‘ความผิดพลาด’ ของผู้นำประเทศ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ความผิดพลาด’ ของผู้นำประเทศ

 

เพิ่งดูคลิปวิดีโอที่ทีมข่าว “มติชนทีวี” ไปสัมภาษณ์พิเศษ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน

รู้สึกสนใจกับประเด็นสนทนาปิดท้าย ที่พิธีกรตั้งคำถามถึงอภิสิทธิ์ว่า อะไรคือ “จุดผิดพลาดที่สุด” ในเส้นทางการเมืองของเขา?

อภิสิทธิ์ตอบว่ามีสองเรื่องสำคัญที่ถือเป็นจุดผิดพลาดที่สุด

เรื่องแรก ช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เกิดเหตุการณ์สูญเสียในการชุมนุม ซึ่งตนเอง “เสียใจ” กับเรื่องดังกล่าว

แต่อีกด้าน อภิสิทธิ์ก็ยืนกรานว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น “ไม่ได้เป็นความตั้งใจของเขา” และยืนยันว่าเขาได้ผ่านการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และศาลมาเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขา (อธิบายซ้ำว่า) รู้สึก “เสียใจ” ที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ตนเองเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่อยากให้มันเกิด และ “พยายามคิดอยู่ตลอดเวลา ว่าเราจะทำอย่างอื่นได้ไหม?”

เรื่องที่สอง อภิสิทธิ์เสียใจ ที่ไม่สามารถโน้มน้าวกลุ่มคนที่เคยสนับสนุนเขา/ประชาธิปัตย์ และเคยร่วมต่อสู้กับ “ฝั่งทักษิณ” มาด้วยกัน ให้เข้าใจได้ว่า “เราไม่ได้ต่อสู้กับตัวบุคคล (แต่) เราต่อสู้กับการกระทำ (บางอย่าง)”

เขายอมรับว่าความล้มเหลวตรงจุดนั้น ได้นำมาสู่สภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน

“คนที่เคยต่อสู้มากับความไม่ถูกต้องในสมัยคุณทักษิณ ก็คิดว่ามันสำคัญกว่าที่จะต่อสู้กับคุณทักษิณ แทนที่จะต่อสู้กับสิ่งที่คุณทักษิณเคยทำ และบัดนี้ คนที่เขาสนับสนุนเองก็ทำ” อดีตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

 

แม้พิธีกรสองคนที่สัมภาษณ์อภิสิทธิ์ จะทำหน้าที่ประหนึ่งทนายหรืออัยการ ที่คงไม่สามารถตัดสิน/พิพากษาชี้ถูกผิด หลังรับฟังคำให้การของอดีตนายกรัฐมนตรี

ทว่า ประชาชน ผู้ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์พิเศษอยู่หน้าจอประเภทต่างๆ สามารถปฏิบัติตนเสมือนเป็นลูกขุนของศาลขนาดใหญ่ และร่วมประเมินคำตอบข้างต้นได้

ในฐานะประชาชน/ลูกขุนคนหนึ่ง รู้สึกว่าคำตอบในประเด็นข้อผิดพลาดที่สองของอภิสิทธิ์นั้น ฉายภาพของสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีระดับหนึ่ง และน่ารับฟังอยู่

ส่วนหนึ่งคงเพราะ “ปีศาจตัวใหม่” ที่ปรากฏกายขึ้นในคำตอบส่วนนี้ ไม่ใช่ทั้งตัวเขาเอง และไม่ใช่ “เชื้อโรคสามัญประจำบ้านดั้งเดิม” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร”

แต่เป็นปัญหาใหม่-ปัญหาใหญ่ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ที่ทุกคนล้วนทราบกันดีและมองเห็นตรงกันว่า “จะปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว อดทนไม่ไหวแล้ว”

อย่างไรก็ดี สำหรับคำตอบส่วนแรก ที่อดีตนายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงปี 2553 นั้นต้องวิจารณ์กันตรงๆ ว่า แค่คำ “เสียใจ” ที่ถูกเอ่ยออกมา ยัง “ไม่น่าพึงพอใจ” นัก

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ยังมุ่งมั่นยืนยันว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะก่อให้เกิดความสูญเสีย รวมทั้งยืนกรานเรื่องความบริสุทธิ์และข้อจำกัดทางการเมืองของตนเอง

แต่กลับไม่ยอมพูดตรงๆ เลยว่า มี “ประชาชนคนอื่นๆ” ต้อง “ล้มตาย” ลงไปมากเท่าไหร่ เพราะกำลังอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ และความผิดพลาดของอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง

รวมทั้งไม่กล้ากล่าวถึงความอยุติธรรมที่ “เหยื่อ” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นต้องแบกรับมาถึงทุกวันนี้

ขณะที่อภิสิทธิ์มองว่าผลลัพธ์ของความผิดพลาดข้อสอง คือ มรดกบาปที่ยังหลงเหลือค้างคาอยู่ในปัจจุบัน

ผมกลับเห็นว่าบาดแผลจากความผิดพลาดข้อแรก ก็ส่งผลกระทบกระเทือนใหญ่หลวงต่อสถานภาพของอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต่างกัน และกลายเป็นเพดานที่ทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่ชนะเลือกตั้งไม่ได้อีกแล้ว

 

เอาเข้าจริง ยังอยากฟังผู้นำและอดีตผู้นำไทยอีกหลายคน มาตอบคำถามข้อนี้เฉกเช่นเดียวกันกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” (ไม่ว่าจะหมดวาระในเร็ววันนี้ หรือในอีกไม่กี่เดือนกี่ปีข้างหน้า) ก็สมควรจะต้องมีโอกาสเผชิญหน้ากับคำถามแบบเดียวกัน

เพราะอยากทราบว่า พวกเขาเหล่านั้นมีความกล้าหาญมากพอที่จะเอ่ยถึง “ข้อผิดพลาดทางการเมือง” ของตนเอง อย่างตรงไปตรงมามากน้อยแค่ไหน? •