มะเขือพวง น่าปลูก น่าใช้ สมุนไพรประจำบ้าน (1) / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

มะเขือพวง น่าปลูก น่าใช้

สมุนไพรประจำบ้าน (1)

 

มะเขือพวง ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่นำมาปลูกในดินแดนสยามจนกลายเป็นพืชประกอบอาหารหรือปรุงแต่งในอาหารในประเทศมาอย่างยาวนาน

ใครๆ นึกว่าเป็นไม้พื้นเมืองของเราถึงกับมีชื่อเรียกท้องถิ่นต่างๆ กันไป เช่น มะเขือพวง (ภาคกลาง) มะเขือละคร (โคราช) มะแค้วงกูลัว มะแคว้งกูลา (ภาคเหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะแว้ง มะแว้งช้าง (ภาคใต้) รับจงกลม (เขมร-นครราชสีมา)

ชื่อสามัญว่า Davil’s fig, Pea aubergine, Prickly nightshade, Turkey berry มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solanum torvum Sw.

ในทางวิชาการบอกว่า มะเขือพวง มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่เขตฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก จนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล

เป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วไปในเขตร้อน ปัจจุบันพบในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกไกลถึงมลรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา

แต่ด้วยการเดินทางค้าขายจึงนำเอามะเขือพวงมาเพาะปลูกเพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารทั้งในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก

 

ใครที่เคยปลูกมะเขือพวง ย่อมรู้ดีว่าเป็นไม้ล้มลุกแต่อายุได้ข้ามปี ต้นสูงได้ 1-4 เมตร ถ้าเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจะมีหนามจำนวนมากตามลำต้นและกิ่ง

แต่ที่นิยมปลูกในปัจจุบันได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ไม่มีหนามหรือมีหนามน้อยแล้ว

ใบมะเขือพวงออกตรงข้ามกันบนกิ่ง ใบมีรูปไข่ แผ่นใบกว้าง และเรียบ

ดอกมะเขือพวง แทงออกเป็นดอกช่อ ดอกมีรูปกรวยแตร กลีบดอกสีขาวหรือม่วง 5 กลีบ และเกสรมีสีเหลือง

ผลมะเขือพวงออกเป็นผลแบบเบอร์รี่ (มีหลายผลในก้านผลเดียว) แต่ละช่อผลมีผลประมาณ 2-10 ผล ผลมีขนาดเล็กและกลมประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวมีรสขม ผลเริ่มสุกมีรสฝื่น เปรี้ยว เปลือกผลดิบค่อนข้างหนาและเหนียว

แต่เมื่อสุก ความหนาของเปลือกจะบางลง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก 300-400 เมล็ด

การใช้ประโยชน์จากมะเขือพวงนั้นเรามักนำมาประกอบอาหาร ตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาก่อนการปรุงอาหารจะทำให้ผลมะเขือพวงแตกออกโดยการบุบหรือผ่าครึ่งก่อน

เพราะเชื่อว่าจะทำลายความขมจากยางที่อยู่ในผลมะเขือพวงได้

สําหรับการใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรในไทย กล่าวไว้ว่า

ใบ ใช้ห้ามโลหิต แก้ฝีปวดบวมมีหนอง

ผล แก้ไอ ขับเสมหะ

หรือใช้ เมล็ด ในผล นำมาเผาไฟแล้วสูดดมเอาควัน แก้อาการปวดฟันได้ แก้คอแห้ง บำรุงเลือด เข้ายาแก้ซางเด็ก อาการโตช้า โดยต้มดื่ม หรืออาบ ในภาคเหนือตอนบนใช้ผลเป็นยาแก้ปวดเมื่อย และใช้เป็นยารักษาโรคสัตว์ บีบน้ำจากผลมะเขือพวงบีบใส่ตาไก่แก้อาการเจ็บตา

เมื่อสำรวจความรู้นานาชาติ พบว่าทางการแพทย์ดั้งเดิมของหลายประเทศ มีการใช้ส่วนของผลมะเขือพวงในการต้านเชื้อจุลินทรีย์

ในตำรับยาพื้นบ้าน มีการใช้น้ำคั้นจากต้น ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ไอ หอบหืด รักษาอาการเจ็บหน้าอก เจ็บคอ ไขข้ออักเสบ ท้องมาน ปวดท้องและโรคหนองใน

น้ำคั้นจากดอก ผสมเกลือเล็กน้อยใช้หยอดตา แก้เจ็บตา

ใบ มีฤทธิ์ต้านจุลชีพและขับปัสสาวะ ใบแห้งนำมาชงใช้รักษาการติดเชื้อราในปากหรือช่องคลอด ใบแห้งบดเป็นผงชงกินเพื่อลดน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ใบนำมาขยี้ใช้ใส่บาดแผลและรักษาโรคผิวหนัง

น้ำเชื่อม (syrup) ที่เตรียมได้จากใบและดอก ใช้เป็นยาแก้หวัด ใบและผลนำมาทำเป็นยาแช่ใช้รักษาคุดทะราดและแผลพุพอง

ผล ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้รักษาไข้มาลาเรีย ปวดท้อง และความผิดปกติของม้าม นอกจากนี้ ผลยังใช้เป็นยาต้มให้กับเด็กเพื่อรักษาอาการไอ

ผลอ่อน ใช้บำรุงสายตา

นำ ผลสด ที่แก่แล้วมาตำพอกที่หน้าผากเพื่อรักษาอาการปวดหัว น้ำคั้นจากผลใช้แก้อาการระคายเคืองจากการถูกมดกัด

ราก เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ปวด ฟกช้ำ ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี รากนำมาต้มผสมน้ำมะนาวดื่มรักษาไข้มาลาเรีย

น้ำคั้นจากรากใช้ดื่มแก้การอาเจียนและช่วยทำให้หายจากอาการอ่อนเพลีย นำรากมาทุบให้แหลกแล้วนำไปใส่บริเวณที่ฟันผุจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้

 

ในประเทศมาเลเซียจะใช้รากเป็นยาพอกสำหรับรอยแตกที่เท้า

และนำเมล็ดไปรมควันแก้อาการปวดฟัน

ในประเทศจีน เชื่อกันว่ารากจะช่วยกระจายเลือดที่เกิดจากการฟกช้ำและทำให้บรรเทาอาการปวด

และในตำรับยาจีนมีการระบุว่ามีการใช้ผลเป็นยาที่ช่วยพัฒนาให้สายตาดีขึ้นและใช้รักษาโรคผิวหนัง

ในประเทศอินเดียมีการใช้หลากหลาย ในระดับอุตสาหกรรมมีการสกัดไกลคอลคาลอยด์ โซลาโซดีน (glycoalkaloid solasodine) จากในใบและผลมะเขือพวงเพื่อใช้ในการผลิตฮอร์โมนเพศสเตียรอยด์ (steroidal sex hormones) สำหรับเป็นยาคุมกำเนิด

ในอินเดียยังใช้สารสกัดจากต้นมะเขือพวงเป็นยาแก้แมลงกัดต่อย และกินเป็นผลไม้แก้ปวดท้อง

และภูมิปัญญาของชาวเมืองปุฑุเจรี กาไรกัล (Puducherry Karaikal) เกาะมาเฮ (Mahe) และเมืองยานม (Yanam) ของอินเดีย มีการนำมะเขือพวงใช้บรรเทาอาการหวัด โดยนำใบแห้ง (ผึ่งลม ในร่ม) บดให้เป็นผงผสมกับน้ำร้อนหรือน้ำนม

ชนเผ่าคุริจิยะ ในอำเภอแคนนู (Kannur district) ใช้รักษาเท้าแตกโดยนำรากมาสกัดให้ได้ผง แล้วนำมาทาตามรอยแตกของเท้า ใช้รักษาอาการไอโดยนำผลมาทอดกิน ชนเผ่าติรุเนลเวลีในทามิล นาดูล ในอินเดียใช้ผลนำมาต้มขับพยาธิ คนในกัญจิปุรัมย์ (Kancheepuram) ในอินเดียใช้ลดความร้อนในร่างกายโดยนำใบมาคั้นเอาน้ำดื่ม

ชาวกาโรในบังกลาเทศใช้น้ำคั้นจากรากและใบรักษาอาการหอบหืด ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลใช้น้ำคั้นจากรากเป็นยารักษาโรคตับ วัณโรคและใช้เป็นยาบำรุงเลือด (ต้านภาวะเลือดจาง)

และในประเทศเม็กซิโกใช้น้ำคั้นจากผลเป็นยาเบื่อหนู

ในอินโดนีเซียใช้ทุกส่วนของพืชมาสับแช่น้ำ นำมารดพืชเพื่อป้องกันทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ มะเขือพวง คือพืชหรือสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมายจริงๆ •