ย้อนปม ส.ต.ท.หญิงโหด ทารุณทหารรับใช้ สัมพันธ์ “สว.ธานี” สุดท้าย “วุฒิสภา”​มีมติ ไม่ผิดจริยธรรม

เรื่องราวโด่งดังขึ้นมา เมื่อมีผู้เสียหายไปแจ้งความที่ สภ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และที่ สภ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ดำเนินคดีกับ “น้องชายนักการเมืองท้องถิ่น” ซึ่งเป็นแฟนหนุ่มของ “ส.ต.ท. หญิง” ที่ร่วมทำร้ายร่างกาย

สืบไปสืบมา สิบตำรวจโทหญิง ผู้นี้ มีเรื่องให้สงสัยหลายประเด็น

ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับราชการทั้งที่อายุเกินเกณฑ์ การฝากเด็กรับใช้เข้าไปเป็นทหาร และกลับมาเป็นทหารรับใช้ที่บ้านพักได้อีกคำรบ

แถมยังมีชื่อช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับอายุราชการทวีคูณ รับเบี้ยเสี่ยงภัย โดยที่ไม่ปรากฏว่าได้ไปทำงานจริง

รวมทั้งมีความสามารถโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการของ กมธ.ตั้งแต่ยุค สนช.จนถึงวุฒิสภา

จนกระทั่งเรื่องแดงกลายเป็นคดีโทษหนักอย่างค้ามนุษย์ และถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว

ตลอดจนการเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์พิเศษกับวุฒิสมาชิกท่านหนึ่ง จนเกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความวีไอพีทั้งหมดทั้งมวล

ในที่สุด ส.ว.คนดังกล่าวก็ปรากฏตัว พร้อมร่อนเอกสารชี้แจงยอมรับมีความสัมพันธ์กันจริง แต่ได้เลิกรากันไปนานแล้ว

ยืนยันไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือเจือจุนใดๆ พร้อมเข้าสู่กระบวนการ

เป็นเรื่องที่สังคมติดตามอย่างต่อเนื่องจริงๆ ว่าระบบอุปถัมภ์ในประเทศนี้ยังมีอยู่หรือไม่ อย่างไร!!!

สิบตำรวจโท

หาตัว ส.ว.เอี่ยวสิบตำรวจโท

จากกรณีเรื่องอื้อฉาว ที่ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีทำร้ายร่างกาย ทรมาน ส.ท.หญิง “เอ” ทหารรับใช้ ที่อ้างว่าฝากเข้ารับราชการทหารได้ จนกระทั่งเข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองราชบุรี พร้อมพกใบรับรองแพทย์อ้างว่ามีอาการทางจิต ควบคุมตัวเองไม่ได้มาแสดง

ขณะที่ตำรวจแจ้งข้อหาความผิด เป็นข้าราชการแสวงหาประโยชน์ บังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยการข่มขืนใจ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้น หรือผู้อื่น โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล และใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อย ทางร่างกาย จิตใจ ความผิด ตาม พ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, มาตรา 6/1, มาตรา 13 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ก่อนที่จะถูกฝากขังศาลจังหวัดราชบุรี และศาลไม่ให้ประกันไปก่อนหน้านี้

แต่เรื่องราวก็ยังไม่ได้ยุติลง เพราะยังคงมีปมประเด็นที่เป็นข้อสงสัยอีกมาก ไม่ว่าการเข้ารับราชการตำรวจในวัย 39 ปี ทั้งที่ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุไว้ว่าต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี

แม้รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกมาชี้แจงว่าสามารถผ่อนปรนได้ในสาขางานที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งพบว่า ส.ต.ท.กรศศิร์ นั้นใช้วุฒิ ปวส.ด้านบัญชีเข้าสมัครรับราชการ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง

ซึ่งก็ยังมีข้อสงสัยต่อมาอีกมาก ไม่ว่าหากเป็นผู้มีความสามารถด้านบัญชีขนาดที่ต้องยกเว้นหลักเกณฑ์ให้ แล้วทำไมถึงให้โอนย้ายไปอยู่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

รวมทั้งให้ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยระบุว่าเป็นการทำงานด้านการข่าว

แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อราชการตำรวจมากน้อยเพียงใด

ไม่เพียงแค่นั้น ยังลามไปถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นถึงวุฒิสภา ว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดนั้นเป็นใครกันแน่

จนกระทั่งมีคนตาดีไปเห็นป้ายทำบุญร่วมกันที่ศาลาดำรงค์สกุล ภายในวัดบางลี่เจริญธรรม อ.เมือง จ.ราชบุรี ระบุชื่อของ ส.ต.ท.กรศศิร์ และ ส.ว.รายหนึ่ง ในฐานะผู้ร่วมบริจาคเงิน 120,000 บาท สมทบทุนสร้างศาลาอเนกประสงค์

กลายเป็นคำถามสงสัยว่า ส.ว.คนนี้หรือไม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง!??

สว.ธานี

‘ธานี’ เปิดตัวพร้อมให้พิสูจน์

หลังจากป้ายชื่อทำบุญร่วมกันถูกแชร์ไปว่อนโลกออนไลน์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ ส.ต.ท.หญิงร่วม 2 สัปดาห์ นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว.ก็ออกเอกสารแจง ระบุ 5 ประเด็นหลักประกอบด้วย

1.ผม นายธานี อ่อนละเอียด ประกอบอาชีพทนายความตั้งแต่ พ.ศ.2521 สถานะโสด โดยได้หย่าร้างมาเป็นเวลาเกือบสามสิบปีแล้ว

2. ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมีการทําร้ายร่างกายกันของผู้หญิงสองคน โดยได้มีการดําเนินคดีกันที่ศาลจัดหวัดราชบุรี ข่าวดังกล่าวเป็นข้อพิพาทของบุคคลสองคน ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจต่อการกระทําดังกล่าว

3. ผมเคยรู้จัก และเคยสนิทสนมกับตํารวจหญิงตามที่เป็นข่าว แต่ได้ขาดการติดต่อกันมานานแล้ว ผมเพิ่งทราบจากสื่อว่าปัจจุบันตํารวจหญิงได้คบหากับชายที่ปรากฏในข่าว ดังนั้น การเสนอข่าวใดๆ สื่อควรจะคํานึงถึงสิทธิ เสรีภาพของสตรี และควรคํานึงถึงเส้นแบ่งไม่เข้าไปก้าวล่วงในเรื่องส่วนตัวของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

4. ผลที่เกิดขึ้นจากการนําเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่างๆ และคํากล่าวอ้างที่หาว่าผมใช้ตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายสถาบันหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันวุฒิสภา คงต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบจริยธรรมของวุฒิสภาและคณะกรรมการ ป.ป.ช ดําเนินการไปตามอํานาจหน้าที่

ผมพร้อมแสดงข้อเท็จจริงต่อกระบวนการในการตรวจสอบ และหากคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมของทั้งสองหน่วยงานได้มีมติเป็นประการใด ผมก็พร้อมน้อมรับกับการคําวินิจฉัยนั้น ซึ่งสื่อมวลชนต่างๆ ก็คงจะได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและผลการวินิจฉัย และกระบวนการสอบสวนเช่นนี้ใช้ระยะเวลาไม่นาน

5. ผมไม่ได้ใช้ตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบตามข้อกล่าวหา หน่วยงานดังกล่าวล้วนแต่มีระเบียบ ข้อบังคับในการแต่งตั้ง โยกย้าย

ในขณะที่เอกสารชี้แจงของนายธานีออกมา ก็มีการขุดคุ้ยและเปิดเผยเอกสารราชการอีกหลายชิ้น อาทิ เอกสารตั้งแต่ ส.ต.ท.กรศศิร์เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 และเอกสารของ กมธ.ตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ถึง ผบ.ทหารสูงสุด ขอตัวสิบโทเอ ที่เป็นทหารรับใช้มาช่วยราชการที่ กมธ. ทั้ง 2 ฉบับลงนามโดย พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เป็นเรื่องที่รอผลการตรวจสอบเช่นกัน

กมธ.สภาแถลงสอบ

กมธ.สภาเร่งตรวจ-ป้อมไฟเขียว

ขณะที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงการสอบสวนคดีดังกล่าว ระบุว่า ประธาน กมธ.กำชับให้ทำเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และไม่ให้ทำเฉพาะคดีทำร้ายร่างกาย แต่ให้ทำไปถึงโครงสร้างของตำรวจและทหาร

ซึ่งจะตรวจสอบว่ากระบวนการรับบุคคลเข้ารับราชการตำรวจนั้นเป็นไปโดยชอบหรือไม่ เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการยกเว้นเกณฑ์การบรรจุแต่งตั้ง ที่จะต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อ้างว่าวุฒิ ปวส.ด้านบัญชีเป็นคุณวุฒิที่ขาดแคลน

และได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมามีการให้การจากผู้เสียหายในคดีทำร้ายร่างกายว่า ส.ต.ท.ท่านนี้พักอาศัยอยู่ที่ จ.ราชบุรีตลอดไม่ได้ไปปฏิบัติราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ยังมีชื่อช่วยราชการและได้สิทธิต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย อายุราชการที่ทวีคูณ

พร้อมตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้คือ “บัญชีผี” หรือตัวบุคคลที่ไม่ได้ปฏิบัติราชการจริง แต่มีชื่อรับราชการ รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อยู่หรือไม่ และจากกรณีนี้ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ส.ว.ที่หลายท่านมีผู้ช่วย ผู้ประสานงานเป็นตำรวจและทหาร จะรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับข้อสงสัย บัญชีผีเหล่านี้หรือไม่

เพื่อให้ความกระจ่างแก่สังคม กมธ.มีมติเชิญ 1.นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. 2.พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. ในฐานะอดีตประธาน กมธ.การกฎหมาย สนช.ที่ลงชื่อแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นที่ปรึกษา กมธ.การกฎหมาย สนช. และ 3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต กมธ.การกฎหมาย สนช. มาชี้แจงเนื่องจากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

เช่นเดียวกับ กมธ.ทหาร ที่สอบสวนเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน พร้อมมีหนังสือขอเอกสารแต่งตั้ง ส.ต.ท.กรศศิร์ และสิบโทเอ และหนังสือช่วยราชการจากกองทัพมาสอบสวน

ด้าน พล.อ.ประวิตรในฐานะรักษาการนายกฯ ก็ไฟเขียวเต็มที่ ระบุว่า “เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลก็ว่าไป ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไปเต็มที่”

เท่ากับว่ากระบวนการตรวจสอบเริ่มแล้ว และต้องรอผลสรุปว่าเป็นอย่างไร!?

 

บทสรุป มติวุฒิสภาชี้
ไม่ผิดจริยธรรม

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระการพิจารณารายงานผลการพิจารณา เรื่องร้องเรียนจริยธรรมสมาชิกวุฒิสภา ของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ที่ดำเนินการตรวจสอบการร้องเรียน นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. กรณีมีส่วนรู้เห็นสนับสนุนให้อดีตตำรวจหญิงที่เป็นคนสนิทกระทำการทารุณทหารหญิงรับใช้หรือไม่ และมีการใช้อำนาจหน้าที่ ส.ว.ฝากบุคคลเข้ารับราชการตำรวจหรือทหารหรือไม่ อันเข้าข่ายความผิดทางจริยธรรมของ ส.ว. ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานได้พิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวเสร็จแล้ว จึงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา โดยให้เป็นการประชุมลับ และเชิญผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม

ภายหลังการประชุมลับนานกว่า 2 ชั่วโมง นายพรเพชรได้แจ้งว่า ขอให้ที่ประชุมลงคะแนนลับว่าจะเห็นชอบกับความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา ที่เสนอมาให้เพียง “ว่ากล่าวตักเตือน” หากที่ประชุมจะเห็นชอบกับมติของคณะกรรมการจริยธรรม ต้องใช้เกณฑ์มีคะแนนเกินครึ่ง 125 เสียงขึ้นไป ก็ถือว่าให้ว่ากล่าวตักเตือน

ขณะที่ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา กล่าวชี้แจงเสริมว่า หากที่ประชุมเห็นชอบกับความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรมที่เสนอให้ว่ากล่าวตักเตือน ก็เพียงแค่ต่อไปขอให้ระมัดระวังในการแต่งตั้งบุคคลมาช่วยราชการ อย่าให้เสียเกียรติยศศักดิ์ศรี แต่ถ้าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรม โดยมีเสียงไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการจริยธรรมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ถือว่า ไม่มีความผิด หมายความว่า ในกรณีนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะถือว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่วมกัน และในที่ประชุมเราคุยกันว่า หากมีการตักเตือนจะเอาข้อสรุปของคณะกรรมการจริยธรรมให้ประธานวุฒิสภาลงนามถึงคนที่ถูกกล่าวหาเป็นการส่วนตัว เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในที่ประชุมวุฒิสภาด้วย

จากนั้น ที่ประชุมให้ ส.ว.มาลงคะแนนลับจะเห็นชอบหรือไม่กับข้อเสนอของคณะกรรมการจริยธรรมที่ให้ว่ากล่าวตักเตือนนายธานีเท่านั้น ผลปรากฏว่า มีคะแนนเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรม ที่ให้ว่ากล่าวตักเตือน 103 คะแนน ไม่เห็นด้วย 33 คะแนน ไม่ออกเสียง 33 คะแนน ถือว่า นายธานี มิได้กระทำการในลักษณะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย จะมีการกระทำอันเป็นการเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์การเป็น ส.ว. เนื่องจากคะแนนเสียงที่เห็นชอบกับความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรมไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่คือ ไม่ถึง 125 คะแนน ก่อนที่ นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม จะสั่งปิดประชุมในเวลา 15.09 น.