมคิดก็ยังอยู่

เอาไว้รับงานส่วนตัวต่างๆ

การเป็นเจ้าของบริษัทมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ อะไรที่เราอยากทำ หรือคิดว่าดีก็ทำได้เลย

ไม่ต้องทำเรื่องเสนอใคร

อย่างเช่น ตอนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศให้ “ค่าครองชีพพิเศษครั้งเดียว” กับพนักงาน

เอาไว้เป็นอาวุธต่อสู้กับ “เงินเฟ้อ”

ผมชอบไอเดียนี้มาก

เมื่อ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ทำได้

“พลิกมุมคิด” ก็ต้องทำได้

คิดปั๊บ ผมก็โพสต์ลงเพจ “หนุ่มเมืองจันท์” เลย

…วันนี้ ผมเรียกพนักงานทุกคนของบริษัทประชุมด่วน

ถือเป็น Town Hall Meeting

ถามพนักงานทุกคนว่าบริษัทเราควรจ่าย “ค่าครองชีพพิเศษครั้งเดียว” ให้พนักงานแบบ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ไหม

ทุกคนพยักหน้า ไม่มีใครคัดค้าน

ผมถามว่าแบงก์ให้เท่าไร

“4,000 บาท” น้องๆ ตอบพร้อมกัน

“โอเค” ผมพยักหน้า “บริษัทเราให้มากกว่า SCB”

“เอาไปเลยทุกคน คนละ 5,000 บาท”

จบการประชุม

ผมนึกถึงคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ที่พูดถึงความแตกต่างระหว่าง “เจ้าของ” กับ “มืออาชีพ”

“มืออาชีพ” ทำอะไรต้องมีเหตุผลที่อธิบาย

แต่ “เจ้าของ” ใช้อารมณ์ได้ ไม่ต้องมีเหตุผลมากนัก

อยากจะทำอะไรก็ทำ

หลังจบการประชุม ผมถาม “รองผู้จัดการใหญ่” ที่ควบตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายบุคคล” และ “ผู้จัดการฝ่ายการตลาด” ของบริษัทว่าต้องติดประกาศในบริษัทหรือส่งเมลถึงพนักงานทุกคนไหม

น้องหันไปสบตาพนักงานขับรถของบริษัท แล้วปฏิเสธอย่างมี “เหตุผล” แบบมืออาชีพ

“คงไม่ต้องหรอกค่ะ” น้องบอก

“เพราะมีแค่ 2 คนเอง”

 

ครับ บริษัทของผมมีคนแค่นี้เองครับ

มีผม แพน และเล็ก

ตั้งใจทำเป็นบริษัทเล็กๆ ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

ออฟฟิศมีไว้เก็บของ

นานๆ จะนัดคุยงานกันที

เวลาต้องทำงานอะไรก็ “เอาต์ซอร์ส” อย่างเดียว

มีคนจ้างทำรายการ ก็จ้างทีมถ่ายทำ

ทำหนังสือตัวเองขาย ก็จ้างคนออกแบบ ทำรูปเล่ม จัดจำหน่ายหนังสือ ฯลฯ

เวลาใครถามเรื่องบริษัท ผมก็จะเล่าแบบคำใหญ่นิดนึง

“วิธีการทำงานของบริษัทผมก็เหมือนกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์”

ครับ เพราะเคล็ดลับความสำเร็จของคุณอนันต์ อัศวโภคิน คือ การเอาต์ซอร์ส

เลือกทำเฉพาะที่เป็นหัวใจของธุรกิจเท่านั้น

ที่เหลือกระจายงานให้คนอื่นรับช่วงไป

หลังจากโพสต์ข้อความตอนกลางคืน

ตอนเช้าผมค่อยไลน์ไปบอก “แพน” รองผู้จัดการใหญ่ที่ควบตำแหน่งมากมายให้ช่วยจัดการตามนโยบายที่ประกาศในเพจด้วย

“ค่าครองชีพพิเศษครั้งเดียว” จ่ายเฉพาะ “แพน” กับ “เล็ก”

ผมไม่ต้อง

เพราะเป็นถึงระดับ “กรรมการผู้จัดการ” รับ “ค่าครองชีพ” แบบนี้ไม่ได้

…เสียฟอร์ม

ถามว่าการตัดสินใจแบบนี้ได้ประโยชน์อะไร คุ้มไหม

ตอบได้เลยว่าคุ้มมาก

ลองคิดดูนะครับ

จ่ายน้องคนละ 5,000 บาท

2 คน ก็ 10,000 บาท

แต่เราสามารถคุยกับใครๆ ว่าบริษัทของเราจ่ายเงินค่าครองชีพมากกว่าธนาคารไทยพาณิชย์เสียอีก

แค่นี้ก็คุ้มแล้วครับ •