คำถามวงแตก : คุณคิดว่าระหว่างมะกัน-จีน ไทยกำลังเอียงไปข้างไหน?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

คำถามวงแตก

: คุณคิดว่าระหว่างมะกัน-จีน

ไทยกำลังเอียงไปข้างไหน?

 

ไทยวางจุดยืนของตนระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างไร?

ในวงสนทนาวันหนึ่ง นักวิชาการต่างชาติท่านหนึ่งถามผู้ร่วมสนทนาที่เป็นนักการทูต, นักวิชาการและนักธุรกิจไทยขึ้นมาว่า “ระหว่างจีนกับอเมริกา คุณคิดว่ารัฐบาลไทยเอียงข้างไหนกี่เปอร์เซ็นต์?”

คนไทยคนแรกตอบ 50-50

อีกคนบอก 60-40 เอียงข้างจีน

แต่คนต่อมายกมือบอกว่า 40-60 โน้มไปทางสหรัฐ

คนสุดท้ายตอบว่า “อยู่ที่ว่าคุณจะถามนายกฯ ประเทศไทย หรือฝ่ายค้าน หรือนักวิชาการ หรือนักการทูต…”

นักวิชาการต่างชาติคนนั้นยิ้มกว้าง “อ๋อ การทูตไทยนี่ออกได้ทุกทางเลยนะ…”

ผมเสริมว่าแม้ตั้งวงคุยกันในหมู่คนไทยกันเองก็จะได้คำตอบแบบงงๆ อย่างนี้เช่นกัน

คนไทยเองอาจจะมองเรื่องนี้ไปคนละทางสองทาง ขึ้นอยู่กับมุมมอง, ความรู้สึก และหลักวิชาการว่าด้วยภูมิรัฐศาสตร์

บางครั้งก็ตัดสินด้วยความชอบหรือไม่ชอบทิศทางการเมืองของรัฐบาลและโยงไปถึงตัวผู้นำจีนและสหรัฐไปอีกด้วย

แต่หากมองจากข้างนอก คนที่เขาติดตามความเคลื่อนไหว, ลีลาและท่าทีของไทยในการรักษาความสัมพันธ์กับสองยักษ์ใหญ่นี้ก็น่าสนใจว่าเขานับเอาปัจจัยและการเดินเกมทางการทูต, การเมืองและเศรษฐกิจของไทยมาพิจารณาอะไรบ้าง

ผมเคยถามนักการทูตทั้งฝั่งสหรัฐและจีนว่าไทยจะทำอย่างไรเมื่อถูกมหาอำนาจทั้งสองฝั่งกดดันให้ถือหางข้างตน

นักการทูตมืออาชีพทั้งสองฝั่งตอบเหมือนกันโดยไม่ต้องนัดหมายว่า

“เราไม่กดดันบังคับให้ประเทศไทยต้องมาอยู่ข้างเราหรอก ขอเพียงให้ตัดสินนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยก็พอ…”

ความหมายที่ซ่อนอยู่ก็คงจะเป็นว่า ถ้าถามเขาว่าแล้วประโยชน์ของไทยอยู่ตรงไหน

จีนและสหรัฐก็จะตอบตรงกันว่า “ก็อยู่ข้างเราซิ” (ฮา)

แต่ถ้าสังเกตความเคลื่อนไหวของสองยักษ์ต่อประเทศไทยก็มีประเด็นที่น่าวิเคราะห์ในภาพกว้างเช่นกัน

อยู่ดีๆ ในช่วงหลังนี้ วอชิงตันก็ดูเหมือนจะพยายามแสดงความใส่ใจไทยเป็นพิเศษหลังจากที่มีเสียงบ่นจากบางฝ่ายของไทยว่าอเมริกาเมินไทยแล้วหรือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากวอชิงตันมักบินข้ามหัวกรุงเทพฯ ไปเยือนเพื่อนบ้านเราแทน

เช่น Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศมาไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม หนึ่งเดือนหลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม Lloyd Austin หยุดที่กรุงเทพฯ

บลิงเคนไม่เพียงแต่มาเยี่ยมเฉยๆ แต่ยังร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับไทยด้วย

ก่อนหน้านี้ออสตินก็ยืนยันจะเพิ่มระดับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับไทยอีกด้านหนึ่ง

หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่วอชิงตันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน

หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน ไทยได้เข้าร่วมกับอีก 13 ประเทศลงนามในกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้าที่หลากหลาย

อีกด้านหนึ่งบลิงเคนและรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็เซ็นแถลงการณ์สหรัฐ-ไทยว่าด้วยพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และหุ้นส่วน

ว่ากันว่าเป็นความพยายาม “อย่างครอบคลุม” ครั้งแรกในการขยายขอบเขตของแถลงการณ์ถนัด-รัสค์ ของปี พ.ศ.2505 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐให้คำมั่นที่จะสนับสนุนไทยในการต่อต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในภาวะสงครามเย็น

ตอนนั้นเราอยู่คนละข้างกับจีน

ทางด้านความมั่นคงรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐออสตินได้แสดงความปรารถนาที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังไทยและสหรัฐ และสนับสนุนในการปรับปรุงกองทัพไทยให้ทันสมัย

และทั้งสองประเทศตกลงที่จะร่วมมือกันด้านอวกาศและไซเบอร์ในการฝึกซ้อมทวิภาคี เช่น Cobra Gold ต่อไปอีก

และต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยก็พยายามจะบอกกล่าวให้ทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศอเมริการู้ว่าเราอยากให้โจ ไบเดน จะเยือนในเดือนพฤศจิกายนเมื่อไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ด้วย

นี่คือการฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับวอชิงตันหลัง “ช่วงตกต่ำ” นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557

ตอนนั้น อเมริกาหันไปให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์

เพราะสองประเทศนี้อยู่แถวหน้าของการเผชิญหน้ากับจีนกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้

เป็นจังหวะเวลาที่รัฐบาลไทยภายใต้ คสช. ขยับตัวเข้าใกล้จีนมากขึ้น

เพราะปักกิ่งไม่แสดงความรังเกียจเรื่องรัฐประหาร อ้างว่าเป็น “เรื่องภายใน” ของไทย

จีนต้องการจะแสดงความเป็นมิตรกับไทยในขณะที่สหรัฐกลับมาแสดงความคึกคักในกรุงเทพฯ อีกรอบ

เราจึงเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ มาเยือนกรุงเทพฯ ระหว่างการเยือนออสตินและบลิงเคน

เพราะเป็นโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ “เชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ระหว่างกรุงเทพฯ และปักกิ่ง

จากนั้นในกลางเดือนสิงหาคมก็มีการซ้อมรบกับจีนในไทย

ปักกิ่งส่งเครื่องบินขับไล่ไอพ่นมาไทยเพื่อร่วมซ้อมรบ Falcon Strike ครั้งที่ 5 ที่ฐานทัพทหารในเมืองอุดร เป็นฐานทัพที่อเมริกาเคยใช้ในช่วงสงครามเวียดนาม

 

นักวิเคราะห์ที่ติดตามเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีนไม่ลืมที่จะกล่าวถึงอุปสรรคระหว่างสองประเทศเช่นกัน

เช่น กรณีรัฐบาลไทยว่าด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนเสนอผ่านแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิชาการและคนในคณะรัฐมนตรีบางส่วนไม่เชื่อว่าโครงการรถไฟจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก

เป็นที่มาของการตัดสินใจของรัฐบาลประยุทธ์ที่จะสร้างรางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปโคราชด้วยงบประมาณตนเองโดยหวังจะเจรจาต่อรองกับจีนสำหรับโครงการที่ใหญ่กว่าในวันข้างหน้า

เรื่องแม่น้ำโขงก็เป็นอีกรอยแผลของความสัมพันธ์

กลุ่มนักเคลื่อนไหวไทยกล่าวหาว่าก่อนหน้านี้เกือบไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ เลยเมื่อที่กักเก็บน้ำหลังเขื่อน 11 แห่งในแม่น้ำโขงตอนบนของจีนในฤดูฝนปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง

ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมสลับกันไปสำหรับเกษตรกรที่ปลายน้ำ

ต่อมาจีนก็เข้ามาพูดจากับหลายประเทศในลุ่มน้ำโขงเพื่อเคลียร์ประเด็นนี้

อีกหัวข้อที่สร้างความกระอักกระอ่วนก็น่าจะเป็นเรื่องข้อตกลงเรื่องเรือดำน้ำ เมื่อปักกิ่งแจ้งไทยว่า เยอรมนี ภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ปฏิเสธที่จะขายเครื่องยนต์ที่สัญญาไว้ในข้อตกลงเดิมกับจีน

ทำให้เกิดคำถามจากคนไทยในหลายวงการว่าจีนจะลบความกังขาเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

ในอีกแง่หนึ่งจีนยังคงเป็นหุ้นส่วนการค้ากับไทยที่ใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าการค้าระหว่างสหรัฐ-ไทยจะดีขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การลงทุนของบริษัทสหรัฐในประเทศไทยยังสูงกว่าจีนในบางด้าน

แต่ Huawei ยังคงเป็นผู้เล่นหลักในการสร้างเครือข่าย 5G ในไทย

ต้องไม่ลืมว่าไทยกำลังมองหาโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดจีนได้ง่ายขึ้นผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement) หรือ RCEP ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคาที่ผ่านมา

แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่สหรัฐเชิญไปร่วมในกลไกเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)

แต่ก็ยังเป็นของใหม่ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับไทยมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น ถ้ามีวงสนทนาใดตั้งคำถามเรื่องไทยเอียงข้างไหนระหว่างสองมหาอำนาจมากกว่ากัน คำตอบก็คงจะเป็นว่า

อยู่ที่ว่าคุณตั้งคำถามนี้กับใคร?